รัฐบาลเฉพาะกาล... ถึง 4 รัฐมนตรี

รัฐบาลเฉพาะกาล...  ถึง 4 รัฐมนตรี

จากประเด็นเรียกร้อง “รัฐบาลเฉพาะกาล” ที่ “บิ๊กจิ๋ว” จุดพลุขึ้นมา ตามมาด้วยประเด็นถามหาสปิริตของ 4 รัฐมนตรีที่ไปเปิดตัวร่วมงาน

กับพรรคพลังประชารัฐ แท้ที่จริงแล้วความเคลื่อนไหวเล่านี้เป็นเส้นเรื่องเดียวกัน

คือ “เส้นเรื่อง ว่าด้วยการลดความเสียเปรียบต่อ คสช.ในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง

อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนว่าแม้จะมี เลือกตั้งใหญ่” ในปีหน้าค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่การมี รัฐบาลใหม่ หลังเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหาก ผู้ชนะ ไม่ใช่ คสช. และชื่อบนสกอร์บอร์ดนายกฯคนใหม่ ไม่ได้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะ คสช.ยังมี ไพ่ในมือ ให้เล่นอีกหลายใบ โดยเฉพาะเมื่อ กกต.เป็นแค่ลูกไก่ในกำมือ อย่างเช่น การยื้อประกาศผลเลือกตั้งไปเรื่อยๆ หรือการแจกใบเหลือง-ใบส้ม ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนเสียงที่นำไปคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย

แต่ความได้เปรียบไม่ได้มีแค่นี้ เพราะ คสช.ยังมี ม.44” ที่ประกาศใช้เมื่อไรก็ได้ เรื่องอะไรก็ได้ (รวมทั้งปลด กกต. ยุบสภา หรือสั่งเลือกตั้งใหม่) จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ

ขณะที่สถานะของรัฐบาล คสช.หลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งก็ไม่ใช่ รัฐบาลรักษาการ ด้วย จึงยังมีอำนาจเต็มร้อยในการโยกย้ายข้าราชการ อนุมัติโครงการขนาดใหญ่ และใช้งบประมาณโดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วนได้ตลอดเวลา

นี่คือสาเหตุที่ต้องเรียกร้อง รัฐบาลเฉพาะกาล เข้ามาคั่นเวลา เพื่อหยุดความได้เปรียบของ คสช.

และนี่คือสาเหตุที่ต้องถามหาสปิริตของ “4 รมต. เพราะหากใครเกิดผิวบางไขก๊อกขึ้นมา แรงกระเพื่อมจะแคนนอนไปถึง “บิ๊กตู่” ช่วงที่ได้รับเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐเป็น ว่าที่นายกฯในบัญชีพรรคการเมือง ด้วย

เกมแบบนี้เองที่ทำให้ “บิ๊กตู่” ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเมื่อถูกถามถึงอนาคตทางการเมืองของตนเอง ทั้งๆ ที่เจ้าตัวตัดสินใจเด็ดขาดตั้งแต่ปีแรกหลังรัฐประหารแล้วว่าจะสืบทอดอำนาจแน่นอน พร้อมใช้กลไกของ กอ.รมน.ทั้งตามกฎหมายเก่าและที่แก้ไขใหม่ ทำงานในระดับพื้นที่ทุกรูปแบบเพื่อลดความนิยมของนักการเมือง

งานนี้จึงกลายเป็นเกมชิงไหวชิงพริบบนผลประโยชน์ทางการเมืองล้วนๆ และไม่มีอะไรรับประกันว่าหากวันหน้าฝ่ายที่ไม่ได้มีอำนาจในวันนี้ ได้กลับมามีอำนาจบ้าง จะจดจำเรื่องที่ตัวเองเคยเรียกร้องเอาไว้ได้บ้างหรือเปล่า