Silicon Valley หุบเขามนุษย์ทองคำ(ต่อ)

Silicon Valley หุบเขามนุษย์ทองคำ(ต่อ)

ที่ Plug and Play Tech Center ใน Silicon Valley ที่ผมเข้าเยี่ยมชม มีบริษัทเทคโนโลยีเป็นสมาชิกใช้บริการพื้นที่มากกว่า 300 บริษัท

ตั้งแต่บริษัทที่เริ่มก่อตั้งไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ เป็นศูนย์รวมเครือข่ายที่กว้างขวางของผู้ลงทุน สิ่งที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของระบบนิเวศน์ของผู้ประกอบการในSilicon Valley คือการบริการ 

ประกอบด้วย พื้นที่สำนักงานรวมถึงการตกแต่งสำนักงานแบบครบครัน มีข้อตกลงการใช้ที่ยืดหยุ่น มีระบบความปลอดภัยในการเข้าอาคารตลอด 24/7 มีบริการห้องประชุม/สัมมนาทั้งหมด 22 ห้องมีบริการชาและกาแฟฟรี มีบริการร้านกาแฟและศูนย์อาหารในพื้นที่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับแม่และบุตร มีพื้นที่สันทนาการกลางแจ้ง มีการจัดงานอีเวนท์สำหรับเครือข่าย บริการศูนย์รวมข้อมูลที่จำเป็น และมีบริการอื่น ๆ ที่เครือข่ายสามารถร้องขอได้

ค่าครองชีพใน Silicon Valley สูงมาก คนที่อาศัยในแถบนั้น แม้ว่าจะมีรายได้ตกเดือนละเป็นล้าน แต่ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชั้นกลางในสังคมเท่านั้น ราคาบ้านใน Silicon Valley แพงมาก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 94 ล้านบาท คนใน Silicon Valley แม้รายได้จะสูงกว่าพื้นที่อื่น แต่ค่าครองชีพที่สูงกว่าก็ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนรวยเหมือนคนในพื้นที่อื่น ๆ

บริษัทใน Silicon Valley ให้ความสำคัญในเรื่องของความสะดวกในการทำงานของพนักงาน โดยเฉพาะวิศวกรจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้ละเลยพนักงานทุกคนในองค์กร ระหว่างการทำงานจะมีอาหาร ขนม เครื่องดื่มบริการตลอด บริษัทใน Silicon Valley ส่วนใหญ่จะมีอาหารให้กับพนักงาน เหตุผลหลักคือการเพิ่ม Productivity ของพนักงาน ไม่ต้องเสียเวลาออกไปกินข้างนอก CEO จะนั่งทำงานร่วมกับพนักงาน สามารถพูดคุยปรึกษากันได้ตลอด ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ไม่เกี่ยงตำแหน่งหรือความอาวุโส ให้ความยืดหยุ่นในเรื่องเวลา ขอแค่งานเสร็จก็พอ วิศวกรไอทีที่มีฝีมือจะถูกจ้างมาในราคาที่สูง ทำงานไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นทำงานประมาณ 11.00 น.

ที่ออฟฟิศของสำนักงานใน Silicon Valley พนักงานสามารถทำงานควบคูไปกับการพักผ่อน มีพื้นที่เล่นวิดิโอเกม สนามวอลเลย์บอล สระว่ายน้ำ มีสปาให้พนักงานใช้บริการ บางจุดจะมีเตียงนอนให้พนักงานได้งีบหลับเพื่อพักสมอง 

วัฒนธรรมหลักของการทำงานคือทำงานควบคู่กับการพักผ่อน มาออฟฟิศ คือมาเล่น ไม่ใช่มาโดนดูดวิญญาน ถ้าอยากได้ประสิทธิภาพในการทำงานต้องให้อิสระ อย่าให้งานมากเกินไป

บริษัททำงานกันเป็นทีมตามกลุ่ม Soft ware แบ่งเวลาเป็น 2 สัปดาห์ในการวิเคราะห์วางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไข ประชุม stand up วันละ 5-10 นาที เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเพื่อนในทีม ทีมงานประเมินงานโดยให้คะแนนตามความยากของแต่ละบททดสอบ เพื่อเอามาวางแผน และประชุมทบทวนเพื่อประเมิน ทีมที่ทำได้ดีจะได้รับการยกย่อง ส่วนที่ไม่ดีควรปรับปรุง เป็นการผลักดันให้มีการ active ตลอดเวลา 

นอกจากนี้ยังมีการประชุมที่เรียกว่า brown bag session คือใช้เวลาตอนเที่ยงกินข้าวไปฟังไป เป็นการแบ่งปันความรู้แบบสบาย ๆ ไม่เครียด การประชุมอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจเรียกว่า dogfooding session ทุกคนเสียสละเวลาส่วนตัวมาใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อเสนอแนะสิ่งที่ควรปรับปรุงก่อนปล่อยลูกค้าใช้งานจริง

พนักงานส่วนใหญ่จะกลับบ้านเร็ว ให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก ไม่ค่อยมีการสังสรรค์หลังเลิกงาน วันหยุดก็ไม่ค่อยเที่ยวด้วยกัน บริษัทจะให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน แม้แต่โต๊ะ เก้าอี้ที่ใช้ในสำนักงาน พนักงานสามารถทดลองนั่งและโหวตก่อนสั่งซื้อ

Silicon Valley เปรียบเสมือนหุบเขาทองคำที่ทุกคนอยากเข้าไปทำงานมากที่สุดในโลก เป็นหุบเขาที่คับคั่งไปด้วยคนเก่ง แต่คนที่ทำงานก็จะต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันที่สูง จึงต้องปรับตัวให้ทันโลกและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

ต้องขอขอบคุณ บมจ.ทิพยประกันภัย จำกัด ที่เห็นความสำคัญของโลกในยุค Digital และนำพาให้เข้าเยี่ยมชม ได้เห็นบรรยากาศในการทำงานและมีโอกาสได้รับฟังการนำเสนอของ Start up ในการนำเทคโนโลยี่ทางด้าน Digital Insurance ที่ทันสมัยเพื่อครองความเป็นเลิศในการให้บริการลูกค้า เหมือนเดินทางไปพบโลกใหม่ที่น่าตื่นเต้น 

ตอนต่อไปผมจะนำเสนอข้อมูลที่ได้ได้จากการเยี่ยมชมครั้งนี้ว่าประเทศไทย จะมีโอกาสเกิด Thailand Silicon Valley หรือไม่ครับ...