EU เร่งส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หวังเพิมปริมาณภายในปี 2573***

EU เร่งส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หวังเพิมปริมาณภายในปี 2573***

EU กำหนดกรอบการดำเนินการเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมภายใน EU อย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบัน EU มีกรอบการดำเนินการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ชื่อ 2030 Climate & Energy Framework โดยประเทศสมาชิก EU จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% (เทียบกับระดับของปี 2533) ภายในปี 2573 โดยแผนดำเนินงานดังกล่าว ได้ระบุกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุม ได้แก่ 1) กลุ่มอุตสาหกรรม ที่อยู่ภายใต้ระบบ EU ETS ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษ และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และ 2) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบ EU ETS ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง (ยกเว้นการบิน) การเคหะ การเกษตรกรรม และการจัดการของเสีย โดยทั้ง 2 กลุ่มอุตสาหกรรมจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% และ 30% ภายในปี 2573 ตามลำดับ (เทียบกับระดับของปี 2548)

EU เร่งส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หวังเพิมปริมาณภายในปี 2573***

ภาคการขนส่งทางบก (road transport) ของ EU ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ส่งผลให้ EU ออกมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์เป็นอันดับต้น จากรายงานขององค์กร European Environment Agency (EEA) เมื่อปี 2557 ระบุว่า ภาคการขนส่งทางบกของ EU ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึง 72.8% เมื่อเทียบกับการภาคการขนส่งอื่นๆ ได้แก่ ทางน้ำ 13% ทางอากาศ 13.1% ทางรถไฟ 0.6% และอื่นๆ 0.5% ผนวกกับปัญหาละเมิดมาตรฐานการปล่อยไอเสียเครื่องยนต์ดีเซลของบริษัท Volkswagen ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเมื่อปี 2558 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “คดี Dieselgate” ส่งผลให้ EU เร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งด้านมาตรฐานการตรวจสอบการปล่อยไอเสียจากเครื่องยนต์ ไปจนถึงการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

EU เสนอร่างปรับปรุงกฎระเบียบด้านมาตรฐานการปล่อยก๊าซ CO2 เร่งส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานการปล่อยก๊าซของรถโดยสารส่วนบุคคลและรถตู้ที่ผลิตใหม่ (new passenger cars and new light commercial vehicles) เพื่อกำหนดเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์หลังปี 2563 โดยเน้น 2 มาตรการหลัก คือ 1) การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้ได้ 30% ภายในปี 2573 (เมื่อเทียบกับระดับของปี 2564) และ 2) กำหนดมาตรการส่งเสริมการผลิตรถที่ไม่มีการปล่อยก๊าซหรือปล่อยก๊าซต่ำ (Zero and Low Emission Vehicles: ZLEV) เช่น การผ่อนปรนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซสำหรับบริษัทผู้ผลิตที่สามารถผลิตรถประเภท ZLEV ได้เกินเป้าหมาย (15% ในปี 2568 และ 30% ในปี 2573 ของการผลิตทั้งหมด) ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมของสภายุโรป (ENVI) ได้เสนอให้เพิ่มเป้าหมายการปล่อยก๊าซ CO2 เป็น 20% ภายในปี 2568 และ 45% ภายในปี 2573 ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ประเภท ZLEV เป็น 20% ภายในปี 2568 และ 40% ภายในปี 2573

อย่างไรก็ดี บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ในยุโรปไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายที่สูงมากจนเกินไป และเรียกร้องให้ EU ผ่อนคลายเป้าหมายเพื่อให้เวลากับภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัว เพราะอาจส่งให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก และผู้บริโภคเองยังไม่พร้อมที่จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาแพง โดยจากสถิติขององค์กร European Alternative Fuels Observatory ระบุว่า ปัจจุบัน ยอดขายใน EU ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ (BEV) และแบบ Plug-in คิดเป็น 1.75% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดเท่านั้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 0.75% โดยบริษัทผู้ผลิตมองว่า มาตรการอุดหนุดของรัฐ และจำนวนสถานีชาร์จไฟ (charging stations) เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ร่างกฎระเบียบฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภายุโรปสมัยสามัญในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ก่อนส่งกลับไปที่คณะกรรมาธิการยุโรปปรับแก้ และเสนอต่อคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปให้ความเห็นชอบร่วมกับสภายุโรปก่อนบังคับใช้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการแก้ไขรายละเอียดของร่างกฎระเบียบเพิ่มเติม

การปรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซและการเพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์ประเภท ZLEV เป็นมาตรการส่งเสริมให้มีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในตลาด EU มากขึ้น เป็นสัญญาณให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับตัว เพราะไม่ว่าเป้าหมายที่ EU กำหนดจะเป็นเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตหันมาผลิตรถยนต์ประเภท ZLEV เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) หรือรถเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Vehicles) มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ยุโรปที่ออกนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังรวมถึงตลาดใหญ่อื่นๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ และจีน ที่มีทิศทางนโยบายเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ของโลก เพราะความต้องการชิ้นส่วนประเภทที่เกี่ยวข้องกับระบบเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบระบายไอเสีย ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

/////////

 

*** ชื่อเต็ม: 

EU เร่งออกมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 

หวังเพิ่มปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573