กฎหมายยาสูบกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและคนในสังคม

กฎหมายยาสูบกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและคนในสังคม

ยาสูบ หรือการเอายาเส้นมามวนด้วยกระดาษที่เรียกอีกอย่างว่า “บุหรี่” มีวิวัฒนาการและวัฒนธรรมของการสูบในประเทศไทยมานานกว่า 300 ปี

โดยเมื่อเราพูดถึงยาสูบ มักจะคิดถึงโทษจากการสูบ อันเป็นผลกระทบต่อผู้สูบหรือสังคม แต่รู้หรือไม่ว่าหากกล่าวถึงยาสูบในยุค 4.0 แล้วจะปรากฏกฎหมายที่เข้ามามีบทบาทกับการบังคับใช้จำนวน 3 ฉบับ

กฎหมายดังกล่าวได้แก่ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ.2561, พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งส่งผลทั้งระบบต่อองค์กรผู้ผลิต ควบคุม รวมไปถึงอาจจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสูบของคนไทยในอนาคตอันใกล้ เริ่มด้วยประเด็นองค์กรผู้ผลิต ที่ถูกปรับเปลี่ยนโดยกฎหมายและส่งผลต่อหลาย ๆ ด้านในวงการยาสูบไทย นั่นคือ “การยาสูบแห่งประเทศไทย” หรือ ยสท. เป็นองค์กรนิติบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ตาม พ.ร.บ. การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ.2561 แทนที่ “โรงงานยาสูบ” ในสังกัดกระทรวงการคลังเดิม

ยสท. มีหน้าที่หลัก คือ การผลิตบุหรี่ซึ่งเป็นกิจการผูกขาดของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต และการกระทำกิจการอื่น อาทิเช่น ประกอบอุตสาหกรรมและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยาสูบ ใบยา หรือผลิตภัณฑ์จากพืชอื่นทั้งในและนอกราชอาณาจักร ภายใต้หลักการองค์กร ที่ว่า “ทำหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการอันจะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมและขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงและควบคุมมาตรฐานการผลิต โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม”

จะเห็นได้ว่าหลักการที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ. ใหม่ข้างต้น มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ 2 ด้าน คือ 1) ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจยาสูบ กับ 2) ความคุ้มค่าต่อคนในสังคม โดยถูกวางกรอบและบังคับด้วย พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ในคราวเดียวกัน ซึ่งแยกพิจารณาดังนี้

  1. ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในอดีตโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดการผลิต และเคยมีผลกำไรอยู่ในระดับ “ดีมาก” แต่หลังจากการบังคับใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตในปี 2560 องค์กรประสบกับปัญหารายได้ที่ลดลง เนื่องจากการคำนวณฐานภาษีที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเปิดช่องให้บริษัทบุหรี่ต่างชาติเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยการปรับลดราคาบุหรี่ต่างชาติ

ดังนั้น พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 จึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการให้ฐานะ ยสท. เป็นนิติบุคคลองค์กรใหม่ ที่จะดำเนินการทุกอย่างตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรเป็นสำคัญ กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ถึง 49% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทลูกของ ยสท. เพื่อประโยชน์แก่กิจการอันภายใต้วัตถุประสงค์ของ ยสท. โดยเป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินการของโรงงานยาสูบให้อยู่รอดจากสถานการณ์อันเป็นผลกระทบมาจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยให้ต่างชาติซึ่งเคยเป็นคู่แข่งทางการค้ามาเป็นหุ้นส่วนร่วมมือกันในการผลิตและหากำไร

  1. ความคุ้มค่าต่อคนในสังคมที่มีความย้อนแย้งกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อคู่แข่งกลายมาเป็นหุ้นส่วนแล้ว ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการผลิตที่สามารถผลิตได้มากขึ้น โดยผลของกฎหมายที่อำนวยความสะดวกต่อกระบวนการ ย่อมทำให้อัตราการบริโภคเป็นไปในทิศทางที่แปรผันตรง ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงความคุ้มค่าต่อคนในสังคม

พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 อันเป็นต้นธารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์กรยาสูบให้มีการแข่งขันในตลาดยุค 4.0 จากการเป็นผู้ผูกขาดกลายมาเป็นผู้ร่วมหุ้น จึงเป็นเสมือนคำตอบดังกล่าวว่า กฎหมายจะสามารถจัดเก็บภาษีตามปริมาณในอัตราเดียวกัน อันจะช่วยลดปัญหาการบริโภคบุหรี่ราคาถูก การขยายฐานภาษียาสูบให้ครอบคลุมถึงยาเส้นพันธุ์พื้นเมือง การลดการเข้าถึงการบริโภคยาสูบ โดยยึดหลักสากลในการสร้างความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีของบุหรี่ได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ให้มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็น 1) การห้ามขายหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 2) การห้ามให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้ขาย หรือใช้ จ้างวาน ให้ไปซื้อยาสูบ 3) การห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบใน 4 กลุ่มสถานที่ ได้แก่ วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานพยาบาล สถานศึกษาทุกระดับ สวนสาธารณะ 4) การห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบในทุกรูปแบบ 5) การห้ามผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบทำกิจกรรม ซีเอสอาร์ อุปถัมภ์สนับสนุนบุคคล 6) การห้ามตั้งวางโชว์ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือซองบุหรี่ ณ จุดขาย 7) การห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน 8) การเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ 9) เจ้าของสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ มีหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน ดูแลให้ไม่มีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ หากฝ่าฝืนไม่ดำเนินการ เจ้าของสถานที่มีโทษปรับ

ประเด็นที่น่าสนใจที่สุด คือ ผลของมาตรา 38 ใน พ.ร.บ.ดังกล่าวเปิดช่องให้อำนาจการออกกฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้บุหรี่แบบซองเรียบตามข้อแนะนำของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์กรอนามัยโลก ได้ในอนาคต โดยบนซองบุหรี่แต่ละด้านจะต้องมีภาพคำเตือนร้อยละ 87.5 ของพื้นที่และห้ามพิมพ์เครื่องหมายการค้าหรือสัญลักษณ์โลโก้ใด ๆ บนพื้นที่ซองบุหรี่ ซึ่งหลายประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เป็นต้น ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการมาเป็นเวลากว่า 4 ปี อันเป็นการลดความเย้ายวนของซองบุหรี่ที่มีต่อเยาวชนและขจัดการใช้ซองบุหรี่เป็นพื้นที่โฆษณาสินค้า

จากที่กล่าวมาข้างต้นลักษณะแห่งสังคมเมืองไทยยุค 4.0 ที่สะท้อนผ่านทางกฎหมายเกี่ยวกับยาสูบนั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างชัดเจนในทุกมุมมอง จากนี้ไปเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับ ความคุ้มค่าต่อคนในสังคมภายใต้บริบทแห่งกฎหมายยุคใหม่นี้ จะสามารถเติมเต็มและส่งประโยชน์ต่อกันได้มากน้อยเพียงใด หรือประโยชน์ด้านใดจะพ่ายแพ้และถูกลืมไปกับสังคมการบริโภคยาสูบที่เปลี่ยนไป

 โดย... 

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์