P2P Lending ใกล้จะเกิดในไทยแล้ว

P2P Lending ใกล้จะเกิดในไทยแล้ว

 ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ได้ประกาศแนวทางกำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจ P2P Lending

หลังจากเฝ้ารอมานานแสนนาน ทำโฟกัสกรุ๊ปกันไม่รู้ต่อกี่รอบ ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ได้ประกาศแนวทางกำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล(P2P Lending) เป็นที่เรียบร้อย โดยมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ

อธิบายสั้นๆอีกรอบ P2P Lending คือการที่มีตัวกลางซึ่งก็คือบริษัทฟินเทคทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มจับคู่ระหว่างผู้ให้กู้ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความพร้อมด้านการเงินหรือระดับ Hi Net Worth และผู้ขอกู้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีข้อมูลเครดิต  ฟินเทคจะทำหน้าที่รับสมัครและคัดกรองผู้ให้กู้ซึ่งต้องการผลตอบแทนจากดอกเบี้ยไม่เกินปีละ 15% ซึ่งเป็นอัตราที่ถูกกว่าสถาบันการเงินปกติ 

ขณะที่ผู้ขอกู้ก็ต้องสมัครเข้ามาในแพลตฟอร์มและทำตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งทั้งผู้ให้กู้และบริษัทฟินเทคจะสามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตเพื่อประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้ได้ 

ทั้งนี้ บริษัทฟินเทคผู้ดำเนินธุรกิจไม่ได้ทำหน้าที่ปล่อยกู้ให้โดยตรง แต่ทำหน้าที่เป็นเพียง “ตัวกลาง” เท่านั้น ทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานถูกกว่าสถาบันการเงินและมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่า ที่สำคัญยังเสนอดอกเบี้ยที่ถูกกว่า การเกิดขึ้นของ P2P Lending จึงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินของประชาชนในวงกว้าง เพราะปัจจุบันอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เนตและการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนทั้งโลกอยู่ในระดับที่สูง  ยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซียที่ภูมิประเทศเป็นเกาะ มีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เนต 4G มากกว่า 80% แต่มีผู้ที่เข้าถึงสินเชื่อธนาคารน้อยกว่า 50% 

เบื้องต้น คาดว่าผู้ประกอบการที่สนใจจะต้องยืนเรื่องเพื่อเข้าโครงการทดสอบเทคโนโลยีการเงินหรือ Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยเสียก่อน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ทีไม่เคยมีมาก่อนเพื่อป้องกันและคุ้มครองผู้บริโภคจึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด (ส่วนตัวเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ Scam ตามมาอย่างแน่นอน) ผู้ที่สนใจขอให้ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด อีกด้านหนึ่ง หากผู้กู้เป็นนิติบุคคลสำนักงาน ก.ล.ต ซึ่งกำกับดูแลตลาดทุนจะออกเกณฑ์ Debt Crowdfunding ออกมาโดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเร็วๆนี้

ในต่างประเทศ ฟินเทคด้าน P2P Lending มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก และมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอยู่หลายตัวเลยทีเดียว ที่โด่งดังก็คือ Credit Karma ที่ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับเงินลงทุนระดับพันล้านเหรียญ ผู้เขียนเคยให้ความเห็นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า เทคโนโลยีนี้มีโอกาสที่จะDisrupt สถาบันการเงินดั้งเดิมมากที่สุด ใกล้เคียงกับ Blockchain และเป็นฟินเทคที่มีปัญหามากที่สุดอีกด้วย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการหลอกลวงรวมถึงหนี้เสียที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้ P2P Lending ก็เริ่มต้นนับหนึ่งในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหวังว่าจะไม่มีอุปสรรคใดๆที่จะขัดขวางได้อีก

เดิมทีบ้านเรามีผู้ประกอบการที่สนใจในธุรกิจ P2P Lending จำนวนมาก แต่ไม่สามารถยืนระยะรอกฎระเบียบใด้จึงมีการหยุดความเคลื่อนไหวไปบ้างแต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีความคึกคักเกิดขึ้นแน่นอน และน่าจะมีฟินเทคที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายที่น่าจะกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ด้วย