“Smart Living”เชื่อมระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

“Smart Living”เชื่อมระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

ในงานประชุมวิชาการภาคประชาชนครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ"ยุทธศาสตร์ตำบลปลอดภัย หัวใจการแพทย์ฉุกเฉิน" ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

ที่นอกจากจะมีการพูดคุยในเวทีวิชาการแล้วยังได้มีการนำเสนอวัตกรรรมที่เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อใช้ลดอัตราของการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนในทุกวัยรวมถึงผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มเปราะบางต่างๆด้วย

และหนึ่งในนั้นก็คือนวัตกรรม "Thailand Smart Living" ซึ่งเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับสังคมสูงวัยและดูแลผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุที่ภาวะติดเตียง คนพิการ หรือประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยรศ.วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หัวหน้าโครงการและผู้คิดค้น นวัตกรรมThailand Smart Livingระบุถึงที่มาที่ไปขอนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า "โครงการนวัตกรรม Thailand Smart Living คือโครงการที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นถึงปัญหาทางสังคมโดยได้หยิบยกเอาปัญหาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้สูงอายุหรือประชากรกลุ่มเปราะบางต่างๆ ซึ่งช่วยเหลือตนเองไม่ได้และไร้คนดูแล โดยกลุ่มประชากรดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจะต้องดึงประเด็นปัญหาสังคมตรงส่วนนี้ออกมา เมื่อเรารู้ว่าสังคมมีความต้องการในเรื่องใด หรือประสบปัญหาอะไรอยู่ เราก็จะต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งหากเราช่วยกันแก้ไขปัญหาได้ก็จะสามารถสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชากรในประเทศของเราทุกวัยได้ "อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพากล่าว

สำหรับรูปแบบนวัตกรรมของระบบ“Thailand Smart Living”นั้นจะเน้นเรื่องของการสร้างระบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และประชากรกลุ่มเปราะบางต่างๆ ในเมืองหรือในชุมชนที่ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองได้ผ่านรูปแบบการทำงานแบบSmart Public Healthcareที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทั้งเทศบาลเมือง โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนหรือคลินิกเอกชน โดยในระบบSmart Public Healthcareจะประกอบไปด้วย ระบบติดตามและแจ้งเตือนผู้สูงอายุภายในบ้านผ่านสายรัดข้อมืออัจฉริยะที่คอยเก็บข้อมูลและรายงานกิจวัตรประจำวัน พร้อมทั้งอุปกรณ์ในสายรัดข้อมืออัจฉริยะจะเรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน ตรวจนับการออกนอกพื้นที่พักอาศัยเพื่อป้องกันการพลัดหลง และแจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้มหรือต้องการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน สามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังครอบครัวหรือผู้ดูแลเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

 ในระบบระบบSmart Public Healthcareจะมีอุปกรณ์เกตเวย์ประจำบ้าน ที่จะเป็นอุปกรณ์รับสัญญาณจากสายรัดข้อมือ พร้อมทั้งติดตามกิจกรรมปุ่มขอความช่วยเหลือไร้สาย หรือตัวทวนสัญญาณอื่นๆ ที่อยู่ภายในพื้นที่และส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ดังกล่าวไปยังระบบCloudบนอินเตอร์เน็ต เพื่อทำการวิเคราะห์และรายงานสถานะบนระบบดาต้าเบสและแอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นโทรศัพท์ฉุกเฉินเพื่อติดต่อกับหน่วยงานที่ดูแลผู้ใช้บริการสามารถรับข้อมูลจากอุปกรณ์รัดสายข้อมือติดตามกิจกรรมและปุ่มขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้แล้วในระบบยังมีปุ่มขอความช่วยเหลือไร้สาย เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับติดตั้งไว้ในที่พักอาศัยใช้สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มประชากรเปราะบางขอความช่วยเหลือโดยอุปกรณ์จะทำงานโดยการกดที่ตัวอุปกรณ์หรือดึงสายกระตุกที่ห้อยจากตัวอุปกรณ์ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังเบอร์ที่ได้กำหนดไว้อาทิเบอร์สายด่วน1669หรือเบอร์ญาติ

ทั้งนี้ความน่าสนใจนอกจากอุปกรณ์เทคโนโลยีไฮเทคต่างๆแล้ว รูปแบบการทำงานของSmart Public Healthcareยังมีระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ ซึ่งจะมีการแสดงข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งและใช้งานอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถติดตามและเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ผิดปรกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าให้การช่วยเหลือในกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีด้วย

ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า โครงการ"ด้วยความทันสมัยของนวัตกรรม “Thailand Smart Living”ผ่านเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ผมเชื่อว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ซึ่งระบบของนวัตกรรมThailand Smart Living" อยู่ในระหว่างการทดลองเชื่อมโยงการทำงานในระบบสายด่วน1669ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งหากประสบผลสำเร็จเราจะกระจายติดตั้งให้กับท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทยได้ใช้ด้วย นอกจากนี้ในส่วนของสพฉ.เองก็ได้พยายามพัฒนาระบบในการแจ้งเหตุให้ตอบรับกับยุค4.0 ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแอพพลิเคชั่นที่ให้ประชาสามารถแจ้งเหตุได้ และเรายังพัฒนาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภารรัฐอื่นๆอีกหลายหน่วยงานซึ่งในอนาคตประชาชนจะสามารถแจ้งเหตุผ่านวีดีโอคอลได้อีกช่องทางหนึ่งด้วยเช่นกัน"รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว