เก่งวิชาชีพแล้วต้องเก่งอย่างอื่นด้วย

เก่งวิชาชีพแล้วต้องเก่งอย่างอื่นด้วย

เราอยากได้บัณฑิตพันธ์ุใหม่ ที่ต้องเก่งอากาศยาน เก่งหุ่นยนต์ เก่งเขียนโปรแกรม และเก่งอีกสารพัดเทคนิค

ภาพโฆษณาก็เป็นภาพหนุ่มสาวหน้าตาดี ใส่ชุดทำงานในโรงงาน ใส่หมวกนิรภัย สะท้อนความเป็นนักวิชาชีพอย่างชัดเจน สภาวิจัยแห่งชาติของสหรัฐ ได้บอกไว้เมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้วว่า ถ้าจะผลิตบัณฑิตวิชาชีพ สำหรับโลกอนาคตนั้น ต้องเติมเต็มความสามารถบางอย่าง นอกเหนือจากเรื่องเทคนิคให้กับบัณฑิต เพื่อให้ทำงานได้ก้าวหน้าไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความคาดหวังของผู้คน เทคโนโลยีเปลี่ยน คนก็เปลี่ยนความคาดหวังกับนักวิชาชีพ 

ดังนั้น เก่งหุ่นยนต์ได้ แต่ต้องไม่ทำตัวเป็นหุ่นยนต์ เก่งโปรแกรมได้ แต่ต้องไม่ทำตัวเป็นโปรแกรมเสียเอง คือโปรแกรมมาแค่ไหน ก็ทำได้แค่นั้น ซึ่งสภาวิจัยของเมืองฝรั่งบอกว่า เรื่องสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่นักวิชาชีพ ต้องปรับตัวตามนั้น กลับกลายเป็นการปรับตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของคน ซึ่งถ้าปล่อยให้ผู้คนคาดหวังกันไปต่างๆ นานา คงวุ่นวายมาก ในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา 

สภาวิจัยของฝรั่งจึงหวังว่า นักวิชาชีพจะช่วยชี้นำทางการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของผู้คนได้ ไม่ใช่นึกแบบมโนไปกันเองเหมือนที่เห็นกันอยู่มากมายในปัจจุบัน พอมีปัญญาประดิษฐ์ ก็มโนไปเรื่อยถึงขนาดคาดหวังว่าคุณครูประถมศึกษาจะใช้เอไอคู่กับหุ่นยนต์ ในการสอนลูกหลานบ้านเรา แล้วคิดจะจัดอบรมเอไอ และหุ่นยนต์ให้คุณครูกันขนานใหญ่ เหมือนเมื่อสมัยมีพีซี มีซอฟท์แวร์ สำนักงานเกิดขึ้นมาใหม่ๆ ซึ่งคำตอบว่าที่ทำมาแล้วกันขนานใหญ่ในแทบทุกครั้งที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงนั้น ได้ประสิทธิผลแค่ไหน ให้ลองดูผลการทดสอบนานาชาติเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ไอที จะได้คำตอบว่า ทำไมสภาวิจัยของฝรั่ง จึงคาดหวังให้นักวิชาชีพช่วยชี้นำความคาดหวังของผู้คนกับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น

จะชี้นำความคาดหวังของผู้คนกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการมีความเข้าใจว่าเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเศรษฐกิจอย่างไร ไม่ใช่แค่เรียนเศรษฐศาสตร์ หนึ่งศูนย์หนึ่ง แต่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างดี จึงจะรู้ได้ว่าความคาดหวังที่ไม่เกินเลย หรือไม่อ่อนด้อยเกินไป ในการใช้เทคโนโลยีใหม่นั้นขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม จะรู้การเปลี่ยนแปลงจริงก็ต้องรู้ในบริบทโลก ไม่ใช่รู้เฉพาะแค่ในบ้านเมืองตนเอง รู้จักบ้านคนอื่น ไม่น้อยกว่าที่รู้จักบ้านตนเอง ก้มหน้าก้มตาเขียนโปรแกรมเอไอ จบมาไม่รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมบ้านเรา บ้านเขาว่าอะไรเป็นอย่างไร จบแล้วก็เป็นแค่หุ่นยนต์ชีวภาพ เป็นลูกจ้างได้สักระยะหนึ่ง ไปเป็นนายจ้างก็ขอเวลาอีกไม่นาน ก่อนที่จะเจ็งไปนั่นเอง

ไม่เพียงแต่จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีที่ตนเองเชี่ยวชาญ กับความสามารถของเทคโนโลยีนั้น ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น นักวิชาชีพ ต้องสามารถโน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อว่าควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรมีส่วนช่วยโน้มน้าวการกำหนดนโยบายของชุมชน ของบ้านเมือง จะมียุทธชาติ 10 ปี 100 ปี ก็ให้มีแบบที่เทคโนโลยีมีบทบาท ไม่มากไป หรือไม่น้อยไป พอดิบพอดีกับบริบทที่เป็นจริงของบ้านเมืองนั้น ไม่ใช่วาดฝันว่านักเรียนจะเรียนหนังสือจากสมารท์โฟนตัวโต ในวันที่อินเทอร์เน็ตยังเป็นของหายาก นักวิชาชีพสำหรับอนาคต ต้องมีความเป็นผู้นำ ต้องสามารถสื่อสารโน้มน้าวผู้คนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่พล่ามไปทุกเรื่อง ทั้งที่ตนเองเชี่ยวชาญ และไม่เชี่ยวชาญ

ความสามารถที่กล่าวมาแล้วจะใช้ประโยชน์ไม่ได้อย่างแท้จริง ถ้าขาดความสามารถสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือความสามารถในการวิเคราะห์ วันนี้เราไม่ต้องมั่วนึกเอง เออเองแล้ว เพราะอินเทอร์เน็ต ทำให้ข้อมูลและสาระในสารพัดเรื่องมาอยู่รอบๆ ตัวเรา ค้นหาได้ไม่ยากเย็น ที่ยากคือ มีข้อมูลสาระอยู่รอบตัว รู้ตัวเลขเศรษฐกิจ รู้ตัวเลขสังคม รู้ตัวเลขเกี่ยวกับผู้คน แล้วจะได้สาระอะไร ได้ความรู้อะไรจากเรื่องนั้น โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับผู้คน ซึ่งความสามารถนี้ไม่ใช่มีเทคโนโลยีแล้ว ใครๆ ก็ทำได้ เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือ สติปัญญาของตนเป็นจุดตั้งต้น นักวิชาชีพที่ดีสำหรับอนาคต ต้องใช้ข้อมูลมาสร้างความรู้ในการทำสารพัดอย่างที่กล่าวมาแล้วได้

ถ้ามีลูกหลาน แล้วอยากให้ลูกหลานเป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สำหรับอนาคต อย่างรีบร้อนเชื่อคำโมษณา สละเวลาไปคุยกับมหาวิทยาลัยที่อยากไปเรียนก่อนว่า จะเติมเต็มความสามารถเหล่านี้ ให้ลูกหลานเราได้หรือไม่ ถ้าไม่มีวี่แวว ก็รู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นได้แค่บัณฑิตพันธุ์ใหม่ สำหรับยุคเก่าเท่านั้น