แก้โลกร้อนด้วยเครื่องปรับอากาศ?

แก้โลกร้อนด้วยเครื่องปรับอากาศ?

ปีนี้เป็นปีที่อากาศผันผวนและน่าจะเป็นฤดูร้อนที่สุดของหลายๆ ประเทศในเขตหนาว

ท่านผู้อ่านที่เดินทางไปยุโรปหรือญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คงประสบกับอากาศร้อนอย่างไม่เคยเจอมาก่อน เนื่องจาก heat wave หรือคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งปีนี้น่าจะเป็นปีที่ยอดขายเครื่องปรับอากาศขายดีมากที่สุดปีหนึ่ง

หลายท่านคงทราบว่าเครื่องปรับอากาศหรือที่เราเรียกว่า “แอร์” นั้น ต้องมีการเสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งสมัยก่อนนั้น มีผู้รู้เคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อเครื่องปรับอากาศเข้ามาใหม่ๆ ในทศวรรษ 60-70 นั้น ถูกจัดให้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกประเภทหรูหราและฟุ่มเฟือย เนื่องจากเราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งแอร์ หรือถ้าร้อนก็ยังสามารถพัดได้ด้วยพัดมือ หรือแม้กระทั่งพัดลมไฟฟ้าก็น่าจะเพียงพอ การมีแอร์จึงถือเป็น luxury มากกว่า necessity หรือคือความฟุ่มเฟือยมากกว่าความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ทราบว่าหลัง พ.ศ.2552 ได้มีการยกเว้นภาษีดังกล่าวสำหรับเครื่องปรับอากาศขนาดที่เล็กกว่า 72,000 บีทียู ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและสมเหตุสมผล

มีงานวิจัยมากมายพิสูจน์ว่า การมีแอร์ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคนเราดีขึ้น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย Guillermo Cedeno ในปี 2559 พบว่านักเรียนที่เรียนในห้องเรียนติดแอร์มีความสามารถในการจดจำ ให้เหตุผล และการตัดสินใจ (cognitive test) ได้ดีกว่าอีกกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์ หรืองานวิจัยของ UC Berkeley ที่บอกว่าทุกๆ 1 องศาที่สูงกว่า 26 องศาเซลเชียส (อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดในการทำงาน) จะส่งผลให้ GDP ของประเทศในอเมริกากลางตกลงร้อยละ 1 แต่ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นอดีตผู้นำของประเทศสิงคโปร์อย่างท่าน
ลีกวนยู ที่บอกว่าสิ่งแรกที่ทำหลังจากแยกประเทศจากมาเลเซีย คือติดแอร์ในอาคารสำนักงานของหน่วยงานราชการทั้งหมด เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพสูงสุด

ข้อมูลจาก IEA หรือ International Energy Agency ซึ่งเป็นสำนักวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงานของโลก ได้ประมาณว่าปัจจุบันมีเครื่องปรับอากาศติดตั้งอยู่ทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านเครื่อง และจะเพิ่มเป็น 2,600 ล้านเครื่องในปี 2571 แต่ถ้านับรวมตู้เย็น ตู้แช่อาหาร ห้องเย็น และที่เกี่ยวข้อง น่าจะมีมากกว่า 6,000 ล้านหน่วยทั่วโลก ตัวเลขนี้ก็จะมากกว่าประชากรรถยนต์ที่เป็นระบบสันดาปภายใน หรือที่ใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลในโลกใบนี้กว่า 5 เท่าตัว นับเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ตัวเลขดังกล่าวจะดูสูงมาก แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ประชากรมนุษย์ที่อยู่ในโซนร้อน (tropic) เช่นเดียวกันกับประเทศไทยนั้น มีกว่า 3,000 ล้านคน แต่ติดเครื่องปรับอากาศแค่ 8% ซึ่งหมายความว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้คงจะสูงและยังเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าเครื่องปรับอากาศทำให้เราสามารถดำรงชีพได้สบายขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดโรคภัย โดยเฉพาะ heat stroke ทำให้ความดันอากาศในห้องสะอาด (clean room) แตกต่างออกไปและทำให้สามารถทำงานที่ต้องไม่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ หรือแม้กระทั่งในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลที่ทำให้สะอาดและปลอดเชื้อ แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ถูกมองข้ามไปและน่าจะเป็นปัจจัยที่น่ากังวลสองประเด็นคือ การบริโภคไฟฟ้าจำนวนมาก และสารทำความเย็นที่ชื่อ HCFC หรือ Hydrofluorocarbons

พวกเราจะสังเกตเห็นว่าค่าไฟในเดือนเมษายนมักจะสูงมาก เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม เนื่องจากเรามักจะเปิดแอร์นานกว่าจากอากาศที่ร้อน ซึ่งค่าไฟก็อาจจะสูงกว่าสัก 30-40% แต่ในหลายประเทศที่อยู่ในเขตร้อนหรือทะเลทรายนั้น ค่าไฟฟ้าอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ว่ากันว่าในฤดูร้อน 70%ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในซาอุดีอาระเบียนั้น ถูกใช้ไปกับเครื่องปรับอากาศ และ IEA คาดการณ์ว่าในปี 2593 โลกเราต้องผลิตไฟฟ้ากว่า 6,000 TWh เพื่อใช้ไปกับเครื่องปรับอากาศอย่างเดียว หรือประมาณ 20 เท่าของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศไทยในแต่ละปี ก็เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก

ส่วนสาร HCFC นั้น อย่างที่เราทราบกันแล้วว่ามีผลต่อภาวะโลกร้อน (ขณะที่เราเย็นสบายอยู่ในห้อง) อย่างมาก กล่าวคือ ตัวสารจะกักความร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 ถึง 1,000-9,000 เท่า ฉะนั้น ถ้าเราจะรักษาให้โลกใบนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาตามข้อตกลงปารีสนั้น แอร์น่าจะเป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการรณรงค์ลดการใช้สารดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผ่าน Kigali Amendment แต่ก็คาดว่าต้องใช้เวลาอีกกว่า 20 ปี กว่าจะเห็นผล

การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพจึงสำคัญมาก (หรือที่ประเทศไทยเรารณรงค์ใช้เครื่องไฟฟ้าเบอร์ห้า) มีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาว่า ถ้าเครื่องปรับอากาศอากาศที่เราใช้นั้น เป็นแบบเบอร์ห้าทั้งหมด โลกนี้อาจจะสามารถปิดโรงไฟฟ้าขนาด 500 MW ไปกว่า 1,000 โรงก็เป็นได้ หรือการใช้แอร์ที่ไม่ใช้ HCFC ก็ช่วยทำให้แอร์เย็นนั้นตอบโจทย์ทั้งเรื่องสุขภาพ ประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตของเราและลูกหลานต่อไปด้วย