ทางเลือกเพื่ออนาคต

ทางเลือกเพื่ออนาคต

ความใฝ่รู้เป็นคุณสมบัติแรกที่คนทำงานต้องมีอยู่ในสายเลือด

ทางเลือกของคนทำงานในอดีตไม่ได้มีความซับซ้อนเท่ากับคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ เพราะนอกจากการเป็นข้าราชการแล้วก็ดูจะเหลือแค่การทำงานเป็นพนักงานบริษัท ในขณะที่การทำธุรกิจส่วนตัวมักจะสงวนไว้ให้กับคนที่มีกิจการของครอบครัวหรือคนที่สะสมประสบการณ์และทุนทรัพย์มายาวนานแล้วเท่านั้น

ขณะที่ทุกวันนี้การเลือกทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ดูมีความมั่นคง มีความเป็นระบบระเบียบ แม้เป็นงานที่น่าทำแต่คนรุ่นใหม่อาจรู้สึกไม่ตื่นเต้น ยิ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ที่ไม่ได้มีบทบาทมากนัก

ทางเลือกใหม่สำหรับเด็กวัยนี้คือธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงแต่ก็มีความท้าทายเป็นข้อแลกเปลี่ยน เพราะกระแสการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นอยู่ในความสนใจของคนวัยนี้พอดี ไม่ว่าจะลงมือทำเป็นเจ้าของธุรกิจเองหรือเข้ามาร่วมงานกับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่อาจเติบโตไปพร้อมเจ้าของมีโอกาสถือหุ้นและกลายเป็นผู้บริหารเมื่อบริษัทเติบโต

เส้นทางการเติบโตของคนทำงานทุกวันนี้จึงยากกว่าเดิมเพราะทางเลือกที่เปิดมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ปรับตัวตามผู้บริโภคตลอดเวลาก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่มีสิ้นสุด คนทำงานจึงต้องหมั่นเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ความใฝ่รู้จึงเป็นคุณสมบัติแรกที่คนทำงานทุกวันนี้ต้องมีอยู่ในสายเลือด ซึ่งไม่จำเพาะว่าต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบเท่านั้น แต่คนทำงานทุกวัยแม้จะอายุเกิน 50 ปีไปแล้วก็หนีไม่พ้นที่ต้องปรับตัวด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ เพราะมีแนวโน้มว่าในอนาคตอาจมีคนในวัยทำงานไม่เพียงพอจนอาจต้องยืดระยะเวลาทำงานออกไปเป็น 70 ปีเพราะโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป

คนทำงานทุกวันนี้จึงต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับธุรกิจที่อาจพลิกผันได้ทุกเมื่อ ตัวผมเองแม้จะมีพื้นเพการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมแต่เมื่อไปแสวงหาโอกาสที่สหรัฐก็พร้อมจะทำงานได้ทุกแบบทั้งค้าส่ง ค้าปลีก ภัตตาคาร จนกลับทำงานโรงเหล็กที่ประเทศไทย

ในยุคนั้นเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความมั่นคงสูง แต่คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเติบโตได้สักเท่าใด จึงมีความท้าทายมากกว่าและผมก็เลือกเส้นทางสายนี้มาจนถึงปัจจุบันก่อนที่จะต่อยอดออกไปเป็น ธุรกิจด้าน IT, IT-Retail, IT-Distribution, ธุรกิจเกี่ยวกับ Big Data, ธุรกิจเกี่ยวกับ Finance และลงทุนกับสตาร์ทอัพด้าน Digital Service หลายราย

การเปลี่ยนแปลงแม้จะเสี่ยงต่อการล้มเหลว แต่ประสบการณ์ที่ได้นั้นคุ้มค่ายิ่งนัก เพราะบทเรียนที่ได้มานั้นถือเป็นกำไรชีวิตและเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับไขว่คว้าหาความสำเร็จที่ใหญ่กว่าในอนาคต แม้อายุจะเกิน 60 แล้วแต่ก็ไม่เบื่อที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกใบนี้

แต่การเปลี่ยนแปลงก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย การจะทิ้งงานที่มั่นคงในวันนี้ไปตะลุยธุรกิจสตาร์ทอัพอาจไม่เหมาะกับหลายๆ คนเพราะแต่ละคนก็ล้วนมีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาตัวแปรต่างๆ อย่างรอบคอบซึ่งผมสรุป 10 ข้อเบื้องต้นดังนี้

ข้อแรกต้องกลับมาที่พื้นฐานความเป็นจริง คือต้องดูภาระรับผิดชอบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นนอกจากครอบครัวของตัวเองแล้วมีพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูไหม หากออกจากงานประจำที่มั่นคงดีแล้วถึงแม้ว่ามีโอกาสใหม่จากธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังจะทำ แต่ก็ต้องคิดจำลองสถานการณ์เชิงลบไว้ด้วยว่าในยามที่แย่ที่สุดเราจะยังคงดูแลครอบครัวได้ไหม

เพราะหากทั้งชีวิตมีตัวเราคนเดียวก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่จะบุกตะลุยไปกับธุรกิจใหม่ๆ โดยแบกรับความเสี่ยงไว้ด้วยตัวเอง แต่หากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบสูงและไม่มีแผนสำรองใด ๆ เอาไว้ก็ต้องคิดให้หนัก แต่หากเปลี่ยนแปลงแล้วแม้รายได้ช่วงแรกอาจจะลดลงแต่ยังพอเลี้ยงดูครอบครัวได้ก็ไม่ต้องคิดมากแล้ว

จริงอยู่ว่าการบุกเบิกธุรกิจใหม่ต้องมองทุกอย่างในแง่บวกเป็นหลัก แต่เมื่อมีคำว่าครอบครัวอาจต้องมองให้รอบด้านมากขึ้น ซึ่งแต่ละครอบครัวมีความพร้อมไม่เท่ากัน บางบ้านอาจมีคุณพ่อคุณแม่ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยดูแลลูกได้ ความเสี่ยงของแต่ละคนจึงล้วนแตกต่างกัน

ยังคงเหลืออีก 9 ข้อที่ต้องติดตามในตอนต่อไปนะครับ