White Paper การค้าจีน-สหรัฐฯ

White Paper การค้าจีน-สหรัฐฯ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเพิ่งมีการออก White Paper แถลงข้อเท็จจริง (จากฝั่งจีน) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าจีน - สหรัฐฯ

เพื่อแสดงจุดยืนของจีนท่ามกลางสงครามการค้าอันร้อนระอุ ภายหลังจากที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นอีกระลอก

เอกสาร White Paper ดังกล่าวของจีนเป็นการตอบโต้รายงาน Section 301 ของสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ได้แจกแจงพฤติกรรมที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและขโมยเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ ใช้รายงานดังกล่าวเป็นฐานอ้างความชอบธรรมในการเรียกเก็บภาษีสินค้าจากจีน

ทรัมป์ต้องการใช้ไพ่สงครามการค้าเป็นตัวบีบให้จีนโอนอ่อนตามสหรัฐฯ โดยปรับพฤติกรรมเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและขโมยเทคโนโลยี รวมทั้งการที่ทางการจีนอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศจนมีความได้เปรียบประเทศอื่นในเวทีการค้าโลก

แต่จีนประกาศกร้าวครับว่า จะไม่ยอมให้ใครเอาปืนมาจี้คอ และประกาศยกเลิกการเจรจากับสหรัฐฯ แถมแจกแจงรายละเอียดข้อเท็จจริงจากฝั่งจีนใน White Paper ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การค้าของทั้ง 2 ประเทศที่ผ่านมานั้น ให้ผล “Win-Win” คือสหรัฐฯ เองก็ได้ประโยชน์มหาศาลจากการค้าขายกับจีน

White Paper การค้าจีน-สหรัฐฯ

ใน White Paper นั้น จีนแสดงท่าทางรักษาความเป็นผู้ใหญ่และบรรยากาศที่ดี โดยจีนไม่ใช้คำว่า สงครามการค้า” (trade war) แต่เลือกใช้คำว่า ความขัดแย้งทางการค้า” (trade friction) แทน นอกจากนั้น ตลอดรายงานความยาว 36,000 คำ ยังไม่มีการเอ่ยชื่อประธานาธิบดีทรัมป์แม้แต่ครั้งเดียว

ในเรื่องที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่า จีนเข้ากว้านซื้อบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เพื่อหวังเอาเทคโนโลยี White Paper ของจีนอ้างตัวเลขว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ถึงปัจจุบัน มีบริษัทจีนเข้าซื้อกิจการในสหรัฐฯ รวม 232 แห่ง แต่มีเพียง 17 แห่งเท่านั้นที่เป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (แต่สหรัฐฯ ก็อาจจะคิดว่า 17 แห่งนี่ก็เยอะมากแล้ว)

White Paper ยังบอกว่าความขัดแย้งทางการค้าเป็นเรื่องธรรมชาติ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีระดับการพัฒนาและระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน (เท่ากับว่าจีนยอมรับว่าจีนมีลักษณะพิเศษหลายอย่าง) แต่จีนย้ำว่าทั้งสองฝ่ายควรมองข้อเท็จจริงว่า ในภาพรวม การค้าที่เป็นอยู่นั้นเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ zero-sum game

White Paper ของจีนยังเป็นการพยายามส่งสัญญาณบวกให้ธุรกิจต่างชาติในประเทศจีน ว่าจีนเปิดรับฟังข้อกังวลต่างๆ และพยายามเดินหน้าแก้ไข โดยจีนยืนยันว่าจะมีการเปิดภาคเศรษฐกิจต่างๆ ให้กับต่างชาติมากขึ้น

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า แม้จะโดนพิษสงครามการค้าเล่นหนัก แต่บริษัทต่างชาติที่อยู่ในจีนคงไม่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนง่ายๆ เพราะจีนมีห่วงโซ่การผลิตที่ค่อนข้างครบถ้วน มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่หากตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เท่ากับต้องไปเริ่มต้นวางแผนห่วงโซ่การผลิตกันใหม่ตั้งแต่ศูนย์ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็สู้จีนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า มีหลายบริษัทพยายามปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิต โดยอาจเน้นส่งชิ้นส่วนที่ผลิตจากจีน แต่ให้มาประกอบยังประเทศข้างเคียง เพื่อใช้ประเทศข้างเคียงเป็นฐานส่งสินค้าไปที่สหรัฐฯ แทน แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะย้ายโรงงานออกจากจีนทั้งหมดดังที่ทรัมป์ดูเหมือนจะคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น

ใน White Paper ยืนยันว่าจีนพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐฯ แต่ต้องไม่มีปืนมาจ่อหัว คือจีนจะไม่เจรจาภายใต้คำขู่เรื่องการขึ้นภาษี และจีนจะไม่ยอมให้สหรัฐฯ มาพราก สิทธิของจีนที่จะพัฒนาประเทศ” (หมายความว่า สหรัฐฯ ไม่มีสิทธิมาห้ามจีนพัฒนาเทคโนโลยีหรือยกระดับเทคโนโลยี)

จีนสรุปว่า สงครามการค้าจะทำให้จีนและสหรัฐฯ แพ้ทั้งคู่ ทำให้ห่วงโซ่การผลิตของโลกปั่นป่วน และไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

แนวทางหนึ่งที่นักวิชาการสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเสนอ คือ ต้องการให้มีการเจรจาพหุภาคีเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน แทนที่จะใช้วิธีที่ทรัมป์เล่นบทนักเลงประกาศสงครามการค้าฝ่ายเดียว (และอีกฝ่ายตอบโต้กันไปมา) ซึ่งใน White Paper นี้เอง จีนก็ได้ระบุว่าพร้อมเจรจาเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์พหุภาคีในเวที WTO

กลายมาเป็นจีนที่เล่นบทบาทเป็นผู้ปกป้องระเบียบการค้าโลก (ที่เดิมใครๆ ก็เข้าใจว่าเป็นระเบียบโลกของสหรัฐฯ) โดยจีนบอกว่า สหรัฐฯ กำลังโยนกฎเกณฑ์พื้นฐานของสังคมระหว่างประเทศทิ้ง และจีนได้ใช้ “ความอดทนและความจริงใจอย่างที่สุด” ในการทำความเข้าใจข้อเรียกร้องต่างๆ ของสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนและมุ่งแต่จะท้าทายจีน ทั้งหมดนี้จีนบอกว่า เป็นภัยคุกคามที่สำคัญกับการค้าพหุภาคี และหลักการการค้าเสรี

ใครจะคิดล่ะครับว่า วันนี้จีนดันเล่นบทเป็นพระเอกปกป้อง WTO และการค้าเสรีแทน ไม่น่าเชื่อว่าโลกจะกลับตาลปัตรเช่นนี้ได้