วิถีทุนนิยม อนาคตยูโรและยุโรป (15)

วิถีทุนนิยม อนาคตยูโรและยุโรป (15)

สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร เมื่อไร โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีนในขณะนี้

มันเหมือนเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า กระบวนการโลกานุวัฒน์ทางเศรษฐกิจ ถ้าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เศรษฐกิจโลกต้องมีกติกาและผลลัพธ์ที่ทุกคนได้ประโยชน์หรือเป็น Positive sum game ไม่ใช่ Zero sum เราเคยมีตัวอย่างมาแล้วที่ระบบล่มสลายตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1914-1945)

ที่ผ่านมา ในประวัติศาสตร์ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ในภาพใหญ่ๆ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีอเมริกาเป็นผู้นำ Hegemon ของโลกตะวันตกต่างกันค่อนข้างมากจากกติกาหรือระเบียบในช่วงศตวรรษที่ 19 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะช่วงนั้น โลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจถึงแม้จะมีความลุ่มลึกมากขึ้นมากับการเติบโตการแผ่ขยายของจักรวรรดินิยมหรือระบบการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจใหญ่ๆ จากโลกตะวันตก ซึ่งบอกถึงความไม่สมมาตรในอำนาจระหว่างจักรวรรดิกับประเทศอาณานิคมหรือระหว่างศูนย์กลางของโลกทุนนิยม (Core) ซึ่งก็คือยุโรปกับกลุ่มประเทศชายขอบเกือบทั้งหมด

พัฒนาการของโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างระหว่างภูมิภาคและความแตกต่างระหว่างประเทศของโลกในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลกของแต่ละประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงของระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาการทั้งหมดข้างต้นเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและขีดความสามารถของแต่ละประเทศ เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นโยบายทางเศรษฐกิจ ระบบการเมือง โดยเฉพาะการก่อตัวของรัฐชาติ (Nation State) หลังจากสนธิสัญญา Westphalia และความรู้สึกชาตินิยมของคนในชาติที่ตามมา

คำถามที่สำคัญ คือ ในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์ กระบวนการโลกาภิวัฒน์จริงๆ ส่งผลต่อความเจริญเติบโตในเศรษฐกิจโลกอย่างไร และเป็นเพราะเหตุใด

ในประเด็นสำคัญ ไม่ว่าที่ไหนในพื้นที่โลกมนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่โดยเฉพาะเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งก่อนหน้าหลายพันปีที่โลกมีการปฏิวัติทางการเกษตรหรือทางเศรษฐกิจ หรือหลายร้อยปีก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในปี 1800 ที่เกิดการปฏิวัติทางการค้า การพาณิชย์ (Commercial Revolution) นำโดยนครรัฐในคาบสมุทรอิตาลี มนุษย์ต้องการความก้าวหน้า ต้องการความมั่งคั่ง มองหาโอกาสและใช้มันเสมอพร้อมที่จะหาเงินทำกำไรจากหมู่บ้านท้องถิ่นภูมิภาคสู่เมืองในประเทศ และในที่สุดข้ามพรมแดนออกไปนอกประเทศ เช่น ไปสำรวจโพ้นทะเล มองในแง่นี้ไม่ว่าส่วนไหนของโลก เอเชียหรือยุโรป ระบบตลาด แรงจูงใจของเอกชน แม้กระทั่งรัฐไม่ว่าจะในเอเชีย (หรือยูเรเซีย) ยุโรป ตะวันออกกลางก่อนหรือหลังค้นพบโลกใหม่ ล้วนส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการค้า การลงทุนข้ามชาติ

เราเรียนรู้พัฒนาการของระบบทุนนิยมจากประวัติศาสตร์ว่ามันมีความหลากหลาย อย่างไรก็ตามในความหลากหลายดังกล่าว ไม่ว่าทุนนิยมนั้นจะเป็นทุนนิยมพ่อค้า ทุนนิยมอุตสาหกรรม ทุนนิยมทางการเงินขั้นสูง หรือแม้กระทั่งทุนนิยมโดยรัฐ แกนกลางสำคัญอยู่ที่การสะสมทุน การทำกำไร โดยสร้างขีดความสามารถทางตลาดเหนือบริษัทหรือประเทศคู่แข่ง ในเส้นทางและเป้าหมายดังกล่าว แต่ไหนแต่ไรมา รัฐและตลาด หรือรัฐกับเอกชนหรือทุน ไม่เคยแยกออกจากกันได้ รัฐต้องพึ่งทุน และทุนก็พึ่งรัฐ และที่ขาดไม่ได้ในความสัมพันธ์ดังกล่าวรัฐต้องทำสงคราม แม้กระทั่งเอกชน เช่น บริษัท East Indies หรือ East India ของ ฮอลแลนด์และอังกฤษเป็นรัฐภายในรัฐ ได้อำนาจจากรัฐ มีกองทัพเป็นของตนเองไปทำการค้าให้ได้เปรียบมากที่สุด ปกครองขูดรีดคนและทรัพยากรของประเทศอาณานิคม

เราอาจจะพูดได้ว่าสงคราม (และการค้า) ในยุโรปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างรัฐ จักรวรรดินิยมและอำนาจที่ไม่สมมาตรจึงมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการและผลลัพธ์การแบ่งผลประโยชน์ที่มาจากการค้าและการลงทุน

นักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธว่าผลกระทบและความลุ่มลึก ความเข้มข้นของโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจทั้งการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้าย แรงงานระหว่างประเทศมันเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ประเทศอังกฤษและมักจะเลือกช่วง ค.ศ. 1820-1914 ให้เป็นโลกาภิวัฒน์เศรษฐกิจสมัยใหม่ยุคแรก

ทำไมยุคนี้จึงสำคัญ มีเหตุผลที่สำคัญ เมื่อเทียบกับอดีต ตัวอย่างเช่น ยุคจักรวรรดิมองโกล (Pax Mongolica) ในช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ที่ครอบงำแผ่อิทธิพล ส่วนสำคัญของจีนจนเกือบจะบุกญี่ปุ่นมาทางตะวันออกกวาดล้างมีชัยชนะเหนือมุสลิมลงไปถึงอิรัก อิหร่าน ซีเรีย และพวกมองโกลส่งเสริมการค้าทำให้เส้นทางการค้าทางบกของเอเชียกลางมาแทนที่อิทธิพลที่อิสลามมีผ่านทะเลแดงและการค้าทางทะเล ขณะที่อียิปต์เสียประโยชน์จากเส้นทางสายไหม ส่วนนครรัฐอิตาลี โดยเฉพาะ เวนิช เจนัว ผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย บอลข่าน ตะวันออกกลางไปจนถึงเกาะอังกฤษและยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ เป็นต้น นักประวัติศาสตร์ เช่น Janet Abu-Lughod เชื่อว่าช่วง ค.ศ. 1250-1350 “เศรษฐกิจโลกที่สมบูรณ์รวม 7 ภูมิภาคได้เกิดขึ้นแล้ว” โดยนัยยะมันหมายถึงโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ นักวิชาการ Marxist เช่น Wallenstein มองว่าระบบทุนนิยมโลกก่อตัวเป็นขั้วศูนย์กลาง หรือ Core อยู่ที่ยุโรปและชายขอบ (Periphery) โดยเกิดขึ้นหลังการค้นพบโลกใหม่ ซึ่งต่อมาเกิดจักรวรรดิหรือผู้นำโลกตามมามากมาย อาทิ สเปน โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสหรัฐ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ที่แปลกก็คือ ระบบทุนนิยมโลกและโลกาภิวัฒน์ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดที่อังกฤษ แม้มีการค้าการลงทุนและประเทศในยุโรปออกไปล่าอาณานิคม สเปนและโปรตุเกส (ภายหลังมีประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น) แบ่งกันปกครองอเมริกาใต้เกือบทั้งหมดขูดรีดปล้นสะดม ช่วงแรกๆ ในระยะสั้นเศรษฐกิจและความเจริญดีขึ้น แต่ในระยะยาวเห็นได้ในศตวรรษที่ 17 ที่เริ่มเป็นขาลงแสดงว่าไม่ยั่งยืน ส่วนเนเธอร์แลนด์ในปลายศตวรรษที่ 18 อังกฤษเริ่มเป็นคู่แข่งทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ

ที่สำคัญที่สุดก่อนโลกาภิวัฒน์แรก 1820 ในแง่การเติบโตของรายได้ต่อหัวของยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ยุโรปยังไม่ใช่เจ้าพ่อทางเศรษฐกิจของโลกอย่างแท้จริง