มองหาโอกาสลงทุนในสงครามการค้า

มองหาโอกาสลงทุนในสงครามการค้า

ขอออกตัวก่อนครับว่า ผมไม่ได้มาเพื่อสนับสนุน หรือเห็นดีเห็นงามกับสงครามหรือการหาโอกาสจากมัน

 เพราะแม้สงครามทางเศรษฐกิจอย่างสงครามการค้าจะไม่ได้หยิบปืนมายิงกัน แต่มันส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจริงๆ เพราะกว่าฝุ่นจะหายตลบผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องพบกับความยากลำบากจริงๆ ตกงาน ขาดรายได้ ลูกออกจากโรงเรียน ฯลฯ

ตลาดมีนักวิเคราะห์เขียนอธิบายผลร้ายของสงครามการค้ากันมากมายอยู่แล้ว เพราะในทางเศรษฐศาสตร์ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มี Trade Openess สูงมาก หรือมีเศรษฐกิจที่อิงกับการค้าขายกับต่างประเทศมาก วัดจากมูลค่าส่งออกรวมกับมูลค่านำเข้าแล้วสูงถึง 125% เทียบกับ GDP  ติดอันดับที่ 24 ของโลก (จากฐานข้อมูล 160 ประเทศของ The World Bank ปี 2015) นั่นหมายความว่าเกิดอะไรขึ้นกับการค้าโลกไทยโดนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติย่อมมีโอกาสวันนี้ผมเลยอยากลองมาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ดูบ้างว่าสถานการณ์สำหรับประเทศจะเป็นอย่างไร เราในฐานะนักลงทุนจะทำอย่างไรในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยราคาไม่ถูก Forward PE(ราคาหุ้น หารด้วยกำไรในอีก 1 ปีข้างหน้า) 16X ก็นับว่าไม่ต่ำ แต่การตื่นตัวหรือตระหนักก็ไม่ได้แปลว่าต้องตระหนก เพราะ

1.       ขนาดของผลกระทบอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ในกรณีเลวร้ายที่สุด (ของจริงน่าจะเบากว่านี้) สหรัฐฯ เก็บภาษี  25% บนสินค้าจากจีนทั้งหมด (5 แสนล้านดอลลาร์) ส่วนจีนเก็บภาษี 25% บนสินค้าจากสหรัฐฯ (1.3 แสนล้านดอลลาร์) จะคิดเป็นเม็ดเงินภาษีทั้งหมด 1.6 แสนล้านดอลลาร์ที่ถูกดึงออกไปจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องแบ่งกันไปทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดย GDP สองประเทศรวมกันอยู่ที่ 32 ล้านล้านดอลลาร์ (US GDP $20Tn, China GDP $12Tn) หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP รวมเท่านั้น ไม่ได้เยอะพอจะทำให้เกิดวิกฤติแต่อย่างใด

 โดยเฉพาะผลกระทบจริงๆ อาจน้อยกว่านี้มาก เพราะเม็ดเงินภาษีที่เก็บเพิ่มมาก รัฐบาลแต่ละประเทศก็น่าจะจ่ายกลับออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ส่วนผู้บริโภคก็อาจหันไปหาแหล่งผู้ผลิตใหม่ (ถ้าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ก็คงเปลี่ยนแหล่งซื้อได้เร็ว ถ้าเป็นสินค้าเฉพาะด้านอาจต้องใช้เวลานาน) ผู้บริโภคอาจลดการซื้อของลงบ้าง แต่ในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดีอย่างสหรัฐฯ อาจจะเห็นการบริโภคไม่ลดลงนัก แต่หันไปลดการออมบางส่วนแทน ดังนั้นผลกระทบทางตรงในระรอกแลก น่าจะเกิดความเจ็บปวดต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ และจีนเป็นอันดับแรก ต่อด้วยผู้ส่งออกของทั้งสองประเทศ

2.       ผลกระทบต่อไทยยิ่งน้อยกว่านั้น ไทยน่าจะโดนหางเลข เพราะไทยส่งออกไปจีน12% สหรัฐฯ 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ซึ่งเราจะโดนผลกระทบทางอ้อมในสินค้าขั้นกลางที่เราส่งชิ้นส่วนไปประกอบต่อที่จีน (ก่อนส่งไปขายสหรัฐฯ) แต่เราก็ได้ผลทางบวก สินค้าบางอย่างที่จีนซื้อจากสหรัฐฯได้ยากขึ้น อาจมีการเปลี่ยนมาซื้อจากไทยแทน เช่นอาหาร ผลไม้ นอกจากนี้ ไทยยังมีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างกว้าง โดย 50% แรก ของการส่งออกถูกกระจายไปถึง 8 ประเทศ

3.       ผลทางบวกด้านการลงทุนในระยะยาว รายงานผลสำรวจความเห็นบริษัทสหรัฐฯ ในจีน จำนวนกว่า 430 บริษัท เมื่อต้นเดือน ก.ย. (รายงานโดยสำนักข่าว Bloomberg) พบว่า 60% เศษๆ ยังไม่มีแผนย้ายการผลิต แต่ถ้าจะย้ายจะมองภูมิภาคไหน ผลที่ได้ เรียงตามลำดับความนิยมคือ (1) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 18.5% โดยมีการเอ่ยถึงชื่อประเทศ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย (2) ประเทศอื่นๆ 10.4% (3) แถบประเทศอินเดีย 6.3% (4) กลับไปสหรัฐฯ 6.0% (5)เอเชียตะวันออก, ยุโรป, ลาตินอเมริกา กลุ่มละประมาณ 4%

ซึ่งมุมมองของ บล. ไทยพาณิชย์ เชื่อว่าสงครามการค้าน่าจะยังไม่จบเร็ว และมีโอกาสที่สองประเทศจะรุนแรงใส่กันมากขึ้น ผลที่น่ากลัวคือในช่วงสั้นจะก่อให้เกิดภาวะ wait-and-see ในบรรดาผู้ประกอบการ ส่งผลให้เกิดการชะลอของเศรษฐกิจได้ (โดยเฉพาะจีน) แต่ผลต่อตลาดหุ้นน่าจะค่อยๆ เบาลง (ตื่นข่าวน้อยลง) ส่วนในระยะยาว ภาษีที่ขึ้นใส่กัน อาจเอาลงไม่ได้ง่ายๆ (จนกว่าจะเปลี่ยนผู้นำ หรือเห็นสัญญาณ ปธน. เสียคะแนนความนิยมจากฐานเสียง) ผลของภาษีในระยะยาวคือ การเปลี่ยนแปลงของ Landscape เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การย้ายฐานการผลิตในที่สุด ซึ่ง ASEAN รวมถึงไทย ก็จัดเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจไม่น้อยในสายตานักลงทุนต่างชาติ 

ภายใต้มุมมองของเราที่เชื่อว่าสงครามการค้าอาจทำให้เกิดการชะลอตัวในช่วงสั้น ไม่ถึงกับเกิดวิกฤติ เพราะเม็ดเงินภาษีนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ดังนั้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หากตลาด panic ตื่นตระหนกขายหุ้นออกมา ก็จะเป็นโอกาสลงทุนในระยะยาวโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่า ที่รับความเสี่ยงระยะสั้นได้ โดยเรายังคงชอบหุ้นกลุ่มธนาคาร และกลุ่มตามธีม EEC ตลอดจนกลุ่มที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย