โซเชียลเครดิต:เพื่อความมั่นคง หรือคุกคามความเป็นส่วนตัว

โซเชียลเครดิต:เพื่อความมั่นคง หรือคุกคามความเป็นส่วนตัว

คึกคักกันทุกช่วงขณะ เมื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้มาเป็นวาระแห่งชาติ

และนายกรัฐมนตรีได้นั่งหัวโต๊ะเสียเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ และสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศ เป็น “การตั้งรับ” การถูกจู่โจมทางโซเบอร์ ที่สามารถส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ให้กับเศรษฐกิจ สังคม และ ความมั่นคงของประเทศ

คึกคะนองกันมากขึ้นทุกวัน สำหรับโครงการที่ทั่วโลกกำลังจับตามองของรัฐบาลจีนคือโซเชียลเครดิต (Social Credit) ที่ให้คะแนนและจัดอันดับพฤติกรรมทางสังคมกับประชาชนทุกคนในชาติ

ทั้งนี้ เป็นที่คาดคะแนกันว่า ความสูงต่ำของคะแนนรวมทั้งลำดับที่ของประชาชนแต่ละคน จะส่งผลต่อสิทธิในการใช้บริการต่างๆ และโอกาสในการเจริญก้าวหน้าของชีวิต

อาทิเช่น 1. สิทธิในการโดยสารรถไฟหรือเครื่องบิน 2. สิทธิในการเข้าพักในโรงแรม 3. สิทธิในการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 4. โอกาสที่จะถูกเลือกเข้าทำงาน 5. โอกาสที่บุตรจะได้เข้าโรงเรียนชั้นนำ รวมไปถึง การที่จะได้รับการชื่นชม หรือ ถูกประจานต่อสาธารณะ

ในเบื้องแรก โครงการโซเชียลเครดิตเป็นความล้ำยุคของการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวกับประชาชนของภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน จากหลากหลายหน่วยงานและองค์กร ด้วยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ที่พวกเราคุ้นเคยกันดี

ข้อมูลส่วนใหญ่ ที่ถูกกล่าวถึงในเบื้องแรก เป็นข้อมูลที่เป็นทางการเช่น การชำระหนี้ตามกำหนดเวลา การได้รับใบสั่งทางจราจร และข้อมูลที่อยู่ในโลกโซเชียลและหรือโลกดิจิทัล เช่นสภานภาพและพฤติกรรมในโลกออนไลน์

แต่ในเบื้องหลัง กลับกำลังถูกวิพากษ์จารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากซีกโลกตะวันตก เมื่อมีข่าวคราว ของการรวบรวมข้อมูลประชาชนด้วยกล้องวงจรปิดนับล้านตัว ที่สามารถบ่งชี้ตัวตนของประชาชนได้ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ยิ่งไปกว่านั่น สิ่งที่ซีกโลกตะวันตกต้องสะพรึงกลัว และอาจขัดต่อความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน คือ ปัญญาประดิษฐ์ของจีน ยังสามารถบ่งชี้พฤติกรรมหรือการแสดงออกทางอารมณ์ของประชาชนแต่ละคนได้อย่างอัตโนมัติ ที่ถูกบันทึกด้วยกล้องวงจรปิด เช่น บุคคลผู้นี้ กำลังทิ้งขยะในที่สาธารณะ หรือบุคคลผู้นี้มีท่าทีไม่เคารพ เมื่อกำลังร่วมทำกิจกรรมบางอย่างอยู่

เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีปัญญาดิษฐ์ ไม่เพียงแต่จะสามารถบ่งชี้ตัวตนของผู้ที่อยู่ในกล้องวงจรปิดได้อย่างแม่นยำ แต่ยังคงสามารถบ่งชี้พฤติกรรม และความรู้สึกนึกคิดที่แสดงออกจากท่าทางได้อีกด้วย

หากเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยบิ๊กดาต้าอย่างในเบื้องแรก ประชาชนของจีนก็ยังคงที่จะหลงเหลือความเป็นส่วนตัวในโลกนอกดิจิทัล แต่หากเป็นการใช้กล้องวงจรปิดและปัญญาประดิษฐ์อย่างในเบื้องหลัง พฤติกรรมทุกอย่างที่อยู่นอกบ้านก็จะไม่หลงเหลือความเป็นส่วนตัวอีกต่อไปเลย

โซเชียลเครดิตของจีน เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไซเบอร์ “อย่างเชิงรุก” เพราะในทางกลับกัน รัฐบาลจีนต้องมีความเชื่อมั่นว่า โครงการโซเชียลเครดิตจะต้องส่งผลดีให้กับ ให้กับเศรษฐกิจ สังคม และ ความมั่นคงของประเทศและเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดลงมาอย่าง ท็อป-ดาวน์ แต่จะเป็นสิ่งที่ประชาชนแต่ละคนจะต้องการหรือไม่ ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด

หลายครั้งในประเทศไทย เมื่อมีข่าวคราวของการก่ออาชญากรรม เราอาจมีความรู้สึกนึกคิดว่า อยากให้ กล้องวงจรปิด มีความชัดกว่านี้ มีจำนวนมากกว่านี้ หรือกระทั่งแค่สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีชำรุด

แต่ในวันหนึ่ง ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่ประเทศจีน เราอาจเปลี่ยนใจ และไม่อยากเห็นกล้องวงจรปิดอีกต่อไปแล้วก็ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็คงอยากให้มีจุดสมดุลย์ ระหว่างความมั่นคงปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัว

เรื่องราวดังกล่าว เป็นข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับปัญหาของการใช้เทคโนโลยีในเชิงรุก ซึ่งเป็นบริบทที่สำคัญในต่างประเทศ ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้เรื่องนี้น้อยมาก

สำหรับประเทศไทย ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ คงต้องตั้งรับให้มั่นก่อน