“เหลื่อมล้ำ” ต้องทำลาย

“เหลื่อมล้ำ” ต้องทำลาย

ได้อ่านบทความ “ประเทศไทยกำลังจะไร้คนจน” เขียนโดยคุณสุรวิทย์ วีรวรรณ (https://mgronline.com/daily/detail/9610000089334)

ไม่รู้ว่าควรจะดีใจหรือเสียใจ ปี 2558 ประเทศไทยมีอันดับความเหลื่อมล้ำอยู่ในลำดับที่ 11 ของโลก (หรือเท่ากับจำนวนเหรียญทองที่ไทยได้ในกีฬาเอเชียนเกมส์ในปีนี้) ครั้นปี 2561 ประเทศเรากลับขยายช่องแห่งความเหลื่อมล้ำ จนกระทั่งไต่อันดับมาเป็นอันดับ 3 ของโลก

บทความดังกล่าว ได้สะท้อนตัวเลขที่น่าสนใจ ไทยมีเศรษฐีในระดับพันล้านบาท 28 คน โฉนดที่ดิน 61% อยู่ในมือของคนเพียง 10% แต่ตัวเลขที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ คนไทยเพียง 1% กลับถือครองทรัพย์สินเท่ากับคนไทยรวมกัน 99%

ที่ว่ากันว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” มันคงเป็นอย่างนี้นี่เอง

ผมเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็น “คนรวย” เอาแค่มีชีวิตที่ กินอิ่ม นอนอุ่น ก็น่าจะเพียงพอ หลายคนมีรายได้พอประมาณ พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนหนังสือ และมีเงินเก็บอยู่บ้างเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

แต่ครั้นเกิดป่วยไข้ขึ้นมาจริง บอกไม่ได้หรอกครับว่าอาการจะหนักหนาแค่ไหน ปวดหัว ตัวร้อนก็คงพอใช้เงินที่เก็บงำได้บ้าง แต่เคราะห์หามยามร้ายเกิดป่วยหนัก หรือเป็นโรคร้ายที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง อย่าว่าแต่เงินที่เก็บหอมรอมริบไว้เลยครับ ที่พูดว่า “ขายวัวขายควาย ขายไร่ขายนา เพื่อเอาเงินมารักษาตัว” ไม่ใช่เป็นเพียงคำเปรียบเปรย แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านานแล้ว

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในระหว่างปี พ.ศ.2533 – 2559 วิเคราะห์ข้อมูลโดย ดร.สุพล ลิ้มวัฒนานนท์ พบว่าปี 2533 ครอบครัวไทย 7.07% เกิดวิกฤติทางการเงินภายในครอบครัวเมื่อมีคนในครอบครัวป่วย แปลว่า ในยามที่ทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพดี เศรษฐกิจในครอบครัวก็มีสุขภาพดี เมื่อมีคนป่วยเศรษฐกิจในครอบครัวก็ป่วยตามไปด้วย และมีจำนวนหนึ่งที่ป่วยถึงขั้นวิกฤติ ส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเงินภายในครอบครัวไปด้วย

วิกฤติที่ว่า ทำให้บางครอบครัวเปลี่ยนสถานะจาก “ร่ำรวย” หรือ “พอมีพอกิน” เป็น “ยากจน” ได้เลยทีเดียว ตัวเลขของครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากจ่ายค่ารักษาพยาบาลในปี 2533 อยู่ที่ 2.34% เมื่อครอบครัวที่เคยดูแลตนเองได้ กลับกลายเป็นครอบครัวที่ดูแลตนเองได้ลำบาก คนที่โดนผลกระทบโดยตรงก็คือคนในครอบครัว และย่อมส่งผลต่อสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังจากมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นในปี พ.ศ.2545 คนไทยที่ไม่ใช่ข้าราชการและประกันสังคม ก็ได้รับสิทธิจากรัฐในการเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยไม่มีค่ารักษาพยาบาลเป็นอุปสรรคเหมือนที่เคยเป็นมา ทำให้คนไทยไม่ต้องรอให้ป่วยหนักถึงจะไปโรงพยาบาล ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน จึงเกิดปรากฏการณ์คนป่วย ล้นโรงพยาบาล ในปีแรกๆ ที่เริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คุณหมอ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันอย่างหนักมากๆ (ยืนยันว่าหนักมากเพราะช่วงนั้นผมยังรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐอยู่ด้วย)

แต่ผลกระทบด้านบวกที่ตามมาพบว่า ตัวเลขครัวเรือนไทยที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาลในปี 2545 ลดลงเหลือ 4.06% และลงต่ำเหลือ 2.06% ในปี 2559 ในขณะที่ตัวเลขครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ลดลงเหลือ 1.33% ในปี 2545 และเหลือเพียง 0.3% ในปี 2559

อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำในการทำให้ประชาชนไม่ว่าจะยากดีมีจนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงนโยบายสวยๆ แต่จับต้องได้จริงและวัดผลได้

น่าเสียดายที่มีข่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้มีการจำกัดสิทธิเฉพาะคนจน หรือคนที่รัฐตราหน้าว่าจนเท่านั้นที่จะใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ นอกเหนือจากนี้จะต้องไปหาเงินมาร่วมกันจ่ายค่ารักษาพยาบาล

เชื่อว่ารัฐบาลทราบดีว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมเป็นปัญหาใหญ่และต้องรีบหาทางแก้ไข ซึ่งต้องเอาใจช่วย แต่ก็ต้องรักษาสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วให้สามารถเดินหน้าได้ต่อไป ไม่ปล่อยให้ใครต่อใครมาขุดหลุม ขุดบ่อ ปล่อยให้ระบบต้องติดหล่ม วนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหาโดยที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร

 ไม่รู้จะทำไปทำไม

โดย... 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)