บทเรียนองค์กรภาคประชากิจระดับโลก: BRAC และ Grameen Bank ***

บทเรียนองค์กรภาคประชากิจระดับโลก: BRAC และ Grameen Bank ***

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กลายเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของโลก อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากภาครัฐกิจหรือภาคธุรกิจเสมอไป

แต่อาจเกิดขึ้นโดยองค์กรภาคประชากิจ โดยเฉพาะกรณี Grameen Bank และ Bangladesh Rural Advancement Committee (BRAC) ที่ร่วมกันทำให้ระบบการเงินในระดับจุลภาค หรือไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) กลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลก

องค์กรดังกล่าวยังทำให้ประเทศบังกลาเทศที่ขึ้นชื่อว่า เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กลายเป็นประเทศต้นแบบด้านการประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) และการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ในหลายประเทศ เดินทางไปดูงาน หาประสบการณ์การทำงานและความท้าทายใหม่ๆ ตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา

BRAC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1972 โดย ฟาเซิล ฮาซาน เอเบ็ด (Fazle Hasan Abed) อดีตผู้บริหารบริษัทเชลล์ BRACเป็นองค์กรภาคประชากิจที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาในชนบท การสาธารณสุขพื้นฐาน ไมโครไฟแนนซ์ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีรายได้หลักมาจาก “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ของตนเอง และมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยเน้นไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมและโอกาสให้คนจนได้พัฒนาและใช้ศักยภาพของตนเองในเศรษฐกิจระบบตลาด

บทเรียนองค์กรภาคประชากิจระดับโลก: BRAC และ Grameen Bank ***

เริ่มแรก BRAC ทำกิจกรรมโดยพึ่งพิงเงินบริจาคทั้งหมด แต่ในปี 2013 การพึ่งพิงเงินบริจาคลดลงเหลือเพียง 23% เท่านั้น (แม้จะได้รับเงินบริจาคมากขึ้นหลายเท่าตัว แต่กิจการมีอัตราที่เติบโตสูงกว่า) และจากข้อมูล ณ ปี 2013 เครือข่าย BRAC สามารถจ้างงานในบังกลาเทศได้ถึง 119,000 ตำแหน่ง

NGO Advisor องค์กรสื่ออิสระในกรุงเจนีวา จัดอันดับให้ BRAC เป็นองค์กรภาคประชากิจที่ดีที่สุดในโลก 4 ปีซ้อน (ปี 2015 - 2018) โดยมีเกณฑ์การพิจารณา ได้แก่ ด้านนวัตกรรม การสร้างผลกระทบ และธรรมาภิบาล ซึ่ง BRAC ทำได้เป็นอย่างดี ทั้งการบุกเบิก การคิดริเริ่ม ความสร้างสรรค์ต่างๆ การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิผล และการเข้าถึงประชาชนอาสาสมัครได้จริง ส่งผลให้ BRAC มีทีมงาน และผู้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ทั่วโลก กว่า 110 ล้านคนในปัจจุบัน

ประเด็นที่ BRAC ให้ความสำคัญ ได้แก่ ไมโครไฟแนนซ์ การศึกษา สุขภาพ สิทธิทางกฎหมาย พลังสตรี และการเกษตร โดยได้ดำเนินการทั้งในรูปแบบของธุรกิจเพื่อกำไร และการประกอบการเพื่อสังคม โดยไม่แสวงหากำไร เช่น ธนาคาร มหาวิทยาลัย และ bKash 1 ใน mobile money platform ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับอีกองค์กรหนึ่ง คือ ธนาคารกรามีน ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 โดย มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yanus) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรามีนมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนยากจน โดยการสร้างระบบที่ให้สิทธิพิเศษในการปล่อยเงินกู้กับคนจน ไม่ต้องมีสัญญา และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

บทเรียนองค์กรภาคประชากิจระดับโลก: BRAC และ Grameen Bank ***

ธนาคารกรามีนออกแบบระบบการให้สินเชื่อรายบุคคลเป็นกลุ่ม 5 – 6 คน โดยไม่ต้องค้ำประกันให้กันและกัน แต่ให้กำลังใจกันและกัน ดูแลกันและกันว่าประสบปัญหาใดหรือไม่ แต่ถ้าใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มผิดนัดชำระหนี้ คนในกลุ่มที่เหลือจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการกู้เงินในครั้งต่อไป

นับตั้งแต่ปี 1976 – 2008 ธนาคารกรามีนปล่อยเงินกู้ไปทั้งสิ้น 1.8 แสนล้านบาท ให้กับครอบครัวผู้ยากไร้ในชนบทของบังกลาเทศถึง 4.4 ล้านครอบครัว และมีหนี้เสียต่ำกว่า 2% ของสินเชื่อทั้งหมด (ในเวลานั้น) ซึ่งเป็นระดับที่วงการธนาคารสากลถือว่า “ดีมาก”

แม้ธนาคารกรามีนเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากกว่า BRAC เพราะได้รับการกล่าวถึงมากกว่า อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 องค์กรนับได้ว่าเป็นองค์กรภาคประชากิจที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีต้นกำเนิดจากประเทศเดียวกัน และเริ่มก่อตั้งองค์กรในเวลาใกล้เคียงกัน รวมถึงร่วมกันแก้ปัญหาความยากจนสำเร็จในบางระดับ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอถอดบทเรียนจาก 2 องค์กรภาคประชากิจระดับโลก ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 ใช้ศักยภาพของคนในชาติเป็นหลัก โดยการสร้างงานให้กับประชาชนในชุมชน แทนการให้เงินบริจาคแก่ครอบครัวที่ยากจน ทั้ง 2 องค์กรเลือกใช้แรงงานในประเทศเป็นหลักในการทำวิสาหกิจเพื่อสังคม

ประการที่ 2 ออกแบบระบบบริหารจัดการอย่างดีเลิศ โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้คิดค้น เสนอความคิดและแนวทางใหม่ๆ รวมถึงแบ่งปันสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางภายในองค์กร นอกจากนี้ยังให้มีการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการควบคุมคุณภาพและพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศได้อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ทั้ง 2 องค์กรยังเน้นการวัดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เช่น การออกแบบระบบวัดผลการกู้ยืมและคืนเงิน จำนวนเด็กที่ได้รับการศึกษา การกระจายอาหาร เครื่องดื่มหรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างทั่วถึง การเปรียบเทียบเงินเดือนและค่าแรงกับประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละธุรกิจ เป็นต้น

ประการที่ 3 ขยายขอบเขตการทำงานไปทั่วประเทศและต่างประเทศ ธนาคารกรามีนมีสาขากว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการหมู่บ้านกว่า 51,000 แห่ง (3 ใน 4 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ) และความสำเร็จของธนาคารกรามีน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับธนาคารเพื่อผู้ยากไร้อีก 250 แห่ง ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

ขณะที่ BRAC มีเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศถึง 17 กิจการที่ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ เช่น นมวัว ของใช้ประจำวัน เสื้อผ้า หัตถกรรม และร้านค้า Aarong เป็นต้น ทั้งนี้ แนวคิดการดำเนินกิจการแบบ BRAC นี้ยังสามารถขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ อีก 11 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ศรีลังกา ปากีสถาน แทนซาเนีย ยูกันดา ซูดานใต้ ลิเบอเรีย เซียร์รา ลีโอน เฮติ และฟิลิปปินส์

ประการที่ 4 ยืนหยัดเพื่อความยั่งยืน หมายถึง การยืนหยัดในอุดมการณ์และดำเนินตามเป้าหมายอย่างชัดเจน กล่าวคือ ธนาคารกรามีนกับ BRAC ทำงานร่วมกันภายใต้ข้อสมมติที่ว่าชาวบังกลาเทศมีความสามารถ โดยให้ความสำคัญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่าเรื่องวัตถุสิ่งของ ทั้ง 2 องค์กรจึงมีจุดยืนที่จะต้องอยู่ให้ได้ด้วยเงินของตัวเอง และด้วยประชาชนในประเทศเป็นกำลังหลัก

ในช่วงเริ่มก่อตั้ง องค์กรทั้ง 2 จึงหลีกเลี่ยงการบริจาคที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในประเทศ และจะรับเฉพาะเงินบริจาคที่ให้เปล่าเท่านั้น และจากการยืนหยัดในจุดยืนนี้มามากกว่า 30 ปี โครงการส่วนใหญ่ของ BRAC จึงมีทุนสนับสนุนของตนเอง แม้จะมีค่าใช้จ่ายทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี ทว่ามากกว่า 75% ของงบประมาณมาจากวิสาหกิจเพื่อสังคมขององค์กร และกลายเป็นกุญแจสำคัญขององค์กรที่ทำให้ได้รับการจัดอันดับดีที่สุดของโลก

ผมหวังว่าบทเรียนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรภาคประชากิจไทย ให้เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพ จนกลายเป็นพลังที่เข้มแข็งในการสร้างชาติต่อไป

*** ชื่อเต็ม: 

บทเรียนองค์กรภาคประชากิจระดับโลก:

Bangladesh Rural Advancement Committee(BRAC) และ Grameen Bank