5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ

5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ช่วงนี้ตลาดหุ้นก็ยังอยู่ในภวะผันผวนต่อเนื่องแม้ว่าจะเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น

โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ได้รับข่าวบวกเรื่องความคืบหน้าในการเลือกตั้ง แต่ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะทิศทางและผลลัพธ์ที่จะออกมาจากผลการเจรจาเรื่องสงครามการค้าก็ยังเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนทุกๆคนยังคงให้ความสำคัญอยู่

ช่วงนี้ก็เริ่มเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีกันแล้ว วันนี้ผมอยากเขียนเรื่อง 5 ปีสุดท้ายก่อนการเกษียณ ซึ่งในที่นี้อยากมุ่งเน้นประเด็นเรื่องของการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมของความมั่งคั่งสู่วัยเกษียณ โดยประเด็นจะครอบคลุมถึงการตรวจพอร์ต การปรับพอร์ต การปรับทรัพย์สินและหนี้สิน และการจัดเตรียมเครื่องมือดูแลหลังเกษียณ

โดยประเด็นแรกคือเรื่องของการตรวจพอร์ตการลงทุนของเราว่าเพียงพอต่อการเกษียณหรือยัง โดยเช็คจากเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเงินกองทุนบำเน็จบำนาญ เงินลงทุนในกองทุน LTF/RMF เงินลงทุนและเงินออมอื่นๆ แล้วมาเทียบกับเงินที่ต้องมีก่อนเกษียณ ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 5 ล้านบาท ณวันที่เราจะเกษียณ ส่วนจะเป็นเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงินในแต่ละเดือนและจำนวนปีหลังเกษียณ (ตลอดจนผลตอบแทนที่เราจะนำเงินหลังเกษียณไปลงทุน) หรือตัวเลขคร่าวๆคือ ต้องมี 10 ล้านบาทต่อค่าใช้จ่ายทุกๆ 50000 บาทต่อเดือน ซึ่งถ้าใครยังเห็นว่าเงินในกองทุนของเรายังไม่เพียงพอก็คงต้องจัดหาเงินจากแหล่งอื่นๆเข้ามาเพิ่มเติม

ประเด็นที่สองคือการปรับพอร์ตในช่วงใกล้เกษียณพอร์ตการลงทุนไม่ควรมีความเสี่ยงมากจนเกินไป โดยหากพอร์ตของเรามีสินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้นทั้งในและต่างประเทศ หรือทองคำมากเกินกว่าร้อยละ 60 ควรทำการปรับสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงลงและปรับเพิ่มสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยลง เช่นเพิ่มสัดส่วนกองทุนรีทส์ หรือกองทุนรวมตราสานหนี้เป็นต้น เพราะถ้าเกิดเหตุวิกฤติขึ้นเรายังสามารถมั่นใจว่าพอร์ตของเรายังคงอยู่ในสถานะที่ไม่เสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูและเติบโตไปสู่เป้าหมายที่เราวางเอาไว้ได้

ประเด็นที่สามคือเรื่องของการปรับทรัพย์สินและหนี้สินของเราให้สอดคล้องกับชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งตัวเปรหลักคือหนี้สิน โดยเราต้องเตรียมการบริหารจัดการหนี้สินที่เรามีอยู่ให้หมดไปก่อนที่เราจะเกษียณ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเงินผ่อนบ้าน(หลังหลักหรือหลังรอง) รถ ห่รือภาระการส่งเสียเลี้ยงดูบุตร หรือญาติที่ต้องมี ส่วนทางด้านทรัพย์สินนั้นอาจจะสำคัญน้อยลงมาแต่อาจพิจารณาว่าทรัพย์สินใดที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือมีสภาพคล่องหรือความจำเป็นน้อยเราอาจพิจารณาขายออกและเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ เช่นค่าเช่า หรือเปลี่ยนเป็นพอร์ตการลงทุน ด้านที่อยู่อาศัยอาจพิจารณาปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ดีเพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระในการซ่อมแซมหรือต่อเติมขยายในช่วงหลังเกษียณ และปรับปรุงให้เหมาะสมกับชีวิตหลังเกษียณมากยิ่งขึ้นเช่น เรื่องของความปลอดภัยในห้องน้ำ ทางเดินขึ้นลง เป็นต้น หรือทรัพย์สินที่เป็นรถยนตร์เป็นเช่นกัน

ประเด็นที่สี่ คือเรื่องของเครื่องมือที่ต้องมีหลังเกษียณ ที่สำคัญคือเรื่องของประกัน ทั้งนี้จุดมุ่งหมายคือเพื่อให้เรามั่นใจว่าเรามีพอร์ตที่จะดูแลด้านสุขภาพของเราไปตลอดช่วงหลังเกษียณ เรื่องของประกันสุขภาพนั้นเป็นทั้งภาระ(ที่เราต้องส่งเบี้ยประกันในทุกๆปี) และเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่สำคัญที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่(อาจ)จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มากน้อยเพียงใด ดังนั้นเรื่องการเลือกซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเลือกให้ดีและเหมาะสม โดยต้องไม่เป็นภาระและต้องเพียงพอในภาวะฉุกเฉิน สุดท้ายคือการเตรียมตัวในเรื่องของการจัดพอร์ตการลงทุนของเราเพื่อให้มีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายหลังเกษียณ ทั้งพอร์ตที่ลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดรายได้ เช่นค่าเช่า เงินปันผล เป็นต้น ท้ายสุดเรื่องของการเตรียมการส่งต่อทรัพย์สินสู่ทายาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนและจัดเตรียมให้ดีไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบก่อนหรือหลังจากที่เราจะเสียชีวิต

ครับสุดท้ายก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนครับ