การปฏิรูประบบภาษี และรัฐสวัสดิการของไทย

การปฏิรูประบบภาษี และรัฐสวัสดิการของไทย

ระบบภาษีคือเครื่องมือสำคัญที่สุดของรัฐบาลในการหารายได้มาบริการและพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นธรรม ควรเก็บในอัตราก้าวหน้า

ปัจจุบันรัฐบาลไทยพึ่งภาษีทางอ้อมจากการบริโภค ซื้อสินค้า เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร สรรพสามิต ฯลฯ มากที่สุดราว 56.5% ถัดมาคือภาษีรายได้จากบุคคลและนิติบุคคลเก็บได้ราว 43.2% ส่วนภาษีจากทรัพย์สินเก็บได้น้อยมาก แค่ราว 1%

ภาษีจากการบริโภคเป็นภาษีทางอ้อม ถือว่าไม่เป็นธรรม ภาษีมูลค่าเพิ่มทุกคนเสี 7% เท่ากันนั้น ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของแต่ละคน คนรวยจ่ายภาษีเทียบเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของเขาต่ำกว่าคนจน (ที่มีรายได้ต่ำ)

ภาษีรายได้ที่เก็บจากเงินเดือนบุคคลเก็บในอัตราก้าวหน้า คือคนที่มีเงินเดือนสูง เสียในอัตราสูงพอสมควร แต่อัตราสูงสุดอยู่ 35% ต่ำกว่าสวีเดน ยุโรป ที่อยู่ราว 50-60% และของไทยมีการหักลดหย่อนได้มาก เช่น ซื้อกองทุน ITF, LTF ซื้อประกันชีวิต ฯลฯ ภาษีนิติบุคคลพวกบริษัทต่างๆ ก็เก็บในอัตราราว 20-30% ไม่ได้เก็บในอัตราก้าวหน้า

ไทยควรจะเพิ่มภาษีจากทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด อาคารสำนักงาน รถยนต์ เรือยอร์ช ฯลฯ และรายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย ผลกำไร เงินปันผล การได้รับมรดก การได้มาโดยเสน่หา การหากำไรจากการขายทรัพย์สินรวมทั้งหุ้น ในอัตราก้าวหน้า และยกเว้นสำหรับคนที่จำเป็น เช่น บ้านที่อยู่อาศัยในที่ดินขนาดเล็ก ดอกเบี้ยเงินฝากในจำนวนไม่สูงนักสำหรับผู้เกษียณอายุ

ปัจจุบันไทยเก็บภาษีได้ราว 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขณะที่ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีระบบสวัสดิการที่ดี เก็บได้ราว 40-50% ของ GDP ผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกเคยประเมินว่าไทยมีศักยภาพที่จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้เป็น 25% ของ GDP การปฏิรูประบบภาษีจะช่วยให้เกิดการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่เป็นธรรม และทำให้มีงบประมาณไปใช้ให้บริการทางสังคมและสวัสดิการสังคม รวมทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทางการศึกษา สุขภาพอนามัย ฯลฯเพื่อพัฒนาคุณภาพประชาชน

นอกจากรายได้จากภาษีแล้วรัฐยังมีรายได้จากการให้สัมปทานพลังงาน เหมืองแร่ ให้เช่าคลื่นความถี่ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งของไทยรายได้ส่วนนี้ยังต่ำอยู่ โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ถ้ามีการปฏิรูปในเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น การปฏิรูปในเรื่องนี้ต้องเน้นการลดการเอื้อประโยชน์ธุรกิจเอกชน และคำนึงถึงผู้บริโภค สุขภาวะของประชาชนในระยะยาวด้วย

ในด้านรายจ่ายเพื่อประชาชน รายการที่สำคัญคือ การศึกษาและสาธารณสุข ควรปฏิรูปการบริหารจัดการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึงมากกว่านี้ แม้โรงเรียนประถมและมัธยมต้นของรัฐจะเรียนฟรีหรือมีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่โรงเรียน 3 หมื่นกว่าแห่งยังมีคุณภาพแตกต่างกันมาก ลูกคนจนมักได้เรียนโรงเรียนคุณภาพต่ำ ลูกคนรวยได้เรียนโรงเรียนคุณภาพสูง ซึ่งมีอยู่แค่ 300แห่งในเมืองใหญ่ ลูกคนรวย คนชั้นกลาง สอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียงได้ โดยเสียค่าเล่าเรียนต่ำกว่าม.เอกชน เพราะรัฐให้เงินอุดหนุนเฉพาะม.รัฐ ถ้ารัฐจ่ายเป็นคูปองการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษาทุกคนเท่ากัน ก็จะมีความเป็นธรรมในการให้สวัสดิการด้านการศึกษามากกว่า คนที่เลือกไปเรียนเอกชนอาจต้องจ่ายเพิ่มบางส่วน

บริการด้านการรักษาพยาบาลโดยรวมแล้วยังมีหมอ บุคลากรทางการแพทย์น้อย โรงพยาบาลใหญ่ต้องรอคิวนาน แพทย์ทำงานหนัก ค่ายาที่สั่งเข้าหลายอย่างยังแพงเกินไป ทำให้ทั้งรัฐ/ประชาชนต้องเสียเงินค่ายามาก ควรเน้นเรื่องป้องกันมากกว่านี้ ให้ประชาขนมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงสารเคมี สารที่เป็นพิษ ออกกำลังกาย พักผ่อนเพียงพอ มีสภาพแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้ควรปฏิรูประบบการผลิตและการสั่งเข้ายาเพื่อทำให้ยามีราคาถูกลง ควบคุมค่ารักษาพยาบาลรพ.เอกชน ไม่ให้สูงเกินไป ปฏิรูประบบประกันสุขภาพ ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันและเป็นธรรม คนมีรายได้มากควรจ่ายเบี้ยประกันสูงกว่าคนมีรายได้น้อย

ในแง่โครงการสังคมสงเคราะห์ และโครงการช่วยเหลือคนจนผ่านหน่วยงานรัฐมีค่าใช้จ่ายสูง ประสิทธิภาพต่ำ มีการทุจริตรั่วไหล ควรยกเลิกโครงการส่วนใหญ่เอางบมาจ่ายคืนภาษีให้ประชาชนรายได้ต่ำโดยตรง จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ลดการทุจริตได้ ปัจจุบันรัฐจ่ายเงินให้คนสูงอายุ คนพิการ เด็กเล็กถึง 3 ขวบ ราวคนละเดือนละ 600 บาท ซึ่งยังต่ำ และอย่างเรื่องเด็กเล็กมีเงื่อนไข ต้องเป็นคนที่มีผู้รับรอง มีการลงทะเบียนทำให้มีการตกหล่นราว 30% ควรจ่ายเด็กทุกคนแบบถ้วนหน้า ถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ต้องมาตรวจสอบเรื่องรายได้ของพ่อแม่ ควรจ่ายให้เด็กเล็กถึงอายุ 6 ขวบ และควรจ่ายเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นได้ด้วย

ปัจจุบันรัฐบาลใช้เงินช่วยคนจนโครงการประชารัฐ โครงการกองทุนต่างๆ รวมแล้วราวปีละ 1.5 แสนล้านบาท เป็นการช่วยผ่านหน่วยราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งค่าบริการจัดการสูง มีประสิทธิภาพต่ำ รั่วไหล ทุจริตโครงการบัตรสวัสดิการคนจนที่รายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี มีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการมี 11.6 ล้านคน รัฐบาลให้เป็นสิทธิไปซื้อของที่ร้านค้าบางแห่งเพียง 200-300 บาทต่อเดือน และให้ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟรี ซึ่งคนจนจำนวนมากไม่จำเป็นต้องใช้

ถ้ายกเลิกโครงการเหล่านี้ เอางบไปจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากคนจนที่มีบัตรสวัสดิการ 11.6 ล้านคนโดยตรง จะได้คนละ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยพวกเขาได้ตรงเป้ามากกว่า และลดการทุจริต ลดค่าใช้จ่าย เงินเดือน สวัสดิการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ

ถ้าปฏิรูปทั้งระบบภาษีและระบบหารายได้จากสัมปทาน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น พอที่จะจ่ายคนยากจนคนละ 3,000 บาทต่อเดือนได้ เงิน 3,000 บาทต่อเดือนคือเส้นความยากจนที่สภาพัฒนาฯ คำนวณว่า พอจะใช้ซื้ออาหารการกินที่ให้พลังงาน พอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำอยู่ดี แต่อย่างน้อยเป็นการประกันรายได้ขั้นต่ำ คนจนยังคงต้องไปหางานทำ หารายได้เพิ่มเติม แต่เงินสวัสดิการส่วนนี้ก็จะช่วยพวกเขาได้พอสมควรโดยเฉพาะคนที่ไม่มีงานหรือทำงานไม่ได้แล้ว

การคืนภาษีให้ประชาชนที่รายได้ต่ำเป็นรายเดือนในต่างประเทศมีการทดลองทำกันในหลายชุมชนหลายโครงการ และพบว่าเป็นวิธีการช่วยพัฒนาคนจนที่ได้ผล และเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าโครงการรัฐสวัสดิการประชาสงเคราะห์ผ่านหน่วยงานราชการ ของไทยยิ่งน่าจะเห็นผลได้ชัดเจน