เมื่อ ‘เจเน็ต เยลเลน’ สอนมวยเฟดรุ่นน้อง

เมื่อ ‘เจเน็ต เยลเลน’ สอนมวยเฟดรุ่นน้อง

ความยากของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในช่วงนี้ที่ไม่ว่าจะเป็น Trade War หรือ วิกฤติตลาดเกิดใหม่โหมกระหน่ำ

กลายเป็นสิ่งที่รุ่นพี่ประธานเฟดรุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นเบน เบอร์นันเก้ หรือ เจเน็ต เยลเลน ได้ออกมาชี้ช่องทางออกสำหรับปัญหาหรือความไม่มีประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงิน ในยุคที่ขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดยังสูงกว่าปกติถึง 2-3เท่า นั้น เนื่องจากเฟดได้ซื้อพันธบัตรระยะยาวเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐให้หลุดจากวิกฤติการเงินโลกเมื่อ 10 ปีก่อน ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวว่า Zero Lower Bound หรือ ZLB ซึ่งแน่นอนว่า ผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นหรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ย่อมแตกต่างจากในช่วงที่เฟดมีขนาดงบดุลในระดับปกติ

ข่าวร้ายสำหรับนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด คือจากผลการวิเคราะห์ของคณะวิจัยของเฟดเอง ประเมินว่าหากเฟดใช้แนวทางในการขึ้นดอกเบี้ยแบบที่ธนาคารกลางทั่วๆ ไปใช้กันในปัจจุบัน อาทิ การประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อสูงหรือต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย และ อัตราว่างงานในขณะนี้สูงหรือต่ำกว่าอัตราการว่างงานที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจหรือที่นักวิชาการมักเรียกกันว่าอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ แล้วขึ้นหรือลดดอกเบี้ยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 2 เพียงมิติเดียว ผลการวิจัยดังกล่าว ประเมินว่า จะมีช่วงเวลาถึง 40% ของเวลาทั้งหมดที่นโยบายการเงินเฟดจะไม่ได้ช่วยสนับสนุน ให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ

ที่มากไปกว่านั้น จะทำให้ปริมาณผลผลิตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่ำกว่าผลผลิตที่เหมาะสมมากกว่า 1% หากดำเนินนโยบายการเงินแบบที่ใช้กันอยู่ในตอนนี้ติดต่อกัน 60 ไตรมาส ดังรูป

เมื่อ ‘เจเน็ต เยลเลน’ สอนมวยเฟดรุ่นน้อง

เมื่อ ‘เจเน็ต เยลเลน’ สอนมวยเฟดรุ่นน้อง

ที่มา: ฝ่ายวิจัย ธนาคารกลางสหรัฐ

อาจกล่าวได้ว่า หากนายพาเวล ยังดำเนินนโยบายการเงินด้วยกลยุทธ์แบบที่ทำอยู่ เศรษฐกิจสหรัฐ จะเดินเครื่องแบบไม่เต็มที่ได้ถึง 40% ของช่วงเวลาทั้งหมด และต้นทุนที่ต้องจ่ายคือจีดีพีที่ะเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ราว  1%

แล้วทางเยียวยามีอะไรบ้าง ทีมวิจัยของเฟดชุดนี้ แนะนำให้ อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายเท่ากับ 3% แทนที่จะเป็น 2% ดังเช่นที่ใช้กันทั่วไป สามารถช่วยปัญหานี้ได้เพียงบางส่วน ทว่าไม่มีใครอยากทำเนื่องจากจะทำให้ความน่าเชื่อถือหรือ credibility ของเฟดจะลดลง หากไม่ประสบผลสำเร็จ หรือกล่าวอักนัยหนึ่งว่ายังเสี่ยงเกินไปไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ไม่แน่ว่าจะได้รับจริงไหม

ในขณะที่นายเบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดอีกท่าน แนะนำวิธีให้ใช้ระดับราคาหรือระดับการเติบโตจีดีพีเป็นเป้าหมายหลักของธนาคารกลางแทน ทว่าเมื่อได้ประเมินผลดีผลเสียของวิธีดังกล่าว ปรากฎว่าหลายฝ่ายมองว่าน่าจะไม่ใช่สิ่งที่เฟดควรที่จะนำไปปฏิบัติในขณะนี้

อย่างไรก็ดี แนวทางที่ดูจะค่อนข้างใหม่และน่าสนใจในขณะนี้ ได้แก่ วิธีที่นางเยลเลน อดีตประธานเฟด แนะนำรุ่นน้องอย่างนายพาเวล ในการบริหารอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้นั้น ได้แก่วิธี lower-for-longer หรือ makeup strategy โดยได้รับอิทธิพลจากงานของนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ไอเดียมีอยู่ว่า ในช่วงที่เฟดอยู่ในช่วงที่ต้องทำ QE ย่อมจะต้องดำรงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจในภาวะปกติ ตามการลดระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายให้ต่ำลงกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงปกติเพื่อให้เศรษฐกิจหลังวิกฤติใหม่ๆ สามารถที่จะพอเดินต่อไปได้

โดยที่วิธี Makeup Strategy แนะนำว่าให้เฟดเก็บข้อมูลว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายระยะยาวมีอยู่มากน้อยเท่าใด ที่ฝรั่งเรียกตรงนี้ว่า Shortfalls เพื่อรอให้ถึงเวลาที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี เฟดก็จะชดเชยด้วยการตั้งให้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายสูงกว่าอัตราเป้าหมายระยะยาว ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจน Shortfalls นี้ถูกกำจัดให้เท่ากับศูนย์ ซึ่งแนวทางนี้ให้ใช้กับระดับของการเติบโตจีดีพีด้วย ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายจีดีพีเป้าหมายให้สูงขึ้นเพื่อขจัด Shortfalls ถือเป็นการท้าทายให้องค์ประกอบต่างๆของจีดีพีเติบโตสูงขึ้นกว่าในอดีตที่เป็นช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติ

ด้วยวิธีการนี้ นางเยลเลนเชื่อว่ากลไกที่ว่าจะสามารถผลักให้นโยบายการเงินน่าจะมีพลังจากความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ที่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในภาวะปกติได้เร็วกว่าการใช้กฎของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ที่พึ่งพาข้อมูลอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานว่าจะห่างจากเป้าหมายมากน้อยแค่ไหนเพียงมิติเดียว