เมื่อครูอยู่ได้ด้วยการขายเลือด

เมื่อครูอยู่ได้ด้วยการขายเลือด

สัปดาห์นี้ นิตยสารไทม์ ขึ้นปกด้วยรูปสตรีพร้อมกับข้อความ 2 ประโยค พิมพ์ด้วยอักษรขนาดใหญ่

ซึ่งสื่อไทยบางสำนักคงนำมาเสนอเช่นเดียวกับที่พูดถึงกันในสื่อสังคมเฟสบุ๊ค ข้อความสั้นๆ นั้นบ่งว่า ครูในสหรัฐเงินเดือนต่ำจนทำให้มักชักหน้าไม่ถึงหลัง ครูสตรีที่นิตยสารนำมาขึ้นปกเป็นการยกตัวอย่าง เธอจบปริญญาโท ทำงานมา 16 ปี แต่ค่าตอบแทนยังต่ำส่งผลให้เธอต้องทำงานพิเศษอีก 2 แห่ง ซ้ำร้ายยังต้องขายเลือดเป็นระยะๆ จึงจะมีรายได้พอสำหรับจับจ่ายในชีวิตประจำวัน

เมื่อครูอยู่ได้ด้วยการขายเลือด

สำหรับผู้ที่มีความฝังใจว่า สหรัฐร่ำรวยมากอาจจะงงเพราะ คงไม่เชื่อว่าครูในสหรัฐโดยทั่วไปจะตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น แต่ผู้ที่ติดตามความเป็นไปในวงการศึกษาของสหรัฐจะไม่แปลกใจ เพราะสภาพดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันมานานว่ามันส่งผลเสียหายใหญ่หลวงแก่การศึกษาระดับพื้นฐานหรือไม่ และจะทำอย่างไร การถกเถียงกันยืดเยื้อ ทั้งที่เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า ผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาระดับพื้นฐานในสหรัฐต่ำกว่าของนับสิบประเทศ ทั้งประเทศก้าวหน้ามากและประเทศก้าวหน้าเพียงปานกลาง ย้อนไปเกือบ 20 ปี เมื่อจอร์จ ดับเบิลยู บุช เริ่มเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกได้มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในนามของคำขวัญ “ไม่มีเด็กถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” แต่ผลยังคงเดิม ด้วยเหตุนี้จึงมีมหาเศรษฐี เช่น บิล เกตส์ ทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์เวลาและสติปัญญาเพื่อช่วยหาทางแก้ปัญหาซึ่งพวกเขามองว่าสาหัสยิ่ง

เหตุปัจจัยที่ส่งผลให้ครูในสหรัฐได้รับค่าตอบแทนต่ำ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับพื้นฐานตามหลังหลายประเทศ เป็นประเด็นสลับซับซ้อนที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ สหรัฐใช้ระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น โดยทั่วไปประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจใช้งบประมาณและการเก็บภาษี ตามทฤษฎี เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาซึ่งรวมถึงค่าตอบแทนครูต่ำ ผลสัมฤทธิ์ย่อมต่ำด้วย

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติระบอบประชาธิปไตยมิได้เป็นไปตามอุดมการณ์ กลุ่มมหาเศรษฐีมักมีโอกาสเข้าถึงอำนาจมากกว่าประชาชนทั่วไป และใช้โอกาสนั้นเพื่อกลุ่มของตน รวมทั้งการเก็บภาษีในอัตราต่ำซึ่งย่อมมีผลกระทบต่องบประมาณการศึกษา แต่พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาได้ด้วยการส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำ ซึ่งอาจเก็บค่าเล่าเรียนสูงกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนเสียอีก ในช่วงนี้มีหนังสือ 2 เล่ม นำความบิดเบี้ยวของระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐด้วยน้ำมือของชนชั้นมหาเศรษฐีออกมาตีแผ่ คือ Billionaires: Reflections on the Upper Crust เขียนโดย Darrell M. West และเรื่อง The Givers: Wealth, Power, and Philanthropy In a New Gilded Age เขียนโดย David Callahan

ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของเหตุปัจจัย การแก้ปัญหาจะเริ่มตรงไหนเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ คอลัมน์นี้เคยพูดถึงหนังสือขายดีเกินคาดเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ของ Thomas Piketty และเรื่อง The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future ของนักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล Joseph Stiglitz ทั้ง 2 เล่ม พูดถึงปัญหาสาหัสสืบเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำซึ่งจะต้องแก้ไข มิฉะนั้นอาจจะเกิดการเข่นฆ่ากันในอนาคต ทว่าจะแก้อย่างไรในเมื่อมหาเศรษฐีกลุ่มเล็กๆ เป็นผู้คุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง จริงอยู่ในกลุ่มมหาเศรษฐียังมีคนจำพวกบิล เกตส์และคณะ ผู้ยินดีเสียภาษีและบริจาคทรัพย์สินจำนวนมหาศาลเพื่อการศึกษา แต่ส่วนใหญ่มิสนใจที่จะทำเช่นนั้น ตรงข้าม กลับยิ่งมุ่งเน้นที่จะทำเพื่อกลุ่มของตนเอง

นั่นเป็นบ้านเขา หากหันมาดูบ้านเรา ภาพด้านการศึกษาไม่น่าจะต่างกันมาก นอกจากยังไม่มีข่าวเรื่องครูไทยต้องขายเลือดเพื่อดำรงชีวิตทั้งที่มีหนี้สินระดับท่วมท้นกันอย่างแพร่หลาย ทางเศรษฐกิจ ของเขาก้าวหน้ากว่าและระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่งซึ่งของเรายังต้องรอต่อไป ในด้านความเหลื่อมล้ำ ตัวเลขที่พอหาได้ชี้บ่งว่าของเราสาหัสกว่า ซ้ำร้ายยังไม่มีมหาเศรษฐีที่มีจิตวิญญาณคล้ายบิล เกตส์ และคณะ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมองได้ว่าการแก้ปัญหาของเราจะยากลำบากกว่าของเขามาก ส่วนเรื่องเราจะเริ่มแก้ตรงไหน คงต้องให้เริ่มตรงความเหลื่อมล้ำเพราะหากไม่เริ่มทำอย่างจริงจังในเร็ววัน เป็นไปได้สูงว่าคนไทยจะเข่นฆ่ากันเองก่อนชาวอเมริกัน และอาจจะก่อนครูไทยต้องขายเลือดเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน