ริโอ เดจาเนโร วันนี้

ริโอ เดจาเนโร วันนี้

ริโอ เดจาเนโร (Rio De Janeiro) เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของบราซิล ผู้คนรู้จักที่นี่มากกว่าเมืองใดของประเทศ

แม้จะไม่ใช่ศูนย์กลางการปกครองแบบ Brasilia เมืองหลวง หรือศูนย์กลางเศรษฐกิจเทียบเท่า Sao Paulo แต่ ริโอ ก็เป็นกลไกหลักที่สำคัญกว่าอื่นใดของประเทศเหมือนที่นิวยอร์ก หรือซิดนีย์เป็นให้กับสหรัฐ ฯ และออสเตรเลียตามลำดับ ขณะที่บราซิลกำลังเผชิญวิกฤตทุกด้านค่อนข้างหนัก สถานการณ์ของริโอ เป็นเรื่องที่น่าจับตามองและอาจมาใช้คาดการณ์อนาคตของมหาอำนาจแห่งอเมริกาใต้ประเทศนี้ได้

ริโอ (หรือคนท้องถิ่นออกเสียงว่า ฮิโอ) มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ก่อตั้งเมืองในปี 1565 ภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะแก่งแทรกซอนในอ่าว Guanabara ปกป้องขุมกำลังและทำประโยชน์ของโปรตุเกส เจ้าอาณานิคมในยุคนั้นอย่างมหาศาล ทั้งลิสบอนและแอตแลนติกใต้รุ่งเรืองก็เพราะริโอนี่เอง แม้ในเวลาต่อมาบราซิลยุคจักรวรรดิและสาธารณรัฐก็ยังให้ริโอเป็นเมืองหลวง จนถึงเมื่อปี 1960 นี่เองที่ย้ายเมืองหลวงลึกเข้าไปตอนในของประเทศ เพื่อยกระดับรัฐตอนในให้เจริญเทียบเท่ารัฐชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และด้วยความที่ริเป็นศูนย์กลางของแทบทุกสิ่งทางสังคมจิตวิทยา จึงไม่แปลกใจเลยที่เมื่อจัดฟุตบอลโลกปี 2014 และโอลิมปิกปี 2016 ในบราซิล เจ้าภาพก็ต้องเป็นริโอ เดจาเนโร แต่นั่นเป็นจุดเริ่มของการถดถอยอย่างรุนแรงของบราซิล

บราซิลเมื่อทศวรรษที่แล้วเป็นประเทศที่พุ่งแรงทางเศรษฐกิจมาก สมค่าของการเป็นหนึ่งในกลุ่ม BRICS ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนสำคัญมาจากฝีมือของประธานาธิบดีในเวลานั้น Lula Inacio Lula da Silva ที่ใช้แนวทางประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างได้ผล จนบางปีโตถึง 7.5 % แต่นายลุล่าก็เหมือนกับอดีต นรม.ทักษิณที่มีคนรักคนชังขนาดหนัก เขากำลังติดคุกข้อหาคอรัปชั่น แต่ผู้จงรักภักดีต่อเขายังมีมหาศาล ขณะที่ฝ่ายเกลียดก็บอกว่าเป็นเพราะการโกงของเขาและพรรคพวกที่ทำให้เศรษฐกิจบราซิลตกต่ำ ทุกวันนี้มีนักการเมืองนับร้อยต้องติดคุกหรือถูกดำเนินคดี รวมทั้งประธานรัฐสภา แต่บรรยากาศของการทุจริตยังครอบงำงบประมาณของประเทศอยู่ และทำให้ไม่ฟื้นตัวสักที

ที่ริโอ หนักกว่านั้น การเป็นเจ้าภาพกีฬาสำคัญสองแห่งที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลทำเอาหมดตัวไปทั้งประเทศ  ผู้ว่าการรัฐในเวลานั้นก็โกงจนติดคุก กอปรกับราคาน้ำมันขาลงทั่วโลกทำให้ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกอย่างบราซิลยิ่งตกอยู่ในภาวะวิกฤต ปัญหาความมั่นคงของริโอคือปัญหาโจรที่อาศัยอยู่ในสลัมบนเขา (Favela) ที่มีเครือข่ายใหญ่โตซับซ้อน ค้ายาและมีอาวุธหนักครบมือ สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่บนภูเขา บวกกับภาวะว่างงาน ยิ่งเพิ่ม จำนวนโจรหน้าใหม่ให้ลงมาหากินตามบริเวณตีนเขา ชายหาดและในเมือง คดีฆ่ากันตายพุ่งสูงปรี๊ด แต่ละปีบราซิลมีคนถูกฆาตกรรมถึงปีละกว่า 60,000 คน ริโอรุนแรงที่สุด

ริโอเป็นเมืองใหญ่ต้นตำหรับของสลัมบนเขาที่มีมาตั้งแต่ปี 1870 ตอนนั้นประเทศพึ่งเสร็จศึกใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาใต้ คือสงครามกับปารากวัย (Paraguay War) ไพร่พลโดนปลดประจำการ ไมมีเงินไม่มีที่ไป เลยมาตั้งถิ่นฐานกันบนเขาในเมืองริโอ ติดกับกระทรวงสงคราม หรือปัจจุบันคือ หน่วยบัญชาการทหารภาคตะวันออก (CML) ฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพบราซิล เมื่ออยู่กันอย่างแออัด ขาดการไยดี ก็ย่อมมีมาเฟียเจ้าพ่อและอาชญากรรม

ในเมืองสถานการณ์หนักจนตำรวจธรรมดาเอาไม่อยู่ ทหารก็ต้องช่วยมาบูรณาการการปฏิบัติภายใต้(CML) ตั้งแต่ ก.ค.ปีกลาย มีทั้งการสนธิกำลังขึ้นไปกวาดล้างบนเขาและลาดตระเวนทางน้ำสกัดกั้นการขนยาเข้าเมือง แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ ผู้ว่าการรัฐคนปัจจุบันเลยร้องขอเมื่อ ก.พ.ปีนี้ให้ประธานาธิบดีอนุมัติภาวะฉุกเฉิน ส่งทหารมาช่วยอีก 5,000 น โอนงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ให้ CML จัดหาทั้งอาวุธ ยานยนต์ และโปรแกรมดึงชุมชนออกจากแก๊งค์ ผลก็คือ มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับโจรมากขึ้น ผู้ร้ายตายและถูกจับเยอะขึ้น และความสงบก็กลับคืนมาระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเขตทางใต้ของเมืองที่เรียกว่า Zona Sul ค่อนข้างปลอดภัย คนเดินตามชายหาด Copacabana อันโด่งดังได้สบายใจขึ้น

การรักษาความสงบยังเป็นเรื่องใหญ่ของริโอไปอีกอย่างน้อยก็ถึงสิ้นปีนี้ สารวัติทหารปรากฏอยู่ทุกถนน สร้างความอุ่นใจให้ประชาชน ในสถานที่นักท่องเที่ยวเยอะและมีคนจรจัดมาก เช่น ท่าเรือ ตรอกร้านอาหารดัง สนามกีฬา หรือสถานที่กิจกรรมกลางแจ้ง ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาก

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินที่ตกลงไปทุกที สองเดือนมานี้เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ตกลงไปไม่น้อยกว่า 15% ค่าน้ำมันขายปลีกที่แพงขึ้น ขณะที่ค่าครองชีพสูง นั้นทำให้ริโอไม่แจ่มใสเลย ต่างหวังกันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนหน้า และนักท่องเที่ยวที่จะทยอยกันมาเมื่ออุณหภูมิ สูงขึ้นปลายปี จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในปีหน้า