จากอำนาจสูงสุดเป็นของพระผู้เป็นเจ้าสู่อำนาจอธิปไตยของปวงชน

จากอำนาจสูงสุดเป็นของพระผู้เป็นเจ้าสู่อำนาจอธิปไตยของปวงชน

เป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า อำนาจการเมืองการปกครองควรจะอยู่ที่ใคร

 ซึ่งในสมัยกรีกโบราณมีนักปรัชญาการเมืองนามว่า เพลโตมีแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองรัฐ มองอย่างกว้างๆ จะมีระบบการปกครองในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ 1. การปกครองโดยคนคนเดียว โดยใช้กฎหมาย เพลโตเรียกว่า Monarchy แต่ถ้าไร้กฎหมายเพลโตเรียกว่า Autocracy หรือ Tyranny 2. ปกครองโดยคนไม่มากคน โดยใช้กฎหมาย เพลโตเรียกว่า Aristocracy แต่ถ้าไร้กฎหมาย เรียกว่า Oligarchy 3. ปกครองโดยคนส่วนมากหรือส่วนใหญ่ โดยใช้กฎหมาย เพลโตเรียกว่า Good Democracy หรือ Good Government แต่ถ้าไร้กฎหมาย เรียกว่า Bad Democracy หรือ Extreme Democracy

เมื่อสิ้นยุคกรีก มาถึงยุคโรมันอิทธิพลของปรัชญาการเมืองกรีกก็ยังคงอยู่ นักรัฐปรัชญาในเพศนักบวช ได้แก่เซนต์ ออกุสติน ยังมีแนวคิดตามรอยเพลโตของกรีก และซิเซโรของโรมัน แต่แนวคิดแสดงออกในรูปเทววิทยา ซึ่งกล่าวถึงพระผู้เป็นเจ้า และความสัมพันธ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับโลก ซึ่งถือได้ว่ามีส่วนทำให้ศาสนาคริสต์มีอิทธิครอบงำผู้คนเป็นอย่างมาก พระสันตะปาปาที่กรุงโรมเดิมทีเดียวก็อ้างว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระผู้เป็นเจ้า แต่ต่อมาพระสันตะปาปาจึงทึกทักเอาว่า ด้วยการวิวรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้ถ่ายโอนอำนาจของพระองค์มาไว้ที่องค์สันตะปาปา ดังนั้น ในยุโรปยุคนี้ไม่มีใครจะมีอำนาจมากกว่าพระสันตะปาปาที่กรุงโรม

ต่อมาในยุคกลาง คือ หลังยุคกรีกและโรมัน นักปรัชญาในรูปของนักบวชก็มีเซนต์ ธอมัส อควินาส์ ยุคนี้ นับเป็นยุคที่ถือลัทธิทางวิชาการนิยม ซึ่งเป็นลัทธินิยมที่เฟื่องฟูมาก อควินาส์ มีแนวคิดทางการเมือง การบริหาร การปกครอง เดินตามรอยแนวคิดของอริสโตเติลแห่งกรีกเช่นกัน เขาได้ทำให้วิชารัฐศาสตร์ หรือวิชาการเมืองของอริสโตเติล ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแนวคิดทางการเมืองของยุโรป และเป็นที่ยอมรับกันจนถึงปัจจุบันว่าปรัชญากรีก คือบ่อเกิดแห่งภูมิปัญญาตะวันตกอย่างแท้จริง

อควินาส์มีความเชื่อเช่นเดียวกับอริสโตเติลที่เชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและสัตว์การเมือง และรัฐเป็นแหล่งให้กำเนิดมนุษย์ และอีกเช่นกัน อควินาส์เห็นด้วยกับอริสโตเติลที่ว่า หลักกฎหมายก็เหมือนกับหลักเหตุผล ยุคนี้ถือเป็นยุคแห่งวิชาการนิยม เป็นยุคแห่งศรัทธาผสมเหตุผล ปรัชญาของอควินาส์มีสหสัมพันธ์กันกับวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์มีปรัชญาเป็นแนวคิดพื้นฐาน ปรัชญาได้สร้างกฎแห่งการใช้สติปัญญา และกฎแห่งความสมเหตุสมผลสากลให้เป็นเครื่องมือของวิทยาศาสตร์

นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เซนต์ ธอมัส อควินาส์ ยังอ้างเหตุผลสนับสนุนอำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปา โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า ความผาสุกอันสูงสุดของประชาชนพลเมือง ต้องเป็นความผาสุกที่เกิดทางจิตวิญญาณ จึงจะเป็นความสุขที่แท้จริง ซึ่งทำให้รัฐตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของศาสนจักรอยู่ต่อไป ที่เห็นได้ชัดในยุคนี้ คือ รัฐมีความสำคัญน้อยกว่าศาสนา ฝ่ายศาสนาจักรได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักร

จากยุคกลางก็มาถึงยุคฟื้นฟู ในยุคกลางนั้น มีการเปรียบเทียบกันว่าโรมันหรืออิตาลีประดุจเป็นยุค “มืด” ทางปัญญา เพราะมีการขัดแย้งกันอย่างแรงระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร ถึงกับมีนักปรัชญาชื่อ ดังเตเสนอให้ “พบกันครึ่งทาง” ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร ในยุคฟื้นฟู ยุโรปเฟื่องฟูในด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรมเป็นอันมาก ศาสนจักรกับอาณาจักรมีความ “ปรองดอง” กันดีมาก ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเอง อาณาจักรทำนุบำรุงประชาชนในด้านความผาสุกทางกาย ส่วนศาสนจักรเอื้ออำนวยความสุขทางจิตวิญญาณ

อย่างไรก็ตาม ในยุคฟื้นฟูนี้ มีผู้กล้าท่านหนึ่ง นามว่านิคโดโล มาเคียเวลลี่ ได้คัดค้านทัศนคติดังกล่าวข้างต้น และท้าทายอำนาจสูงสุดของศาสนจักร การคัดค้านศาสนาได้งอกงามเจริญเติบโตขึ้น ทั้งได้เป็นรากฐานทางทฤษฎีใหม่แห่งรัฐ อาณาจักรและศาสนจักรมีท่าทีว่าจะขัดกันขึ้นอีก หลังจากปรองดองกันได้ในสมัยดังเต มาเคียเวลลีเห็นว่า การเมือง วิทยาศาสตร์ และศาสนาของชาวอิตาเลี่ยน ควรจะเป็นอิสระจากการครอบงำของศาสนาจักร

มาเคียเวลลี อ้างเหตุผลว่า คริสต์ศาสนาทำให้กิจกรรมทางการเมืองของประชาชนพลเมืองอ่อนเปลี้ย การเมืองควรจะมีความเป็นอิสระจากศาสนาจักร เขาได้ปูพื้นฐานทางการเมืองขึ้นใหม่ โดยการสร้างทฤษฎีการเมืองให้เป็นอิสระจากศาสนจักร แนวคิดของมาเคียเวลลี ได้สร้างรัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมาใหม่ คือ ทฤษฎีอำนาจอธิปไตย ได้มีการศึกษากันอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางในเวลาต่อมา และบุคคลที่ได้สานงานของมาเคียเวลลีต่อก็คือ จัง โบแดง ที่กล่าวว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์โดยไม่ยำเกรงอำนาจของพระสันตะปาปา มิหนำซ้ำยังได้กล่าวยืนยันในทัศนคติของเขาว่า “รัฐต้องตั้งอยู่บนสัญญาประชาคม ซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนได้ถ่ายทอดไปให้ผู้ปกครองเป็นผู้ปฏิบัติแทน”

อิทธิพลแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้รับการขานรับเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยใหม่ นักปรัชญาการเมืองที่ขานรับเป็นคนแรกได้แก่ จอห์น ล็อค และตอกย้ำโดยชอง จาคส์ รุสโซ ซึ่งเป็นเจ้าทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของประชาชน ถือเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตย โดยเน้นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน รัฐบาลที่ดีต้องมาจากประชาชน และรัฐบาลต้องสัญญากับประชาชนว่าจะดูแลให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา ประชาชนมีสิทธิล้มล้างรัฐบาลได้ สรุปได้ว่าแนวคิดของ จอห์น ล๊อค และ ชอง ชาคส์ รุสโซ มีแนวคิดประชาธิปไตยที่ตรงกันมากที่สุด คือรัฐบาลที่ดีต้องมาจากประชาชน

 แนวคิดของทั้ง 2 ท่านได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลกไม่ต่างจากแนวคิดของมองเตสกิเออร์ว่า ด้วยการแบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย เพราะแนวคิดดังกล่าวยังได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทยเกือบทุกฉบับ นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และแนวคิดนี้เองทำให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทุกครั้ง หลังรัฐประหารจะช้าหรือเร็วก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะอำนาจอธิปไตยที่จริงมิได้เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือบุคคลคณะใดคณะหนึ่ง ทว่าเป็นของปวงชนชาวชาวไทยนั่นเอง. 

 โดย... 

ดร.มานพ พรหมชนะ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์