การลงทุนเรื่องความปลอดภัยทางถนนในเชิงเศรษฐศาสตร์

การลงทุนเรื่องความปลอดภัยทางถนนในเชิงเศรษฐศาสตร์

แม้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการบังคับใช้กฎระเบียบการจราจรและการรักษาพยาบาล แต่อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยนั้น

ยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ในแต่ละปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรกว่า 24,000 คน เกิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุซึ่งเป็นภาระของประเทศ เห็นได้จากสื่อมวลชนการนำเสนอความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีองค์กรหลายแห่งที่ออกมารณรงค์หาทางแก้ไขปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนนี้

ทั้งนี้ อุบัติเหตุบนท้องถนน มีราคาด้านสังคมและเศรษฐกิจแฝงอยู่ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้จากแค่ตัวเลขสถิติอุบัติเหตุเท่านั้น เรื่องอุบัติเหตุจราจรเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องสุขภาพและความท้าทายด้านการพัฒนาต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องจัดลำดับความสำคัญไปพร้อมๆ กัน

ผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากอุบัติจราจรส่วนใหญ่ มักอยู่ในวัยทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสาเหตุการเสียชีวิต และการเป็นบุคคลทุพพลภาพระยะยาวของประชากรวัย 15-29 ปี เกิดจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุด อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการสูญเสียสุขภาพที่ดีที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยังไม่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนในประเทศกำลังพัฒนายังทำได้ไม่ดีนักและมักใช้การเทียบเคียงตัวเลขกับประเทศที่มีรายได้สูง การขาดความรู้ในเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลไม่สามารถตั้งลำดับความสำคัญของนโยบายการจัดการเรื่องความปลอดภัยทางถนนโดยการวางแผนด้านสุขภาพ การคมนาคม และการพัฒนาเมืองยังได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

เพื่อลดช่องว่างดังกล่าว ธนาคารโลกได้จัดทำรายงานเรื่อง “The High Toll of Traffic Injuries: Unacceptable and Preventable” โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ รายงานนี้คาดการณ์ผลกระทบจากความปลอดภัยบนถนนที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และวิเคราะห์กรณีศึกษาจากประเทศจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และประเทศไทย การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก ซึ่งได้ให้ทุนกว่า 259 ล้านเหรียญ ในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา การลดอัตราการเสียชีวิต การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ผลการศึกษายังพบว่าหากอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงได้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตและรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ประชาชนยังจะได้รับสวัสดิสังคมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับประเทศไทย การลดอัตราการบาดเจ็บทางถนนในปัจจุบันให้เหลือครึ่งหนึ่ง สามารถแปลงเป็นรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงขึ้นถึง 22% ในระยะเวลา 24 ปี แม้ว่าการศึกษานี้จะประมาณการณ์การขยายตัวของการจราจรและเครื่องยนต์ไม่สูงนัก แต่ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจความเกี่ยวข้องของการบาดเจ็บบนถนนกับเรื่องเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้าม หากประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปีพ.ศ. 2573 อาจทำให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกเหนือจากผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภาพของประเทศแล้ว การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนยังมีผลให้เกิดการสูญเสียทั้งแก่บุคคลและสวัสดิการสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทุนมนุษย์ต่อไปได้ ผลกระทบในด้านนี้ มักจะถูกมองข้าม ผลจากการศึกษาจาก 5 ประเทศนี้พบว่า มูลค่าที่สังคมยินดีจะจ่ายเพื่อลดอัตราการบาดเจ็บจากจราจรทางถนนให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในเวลา 24 ปีนั้นสูงถึง 6-32% ของจีดีพีเลยทีเดียว

รายงานนี้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการป้องกันการสูญเสียชีวิตผู้คนและการสูญเสียด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกันกับรายงานเล่มอื่นๆ ประสบการณ์จากประเทศทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า การนำนโยบายที่มีประสิทธิภาพและการเข้าแทรกแซงมาปรับใช้นั้นจะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร รวมถึงลดผลกระทบต่อสังคมได้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนเท่าเทียมกับด้านสุขภาพ เนื่องจากผลกระทบในเรื่องนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกับประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ อีกทั้ง ระบบสุขภาพของประเทศต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้โดยตรงเช่นเดียวกับเรื่องด้านสุขภาพอื่นๆ

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องสำคัญหลายประการ ทั้งการลดโรคติดต่อ การลดอัตราการเสียชีวิตของมารดา และการเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย การร่วมมือกันทำงานเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนนี้จะนำประโยชน์ระยะยาวทั้งด้านสาธารณสุข ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน

โดย ... 

นายดิพาน บู๊ส 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งอาวุโส ธนาคารโลก