ผ่า Timeline ปัจจัยเสี่ยง.. ตลาดเกิดใหม่

ผ่า Timeline ปัจจัยเสี่ยง.. ตลาดเกิดใหม่

เมื่อเทียบวิกฤติครั้งนี้ ตลาดเกิดใหม่หรือ EM กับวิกฤติที่ผ่านมา มีข้อดีที่ว่าเบากว่า คือในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ถือว่ากระจายกว่า

เพราะที่ผ่านมากว่า 20 ปีก่อน วิกฤติจะกระจุกที่ดินแดนอเมริกาใต้ แต่ครั้งนี้นั้น มีตุรกี อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และอเมริกาใต้ ถือว่าค่อนข้างกระจาย ตรงนี้อาจเป็นจุดที่ถือว่าดีกว่าครั้งที่ผ่านมา

แต่ที่ดูเสี่ยงกว่ามีอยู่ 2 จุด คือ จุดแรก โดยปกติที่ผ่านมา เรามักไม่ค่อยเห็นค่าเงินดอลลาร์แข็งพร้อมกับราคาน้ำมันที่ขึ้นมาแรง โดย 1-2 เดือนที่ผ่านมาถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่ดอลลาร์แข็งและราคาน้ำมันก็ขึ้นแรงพร้อมกันแบบต่อเนื่อง ในมุมของตลาดเกิดใหม่ซึ่งปกติจะนำเข้าน้ำมันและเป็นหนี้ต่างประเทศ คือมีทั้งนำเข้าน้ำมันและเป็นหนี้ต่างประเทศในสกุลดอลลาร์ เมื่อดอลลาร์แข็งและราคาน้ำมันขึ้นพร้อมกัน ประเทศที่มีความอ่อนแอเดิมถือว่าโดน 2 เด้ง ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นครั้งแรกๆ เพราะปกติดอลลาร์กับน้ำมันจะสวนกัน แต่ครั้งนี้ขึ้นไปแบบพร้อมกัน

จุดที่ 2 สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง นักเก็งกำไรมีเครื่องมือที่ซับซ้อนและหลากหลายกว่าเดิม ซึ่งใช้เครื่องมือในลักษณะ Forward หรือ Short Position ตอนนี้พวก Block Trade ตราสาร ETF นักลงทุนสถาบันถือว่าใหญ่กว่าเดิมมาก ส่งให้นักเก็งกำไรมีพลังมากขึ้นกว่าเดิม

ถ้าลองเช็กดูว่าไทม์ไลน์ 4 เดือนต่อจากนี้ EM ต้องเจออะไรอีกค่อนข้างเยอะ ถ้าไล่ตั้งแต่ ก.ย.- ธ.ค. EM จะพบว่า

ด่านแรก เริ่มจากวันที่ 25-26 ก.ย.นี้ ซึ่งมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นนั้น คงไม่ใช่ประเด็น แต่ท่าทีที่ว่าเฟดจะขึ้นต่อแค่ไหนเป็นต้องจับตา เพราะยิ่งถ้าประธานเฟดอยากจะขึ้นต่อเยอะๆ จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งขึ้นไปอีก ก็จะไปซ้ำเติมวิกฤต EM ให้รุนแรงขึ้นมาอีก

ด่านที่สอง ในเดือน ต.ค. มี 2 ค่ายกล เริ่มจาก การเลือกตั้งบราซิล ในขณะนี้รุนแรงถึงขนาดว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีโดนแทงข้างหลังด้วยมีดจริงระหว่างการหาเสียง การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าได้ประธานาธิบดีที่ดำเนินนโยบายที่ไม่ค่อยเข้ารูปเข้ารอยในเชิง Macro บราซิลก็น่าจะเป็นรายต่อไป บราซิลเป็นประเทศที่ใหญ่มากใน EM ถ้าเป็นอะไรต่อไป วิกฤติ EM จะเข้มข้นขึ้นในอีกมิติหนึ่ง

ค่ายกลที่สอง ในเดือนหน้า คือ สงครามการค้ามาถึงจุดแตกหัก เนื่องจากผู้นำสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างดราม่า Trade War ครั้งนี้เพื่อการเลือกตั้งในต้นเดือน พ.ย. ดังนั้น เดือน ต.ค.จึงถือเป็นเดือนจุดไคลแมกซ์ โดยถ้ามีการตั้งกำแพงภาษีกับจีนอีก 2 ครั้งอีกครั้งละราวๆ 2 แสนล้าน แน่นอนว่าวิกฤติ EM จะเกิดขึ้นรุนแรงกว่านี้อีกหลายเท่า โดยถ้าประกาศสักล็อตหนึ่งก็กระเทือน EM แล้ว ทว่าถ้าประกาศกำแพงภาษี 2 ล็อตเกิดขึ้นเต็มรูปแบบแน่นอน

ด่านที่สาม เดือนพ.ย. คือการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ซึ่งตรงนี้ถ้ามีการยกเลิกการส่งออกน้ำมันของอิหร่านอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันจะยิ่งขึ้น หากลองสังเกตดูถ้าราคาน้ำมันขึ้นมาแรงเมื่อไหร่ วิกฤติ EM ค่อนข้างปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากมี 2 แรง คือทั้งดอลลาร์และน้ำมัน

และด่านสุดท้ายในปีนี้ คือ เฟด โดยตอนนี้ โอกาส 50:50 ว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ซึ่งสมมติว่ามีการขึ้นดอกเบี้ยจริงดอลลาร์จะแข็งขึ้นไปอีก จริงๆ มีการประกาศตัวเลขการจ้างงานว่าค่าแรงของสหรัฐเมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ก่อน ขึ้นมา 2.9% ถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี ค่อนข้างเป็นจุดทำให้เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ตัวค่าจ้างขึ้นมาอย่างชัดเจนว่าขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ขึ้นมาแบบลงบ้างสลับฟันปลาไปมา

สำหรับตลาดเกิดใหม่นั้น โอกาสที่จะเกิดวิกฤติระหว่างทางที่ให้ประเมินตอนนี้ให้ประมาณครึ่งหนึ่งที่ EM ไม่สามารถไปต่อได้ ในช่วงถึงสิ้นปีนี้ให้ 50:50 ถ้าผ่านปีนี้ไปได้ โอกาสที่วิกฤติ EM จะเกิดขึ้นถือว่าน้อยกว่านี้ เนื่องจากปัจจัยทั้ง Trade War และเรื่องของเฟดที่จะขึ้นในเดือน ธ.ค. มารวมตัวกันในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ถ้า EM ผ่านได้จริง ปีหน้าโอกาสที่จะเกิดวิกฤต EM น่าจะเหลือ 20-30% จาก 50% ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

แล้วเมืองไทยจะเป็นอะไรไปหรือเปล่านั้น ผมมองว่าเมืองไทยมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนกับวิกฤติ EM โดยรอบนี้ จุดแข็งของเรา คือ สำหรับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ต่างชาติส่วนหนึ่งมองว่าไทยไม่โดนกระทบมากนัก เนื่องจากมีสินค้าหลายผลิตภัณฑ์ เหมือนกับของจีนที่อเมริกาตั้งกำแพงภาษีกับจีน ส่งผลให้สินค้าเหล่านี้ของไทยที่ผลิตเหมือนกันสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น แต่ข่าวร้าย คือ มูลค่าส่งออกไทยในครึ่งปีหลังน่าจะชะลอตัวลง เพราะว่า GDP คู่ค้าของเราชะลอตามไปด้วย และสำรองเงินตราระหว่างประเทศของไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะลดลงด้วย เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องไปป้องกันค่าเงินเพราะว่าดอกเบี้ยไทยยังคงที่อยู่และคาดว่าคงที่ถึงสิ้นปี

แต่ถ้าสังเกตตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 สัปดาห์เมื่อกว่า 2 เดือนที่ผ่านมาที่ลงมาค่อนข้างแรง ปรากฏการณ์ที่ว่านั้นน่าจะเกิดขึ้นอีก โดยเราจะรอดพ้นแรงกระเพื่อมภายนอก อาจจะทำได้เพียงชั่วคราว และถ้าเกิดขึ้นอีกแบงก์ชาติต้องป้องกันค่าเงินโดยนำเงินสำรองเงินตราระหว่างต่างประเทศไปกู้ ทำให้สำรองเงินตราระหว่างต่างประเทศลดลง การส่งออกของเราชะลอตัวลง สำรองเงินตราระหว่างต่างประเทศลดลง จะส่งผลให้ภาพใหญ่ Macro ของเรานั้น แม้จะไม่ถึงขั้นแย่แต่ก็ดีน้อยลง ถ้าสมมติวิกฤต EM แรงมาก เราก็น่าจะโดนหางเลขด้วย ถ้ามองเป็นโอกาส EM รอบใหญ่เรียกว่าทั่วโลกปะทุขึ้นมา ผมเชื่อว่าโอกาสครึ่งหนึ่งที่จะโดนไปด้วย เงื่อนไขที่เราจะโดนหนักๆ ทั้งตลาดหุ้นและการส่งออกด้วย EM ที่มันแรงมากเท่านั้น ถ้าวิกฤติไม่แรง เรามีภูมิคุ้มกันเพราะเราได้ผลดีจาก Trade War ในส่วนนหึ่ง แต่ถ้าภาพใหญ่ EM ปะทุขึ้นมาเราก็รอดยาก ถ้าให้โอกาส EM ปะทุครึ่งหนึ่ง หากเกิดวิกฤต EM มาแบบเต็มๆ จากนั้นโอกาสของเราก็โดนกระทบคือครึ่งหนึ่งเช่นกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า เรามีโอกาสครึ่งหนึ่งที่รอดตัวหลังจากวิกฤต EM มาแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งนั่นหมายถึงเศรษฐกิจจีนโดนผลกระทบไปด้วยเท่านั้น