เมื่อ Blockchain ปฏิวัติวงการกฎหมาย

เมื่อ Blockchain ปฏิวัติวงการกฎหมาย

เดิมทีหากกล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เรามักนึกถึงการทำงานของ Cryptocurrency สกุลต่างๆ ซึ่งบทบาทของ Blockchain

ในระยะเริ่มต้น คือการนำมาใช้กับระบบการเงินดิจิทัล แต่ในปัจจุบัน Blockchain ถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจจิวเวลลี่ ธุรกิจการค้าและการขนส่ง ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกฎหมาย 

Blockchain คืออะไร?

Blockchain คือ ระบบจัดการข้อมูลในลักษณะการกระจายข้อมูล (decentralized) ไปยังคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่ในเครือข่าย (peer-to-peer) โดยระบบจะตั้งเงื่อนไขให้การจัดเก็บข้อมูล ที่ป้อนเข้าไปใหม่ในแต่ละครั้ง ต้องได้รับความยินยอมจากคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบก่อน และเมื่อได้รับความยิมยอมแล้ว ข้อมูลที่ใส่เข้ามานั้นจะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Immutability)

โดยในส่วนของการบันทึกข้อมูล คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบจะถือชุดข้อมูลแบบเดียวกัน ซึ่งเปรียบเสมือนทุกคนถือสมุดบัญชีเล่มเดียวกัน และหากมีการเพิ่มข้อมูลเข้ามาใหม่ในแต่ละครั้ง ข้อมูลจะถูก update ไปยังสมุดบัญชีเล่มดังกล่าวที่ทุกคนในระบบถืออยู่ (distributed leger) ซึ่งเท่ากับว่าทุกคนจะมี copy ของข้อมูลนั้นเหมือน ๆ กัน

ดังนั้น การทำงานของ Blockchain จึงแตกต่างกับการจัดการข้อมูลของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน กล่าวคือ ระบบคอมพิวเตอร์จะมีการรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ที่ server ซึ่งการดูแล server จะเป็นหน้าที่ของตัวกลาง โดยตัวกลางในที่นี้ คือ หน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลและควบคุมข้อมูล

ซึ่งต่างจากหลักการของ Blockchain ที่ใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายผ่านการบันทึกข้อมูลในลักษณะบัญชีเล่มเดียว ซึ่งเป็นการสร้างฐานข้อมูลในรูปแบบบัญชีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ข้อมูลไม่ได้รวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่อยู่กับทุกคนในระบบ 

การสร้างสัญญาแบบ Smart Contract บน Blockchain

คือ การสร้างเงื่อนไขหรือข้อตกลงตามสัญญา (ไม่ต่างไปจากการทำสัญญาในรูปแบบกระดาษ) แต่เงื่อนไขที่สร้างจะถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบรหัส code ซึ่งบันทึกไว้ใน Blockchain โดยการตั้งเงื่อนไขใน Smart Contract ของคู่สัญญาจะเป็นการทำธุรกรรมระหว่างกันแบบอัตโนมัติ (Automated) เช่น หากมีการชำระราคาแล้วให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ หรือ หากราคาหุ้นขึ้นถึงระดับ XY ให้ระบบสั่งขายทันที เป็นต้น

ดังนั้น ในมุมกฎหมาย Smart Contract คือ การนำเจตนาเสนอ-สนองของคู่สัญญามาแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้สัญญามีผลทันทีที่เจตนาของทั้งสองฝ่ายต้องตรงกัน ซึ่งสำหรับผู้เขียนสัญญาในแบบดิจิทัลนี้ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียในการปรับใช้

สำหรับข้อดี เป็นการสร้าง Trust protocol ระหว่างคู่สัญญา กล่าวคือ เมื่อระบบไม่อนุญาตให้แก้ไขข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ใน Blockchain ย่อมเป็นการลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงเอกสารและการบิดเบือนถ้อยคำในสัญญา แต่ในทางกลับกัน Smart Contract มีลักษณะอัตโนมัติ ดังนั้น สัญญาประเภทที่มีเนื้อหาซับซ้อน มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในสัญญามาก (เช่น “คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เพราะเหตุสุดวิสัย ให้ถือว่า…”) อาจยังไม่เหมาะกับการจัดทำในรูปแบบ Smart Contract เท่าไรนัก 

เมื่อศาลนำ Blockchain มาใช้ในการพิจารณาคดี

“Court of Blockchain” เป็นแนวคิดในการปฏิวัติวงการศาลในประเทศดูไบ กล่าวคือ มีการจัดทำข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการพิจารณาคดีความของศาลให้รองรับการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งขอเสนอดังกล่าวไม่เพียงแต่ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย แต่ศาลจะต้องเข้าใจกลไกของ Blockchain เพื่อนำมาปรับใช้ในกระบวนการพิจารณาคดีในด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น การสร้างแนวทางในการระงับข้อพิพาทให้กับศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับการตีความคอมพิวเตอร์ code ในสัญญาประเภท Smart Contract, การนำ Blockchain มาสร้าง Platform เพื่อแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในคดีระหว่างประเทศ (Cross-border Enforcement) และการใช้ Blockchain ในการบันทึกข้อมูลหรือจัดเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาอันเป็นการลดขั้นตอนในการผลิตเอกสารซ้ำซ้อน 

Blockchain เป็นพยานหลักฐาน ที่ศาลรับฟังได้

จากข้อเท็จจริงที่ว่า การบันทึกข้อมูลใน Blockchain นั้น “ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” ทำให้ข้อมูลทั้งหลายที่ถูกบันทึกไว้ใน Blockchain มีที่มาที่ไปชัดเจนและเป็นการสร้างหลักฐานที่ง่ายต่อการติดตาม

 ด้วยลักษณะพิเศษของ Blockchain นี้ ศาลสูงในประเทศจีนจึงยอมรับข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ใน Blockchain ว่าเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายและสามารถใช้ประกอบการพิจารณาคดีได้ โดยศาลสูงได้กำหนดหลักการให้ศาลอินเทอร์เนต (Internet Court) ทั่วประเทศจีนยอมรับข้อมูลดิจิทัลที่คู่ความได้ใช้ประกอบการพิจารณาคดี หากข้อมูลดิจิทัลนั้นได้ถูกบันทึกไว้ในระบบ Blockchain ซึ่งสามารถพิสูจนได้ว่ามีการลงเวลา (Timestamp), มีการใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital signature) และข้อมูลได้ผ่านกระบวนการ Hash Function (การย่อหรือทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้นฉบับให้สั้นลง) แล้ว

 โดยคู่ความที่จะใช้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวในกระบวนการพิจารณาคดี จะต้องสามารถพิสูจน์องค์ประกอบทางเทคโนโลยีและความยืนยันความถูกต้องของข้อมูลให้ชัดเจนด้วย ศาลจึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า Blockchain คือเทคโนโลยีแห่งอนาคต และจะปฏิวัติการดำเนินงานของทุกวงการในรูปแบบเดิมไม่เว้นแม้แต่วงการกฎหมาย นักกฎหมายรุ่นใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงในบริบทนี้

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]