งานสำเร็จได้แม้พฤติกรรมแตกต่างกัน

งานสำเร็จได้แม้พฤติกรรมแตกต่างกัน

ผู้บริหารสไตล์หมอดูทั้งหลาย ชอบป่าวประกาศให้ผู้คนปรับเปลี่ยนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

พอเห็นเด็กเกิดน้อยลงก็ไปบอกว่าให้สถาบันการศึกษาหันมาสอนคนเฒ่าคนแก่แทน ซึ่งดูเผินๆ แล้วเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกับสถาบันการศึกษา เพราะดูจะช่วยให้มีรายได้จากคนเล่าเรียนกลุ่มใหม่ๆ แต่ถ้ารีบร้อนปรับเปลี่ยนมาสอนคนเฒ่าคนแก่ เหมือนกับที่เคยสอนคนหนุ่มคนสาว โดยไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด พฤติกรรมการสอนที่เคยใช้สำหรับคนหนุ่ม เมื่อนำมาใช้กับคนเฒ่าคนแก่จะเป็นอย่างไรบ้าง คงไม่ยากเกินกว่าจะคาดเดาได้ ที่หนักไปกว่านั้น คือ คนเฒ่าคนแก่ที่พยายามทำพฤติกรรมให้ดูเหมือนวัยรุ่นในสถาบันการศึกษานัั้น น่าชื่นชมหรือไม่เพียงใด สุดแล้วแต่จะวินิจฉัยกันเอาเอง

ตำราหลายเล่มบอกไว้ตรงกันว่า พฤติกรรมที่เราพบเห็นจากคนใดคนหนึ่งนั้น เปรียบได้กับยอดของภูเขานำ้แข็งมหึมา คือเราเห็นเฉพาะส่วนที่พ้นนำ้ทะเลขึ้นมา ฐานภูเขามหึมาที่อยู่ใต้นำ้นั้น เรามองไม่เห็น คล้ายๆ กับที่เราพูดกันมาว่า เห็นหน้าไม่รู้ใจ นั้นแหละ ผู้บริหารที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้มักดีอกดีใจที่ผู้เขาทำนั่นทำนี่ ตามแบบที่ตนอยากเห็น ยอดภูเขานำ้แข็งนั้น ท่านจะสลักเป็นรูปอะไรก็ได้ สลักเป็นต้นผักชีก็ได้ แต่เรือแล่นมาชนยอดภูเขานำ้แข็งที่เห็นเป็นต้นผักชี เรือก็แตกอยู่ดีเพราะชนกับฐานภูเขา ไม่ได้แค่ชนนำ้แข็งรูปผักชี

พฤติกรรมของแต่ละคน ในการงานใดการงานหนึ่งนั้น เริ่มจากความคิดของแต่ละคน บางคนเลยคิดว่าถ้าฉันต้องการเปลี่ยนพฤติกรรม ฉันก็เรียกมาปรับกระบวนการคิดสัก 3 วัน 7 วัน คิดไปว่าการเปลี่ยนวิธีคิด กระทำได้ด้วยวิธีเดียวกันสำหรับคนทุกคน ซึ่งศาสตร์ด้านการประดิษฐ์ปัญญา ที่กลายมาเป็นเอไอในทุกวันนี้ บอกไว้ว่า สมองซึ่งเป็นที่ตั้งต้นของการเกิดความคิดของคนนัั้น มีการเชื่อมต่อของชิ้นส่วนต่างๆ ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ผลิตมาจากบริษัทเดียวกัน จะมีการเชื่อมต่อชิ้นส่วนภายในเหมือนกันร้อยเปอร์เซนต์ การทำให้คอมพิวเตอร์คิดเหมือนกันจึงทำได้ไม่ยาก แต่จะทำให้คน 2 คนมีพฤติกรรมเดียวกันนั้น เปรียบเทียบให้พอเห็นภาพชัดเจนขึ้น คือเหมือนกับเราใช้สมารท์โฟนต่างยี่ห้อกับแอปตัวเดียวกันได้ คำถามชวนคิดคือ ทำอย่างไรที่จะให้คนแต่ละคน ที่เหมือนสมารท์โฟนต่างยี่ห้อ มีพฤติกรรมคล้ายๆ กับการใช้แอปเดียวกันได้ ถ้าทำสำเร็จ พฤติกรรมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงจะตามมาเอง

ถ้าสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นแบบที่ไม่ต้องคิดอะไรเลย ตั้งแต่เริ่มงาน จนกระทั่งเสร็จงาน ทุกอย่างทำตามที่คุ้นเคย ทำตามที่เคยสั่งไว้ งานในสภาพนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดั่งใจผู้บริหาร แต่วิธีทำงานที่ดีที่สุดนั้น ดีได้มากที่สุดเท่าที่ผู้บริหารคิดได้ คนทำงานเป็นร้อยเป็นพัน ช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะคนคิดมีคนเดียว เรื่องสำคัญคือ งานแบบนี้วันหน้า เครื่องจักรกลชาญฉลาดจะมาทดแทนทั้งหมด ใครคิดว่าจะทำให้คนทั้งหลายทั้งปวงเป็นแบบนี้ คนนั้นกำลังคิดย้อนโลก

งานที่คนเรายังได้เปรียบเครื่องจักรยังมีอยู่ คืองานที่ก่อนที่เราจะทำงานนั้นได้โดยอัตโนมัติ ต้องมีการใช้ความคิด ทำความเข้าใจกับงานนั้นเสียก่อน การทำงานนั้นจึงยาก และช้าในช่วงแรกๆ ก่อนที่เราปรับวิธีทำงานนั้นไปสู่รูปแบบอัตโนมัติตามแบบของเราไปแล้ว สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทำให้คนต้องคิดเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนกระทั่งงานเสร็จ ในทุกครั้งที่ทำ จะทำให้แต่ละคนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปในการทำงานนั้น คำว่าทำได้โดยอัตโนมัติของแต่ละคน จะไม่เหมือนกัน 

ถ้าวันใด เราต้องการปรับเปลี่ยนงานนั้น ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราต้องยอมให้เวลาในการปรับเปลี่ยนมากกว่าที่ตั้งใจไว้ และไม่มีประโยชน์ใด ๆที่จะไปคอยสั่งให้ 1 ทำนั่น 2 ทำนี่ พอเห็นใครมีพฤติกรรมทำงานแตกต่างไปจาก 1 - 2 - 3 ของเรา ก็หงุดหงิด งานที่ต้องการใช้ความคิดในการทำงานให้สำเร็จนั้น พฤติกรรมการทำงานต่างกันได้ โดยที่ให้ผลสำเร็จเหมือนกัน ทำให้ลูกค้าพออกพอใจได้เหมือนกัน โดยที่คนหนึ่งเริ่มด้วยการยิ้ม อีกคนหนึ่งเริ่มต้นด้วยการทักทาย

วันนี้เลิกคิดที่จะปรับพฤติกรรมให้คนทั้งหลายทั้งปวง เหมือนกับที่ตนเองอยากให้เป็นได้แล้ว