โรงพยาบาลรัฐเตียงเต็มโรงพยาบาลเอกชนเตียงว่าง ความจริงที่เจ็บ

โรงพยาบาลรัฐเตียงเต็มโรงพยาบาลเอกชนเตียงว่าง ความจริงที่เจ็บ

โรงพยาบาลรัฐของเราจำนวนมากอยู่ในภาวะวิกฤติด้านการเงิน บางโรงพยาบาลเลวร้ายถึงกับตกอยู่ในสภาวะล้มละลายหรือกึ่งล้มละลาย

ผู้ใช้บริการแออัดยัดเยียด โรงพยาบาลไม่มีเตียงให้ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล ต้องนอนรอกันระเกะระกะตามที่ว่างทางเดิน ใช้เตียงชั่วคราวกางนอนรอการรักษา ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนกำลังเปิดเป็นดอกเห็ดมีเตียงว่าง แต่สร้างผลกำไรมหาศาล อ่านรายงานวิเคราะห์ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุด คือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) ที่ทำกำไรมหาศาลในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการลงทุนอย่างมากในการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์และควบรวมโรงพยาบาลอื่นเข้ากลุ่ม ถือเป็นหนังคนละม้วนจริงๆ

เฉพาะตัวเลขหลักๆ ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ณ วันที่ 15 พ.ค. 2561 มีรายได้รวมสูงถึง 20,140.90 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 14.30% มีสินทรัพย์รวม 124,884.62 ล้านบาท หนี้สิน 56,313.44 ล้านบาท และมีมูลค่าในตลาด หรือ Market Capitalization สูงถึง 384,175.72 ล้านบาท กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ณ วันนี้ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แต่ที่น่าสนใจคือสร้างกำไรสุทธิในอัตราที่สูงที่สุดในโลก (Net Profit Margin) ที่ 9% กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลกรุงเทพได้แตกแขนงออกไปทั้งธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ผลิตยา น้ำเกลือ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์รวม 14 บริษัท รวมทั้งขยายธุรกิจโรงพยาบาลไปประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชาอีกด้วย ทำให้มีโรงพยาบาลในกลุ่มมากถึง 45 แห่งที่เข้าไปบริหารเอง นอกเหนือจากการเข้าไปถือหุ้น แต่ไม่ได้บริหารอีกจำนวนหนึ่ง

โรงพยาบาลรัฐเตียงเต็มโรงพยาบาลเอกชนเตียงว่าง ความจริงที่เจ็บ

ภาพ: ทางเข้าโรงพยาบาลรอยัล พนมเปญ ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพฯ

ระบบสุขภาพของบ้านเรานั้น เป็น 2 นคราสาธารณสุขไทยจริงๆ

ถ้าจะพูดกันถึงเรื่องคุณภาพแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลรัฐ กับโรงพยาบาลเอกชน คงไม่ต่างกันมากนัก และจะว่าไปแล้ว โรงพยาบาลรัฐมีแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ที่เก่งมากมายด้วยซ้ำ สิ่งที่แตกต่างกันคือต้นทุนในการบริหารจัดการโรงพยาบาลรัฐที่มาจากงบประมาณแผ่นดินที่มีอย่างจำกัดและเงินบำรุงของโรงพยาบาลที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ แต่ของธุรกิจนั้นมาจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ต้องรองบประมาณประจำปี การระดมทุนได้อย่างรวดเร็วทำให้สามารถลงทุนขยายกิจการได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐทำไม่ได้ แม้กระทั่งเงินนอกงบประมาณก็ยังถูกควบคุมให้ใช้อย่างจำกัดจำเขี่ยอย่างเหลือเชื่อ

จริงๆ แล้วสิ่งที่ต่างกันมาสุดคือเป้าหมายของการให้บริการ ที่มีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน โรงพยาบาลเอกชนมองที่ความสามารถในการใช้จ่ายหรืออำนาจซื้อของผู้ใช้บริการ แต่โรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ความไม่สามารถใช้จ่ายของผู้ใช้บริการ

มีคำพูดว่า ถ้าหากินกับคนรวย คุณก็จะเป็นคนรวย แต่ถ้าหากินกับคนจน คุณก็จะเป็นคนจน ฉันใดก็ฉันนั้น

การที่โรงพยาบาลเอกชนสามารถบริหารจัดการจนได้กำไรมหาศาลนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเขาก็ต้องแบกรับความเสี่ยงด้วย ถ้าพลาดเมื่อไร ก็ล้มได้ แต่โรงพยาบาลรัฐไม่มีความเสี่ยง ล้มไม่ได้ ได้แต่เฉลี่ยเกลี่ยความจนตามมีตามเกิด กลายเป็นจนถ้วนหน้าทุกโรงพยาบาลรัฐ

งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สำหรับงานบริการสุขภาพ การให้บริการที่ฟรีโดยถ้วนหน้าเป็นการประกันความหายนะว่าเกิดแน่นอน ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนนโยบายเป็นการร่วมจ่ายโดยเร็ว

การให้ความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ไม่มีคนล้มล้มละลายเพราะการรักษาพยาบาลนั้น ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แต่ยิ่งฉุดทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการล้มละลายไปพร้อมๆ กัน เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ แต่คนที่กระโดดไปช่วยเขาก็ว่ายน้ำไม่เป็น ว่ายไม่แข็ง ในที่สุดก็ตายทั้งคู่

ความจริงที่เจ็บปวดอย่างหนึ่งของโรงพยาบาลรัฐก็คือ พฤติกรรมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่โรงพยาบาลรัฐต้องรับภาระขาดทุนหนักก็เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ฐานะปานกลางขึ้นไป เวลาเจ็บป่วยไม่มากจะเข้าโรงพยาบาลเอกชน ยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงๆ เสียเท่าไรเท่ากันสำหรับคนที่เป็นที่รัก แต่พออาการเจ็บป่วยนั้นเกินที่จะเยียวยา โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ ของชีวิต ลูกหลานและญาติๆ ก็จะย้ายผู้ป่วยมาโรงพยาบาลรัฐ

ค่าใช้จ่ายในช่วงท้ายๆ ของชีวิตนั้นมักมหาศาลเกือบจะเรียกว่าค่าใช้จ่ายตอนเริ่มป่วยเป็นปีๆ นั้น อาจน้อยกว่ากว่าค่าใช้จ่ายเดือนสุดท้ายของชีวิต เมื่อเอาไม่อยู่ ภาระค่าใช้จ่ายในช่วงชีวิตสุดท้ายของผู้ป่วยเหล่านี้ ลูกหลานไม่มีความสามารถจ่ายได้ ก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐที่เรียกเก็บไม่ได้

องค์กรที่ดูแลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ไม่มีเงินจ่าย โรงพยาบาลรัฐเรียกเก็บจากใครไม่ได้เลย แต่หยุดให้บริการไม่ได้ ในที่สุดก็กลายเป็นหนี้สูญ โรงพยาบาลรัฐรับภาระขาดทุน ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนรับทรัพย์มหาศาลไปแล้ว นี่เป็นอีกบริบท ถือเป็นความจริงที่เจ็บปวด

โรงพยาบาลเอกชนรวยเอาๆ ผุดสถานบริการรักษาพยาบาลเป็นดอกเห็ด มีรายได้นับแสนล้านบาท กำไรต่อปีหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐหรือแม้แต่โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์เก่าแก่มีชื่อเสียง กลับเจอสภาวะขาดทุนเพิ่มขึ้นเกือบทุกแห่ง ถือเป็นอีกหนึ่งความจริงที่เจ็บปวด หรือใครว่าไม่จริง