เทคโนโลยี การทำงานนอกสถานที่ และสภาพบังคับทางกฎหมาย

เทคโนโลยี การทำงานนอกสถานที่ และสภาพบังคับทางกฎหมาย

ให้ลองนึกย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้สัก 10 ปี จะเห็นได้ว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไปเกือบจะหมดทุกอย่างไม่ว่าผู้คน ความรู้สึกนึกคิด

วิธีการดำรงชีวิต ครอบครัว รูปแบบการศึกษา วิธีการทำงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี โดยอาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีและระบบอินเทอร์เน็ต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงตาม

เราจะเห็นได้ว่ายุคนี้ คนที่ทำงานมีรายได้สูงไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ที่ต้องเรียนจบสูง หรืออยู่ในวัยทำงาน ทุกวัยสามารถเข้าสู่ระบบการทำงานหารายได้ หากเพียงแต่พอที่จะจะใช้เทคโนโลยีเป็น การทำธุรกิจไม่จำต้องมีสถานที่ประกอบการ ไม่จำเป็นต้องมีพนักงาน หรือแม้กระทั่งไม่จำต้องทำงานอยู่ประจำอยู่แต่เพียงที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไป

อนึ่ง หากจะแยกประเภทการทำงานอย่างกว้างๆ ในแบบที่คนทั่วไปทราบก็ได้แก่ การทำงานในองค์กรเอกชน การทำงานส่วนตัว การทำงานคนเดียว การทำงานเป็นกลุ่ม การทำงานอิสระ ที่ไม่ใช่ทำประจำ ที่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ ที่ได้รับค่าจ้างเป็นคราวๆ ไป หรือฟรีแลนซ์ และการทำงานในองค์กรของรัฐหรือส่วนราชการ ซึ่งในยุคนี้ปฏิเสธกันไม่ได้เลยว่าทำงานโดยใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือกันทั้งสิ้น กรณีนี้จึงมีความคิดที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการงาน บริหารคนซึ่งเป็นแรงงาน บริหารเวลา บริหารทุนและทรัพยากรขององค์กร บริหารการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการตลาด หรือบริหารผลผลิต ทำให้ส่งผลเรื่องการใช้แรงงานคนที่น้อยลงหรือแทนแรงงานคนไปเสียเลย

ดังตัวอย่างที่เราจะเห็นได้อยู่ในหลากหลายอาชีพ ที่แม้กระทั่งอาชีพที่มีลักษณะเป็นวิชาชีพอย่างแพทย์ เช่น ในปี 2017 ประเทศสหรัฐ โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) เริ่มนำ ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence หรือ AI) มาช่วยพัฒนาการวินิจฉัยโรคมะเร็ง เป็นต้น หรืออย่างงานของนักกฎหมายเองก็มีแนวความคิดเดียวกัน อย่างเช่นในช่วงปี 2014 ประเทศอิสราเอลมีผู้คิดค้นโปรแกรม หรือซอฟท์แวร์ขึ้นเพื่อสั่งการให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถพิจารณากฎหมายได้ถูกต้องแม่นยำมากกว่านักกฎหมายที่เป็นคนธรรมดา และยังรวดเร็วกว่าถึง 200 เท่า หรือในปี 2017 Google ประดิษฐ์หูฟังที่แปลภาษาได้ทันทีถึง 40 ภาษา โดยใช้ชื่อเรียกว่า Google Pixel Buds ซึ่งเทคโนโลยีนี้ย่อมต้องส่งผลกระทบต่ออาชีพนักแปลหรือมัคคุเทศก์อย่างแน่นอน รวมถึงเทคโนโลยีด้านอื่นๆ อีกมากมายที่ถูกนำมาใช้ในระบบการทำงาน

จากปรากฏการณ์ทางเทคโนโลยีนี้เอง ที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าการทำงานของคนจะเปลี่ยนไปมากขึ้น คนในระบบการทำงานไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องทำงานอยู่กับที่ นั่งประจำอยู่แต่กับโต๊ะในที่ทำงาน อย่างงานผู้สื่อข่าวปัจจุบันก็ยังเห็นได้ทั้งสำนักข่าวในและต่างประเทศว่า ผู้สื่อข่าวไม่จำเป็นต้องรายงานข่าวในห้องส่งสัญญานของสถานีโทรทัศน์แล้ว อาจมีเพียงกล้องถ่ายรูปคุณภาพดี ๆ หรือโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุค และสัญญานอินเทอร์เน็ต เพียงเท่านี้แม้อยู่ที่บ้านหรือสถานที่อื่นก็สามารถรายงานข่าวได้

ประเด็นมีเรื่องต้องพิจารณาคือ ประเทศไทยที่รัฐบาลประกาศนโยบายว่าจะเป็น Thailand 4.0 นั้นได้เตรียมการสำหรับเรื่องนี้ไว้มากน้อยหรือไม่อย่างไร กับสถานสภาพที่ประเทศยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา รัฐควรตระหนักและหามาตรการรองรับต่อความเปลี่ยนแปลง การปล่อยให้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ในขณะที่ความรู้ความสามารถ ชนชั้นทางเศรษฐกิจของคนยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ จะยิ่งทำให้สังคมยิ่งมีชนชั้นที่ห่างกันออกไป ดังคำกล่าวที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ ผู้ใดครองเศรษฐกิจ ผู้นั้นครองอำนาจ” ยุคนี้จึงเป็นเสมือนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 แต่เป็นยุคที่อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคปฏิวัติเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 โดยเทคโนโลยีถือเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น ในขณะที่การพัฒนาคน รวมทั้งความคุ้มครอง ลดความเหลื่อมล้ำในคนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน รัฐจึงต้องชั่งน้ำหนัก ส่งเสริมและประสานประโยชน์กันระหว่าง 2 สิ่งให้เหมาะสม ได้สัดส่วนกันด้วย โดยไม่อาจกระทำแยกส่วนออกจากกันได้

ที่ผ่านมา ถ้าพิจารณาในแง่ของกฎหมายที่รัฐตราขึ้นใช้บังคับ จะให้ใกล้เคียงกับเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน พ.ศ. 2553” แต่อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วตามขอบเขตและเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้เชื่อมโยงต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่ลักษณะงานของลูกจ้างและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานเลย แต่เป็นไปเพื่อเหตุผลเนื่องจากสภาพการณ์เกี่ยวกับการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานในสถานประกอบกิจการ เป็นการจ้างโดยมอบงานให้ผู้รับงานไปผลิตหรือประกอบนอกสถานประกอบกิจการ ซึ่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาที่ตราขึ้นไม่อาจให้ความคุ้มครองแก่ผู้รับงานไปทําที่บ้านให้ได้รับความเป็นธรรมและมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทํางานและกำหนดแต่เพียงการทำงานเฉพาะบางลักษณะเท่านั้น

กฎหมายฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541” ซึ่งกำหนดให้กรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างเพียงแต่แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าและก็จ่ายค่าชดเชยเท่านั้น

จากสิ่งที่เป็นอยู่ทำให้เห็นแนวโน้มได้ว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการว่างงานจะมากขึ้น ในขณะที่การคุ้มครองแรงงานจะลดถอยลงหากไม่ได้ทำการป้องกัน ไม่เฉพาะแต่เพียงเท่านั้น การพัฒนาประเทศไม่ได้กระทำแต่เฉพาะในภาคเอกชน แต่ในภาคราชการเองก็ต้องปรับระบบการทำงานและการบริหารงานด้วย เนื่องจากในปัจจุบันในส่วนราชการเองก็นำเทคโนโลยีมาใช้อยู่ไม่น้อย เช่น ระบบเอกสารอิเล็คโทรนิกส์ (e-document) ระบบโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เนต (internet banking) ระบบการประชุมทางวีดิทัศน์ (Video conference) หรือการวินิจฉัยสั่งการ การเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการส่งต่อข้อมูลโดยผ่านระบบ VPN (Virtual Private Network) ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เกิดความปลอดภัยและรักษาความลับได้มากขึ้นเป็นต้น

 ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตรัฐอาจต้องลดบุคลากรลงและใช้เทคโนโลยีมากขึ้นด้วยหรือปรับเปลี่ยนวิธีการและลักษณะการทำงานของบุคลากรของตน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในงาน ฉะนั้น บุคลากรภาครัฐเองจึงควรที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างหนีไม่พ้น รวมถึงอาจต้องเตรียมตัวรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ด้วยนั่นเอง.

โดย... 

ผศ.ผจญ คงเมือง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์