โลกาภิวัตน์กับจักรวรรดินิยมใหม่

โลกาภิวัตน์กับจักรวรรดินิยมใหม่

ย้อนไปไม่นาน มองกันว่าโลกาภิวัตน์อันเป็นกระบวนการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในส่วนต่างๆ ของโลกให้ติดต่อสื่อสารและไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น

จะช่วยชาวโลกให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว อย่างทั่วถึงและอย่างทัดเทียมกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้แย้งว่ามันกำลังก่อปัญหาใหม่ ย้อนไปกว่า 10 ปี คอลัมน์นี้นำมุมมองทั้ง 2 มาเสนอหลายครั้ง โดยการอ้างถึงหนังสือชั้นนำบางเล่ม เช่น The World Is Flat ของ Thomas Friedman ซึ่งมองจากมุมแรกและเรื่อง Globalization and Its Discontents ของนักเศรษฐสาสตร์ รางวัลโนเบล Joseph Stiglitz ซึ่งมองจากมุมหลัง (ทั้ง 2 เล่ม มีบทคัดย่อภาษาไทยให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.bannareader.com)

ดังเป็นที่ทราบกันดี เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลักของจักรวรรดินิยม โลกาภิวัตน์ยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนเป็นไปอย่างเข้มข้นในช่วงที่สงครามเย็นกำลังจะยุติลงส่งผลให้สหรัฐมีพลังเหนือกว่ามหาอำนาจอื่น อย่างไรก็ตาม สหรัฐไม่สามารถตั้งกฏระเบียบใหม่ให้ชาวโลกเดินตามได้ทุกอย่าง ทั้งที่มีสถานะเสมือนจักรวรรดินิยมใหม่แต่เพียงผู้เดียว รัสเซียและจีนซึ่งเคยใช้ระบบคอมมิวนิสต์ และพ่ายแพ้สงครามเย็นสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ยกสถานะของตัวเองให้ขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐพร้อมกับแสดงท่าทีของการเป็นจักรวรรดินิยมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดคู่แข่งที่แข็งแกร่งและท้าทาย สหรัฐนำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีท่าทีเกรี้ยวกราดถึงขนาดสั่งลดการค้าขายภายนอกและขับไล่ผู้เข้าไปลี้ภัยในสหรัฐออกนอกประเทศอันเป็นการเดินสวนทางกับโลกาภิวัตน์ กระนั้นก็ตาม รัสเซียและจีนมิได้แสดงทีท่าให้เห็นว่าเป็นกังวล ตรงข้าม ต่างตั้งหน้าตั้งตาหาทางขยายอำนาจต่อไปในภาคต่างๆ ของโลก

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ประจำวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา พาดหัวข่าวเรื่องการสร้างเมืองใหม่ในมาเลเซียชื่อ กรุงพนา” (Forest City) พร้อมกับรูปขนาดใหญ่ในหน้าแรก ในรูปมีตึกสูงเป็นแท่งๆ จำนวนมาก ในแนวเดียวกันกับตึกในย่านเมืองทองของ กทม. ที่สร้างขึ้นก่อนเกิดวิกฤติ ปี 2540 เมืองใหม่แบบครบวงจรในมาเลเซียนี้ มีบริษัทจีนสนับสนุนด้านเงินทุน แนวคิด การบริหารและการขาย จะเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนใกล้ 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนเพราะเน้นการขายและการให้บริการแก่ชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาจีนควบคู่กับภาษาอังกฤษ หรือการเปิดการบินตรงกับเมืองใหญ่ๆ ทางตอนใต้ของจีน

โครงการกรุงพนาเริ่มก่อสร้างตั้งแต่สมัยนายกฯ นาจิบ ราซัค ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลในหลายด้าน ทันทีที่มหาเธร์ โมฮัมหมัดกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง เขาสั่งทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่จีนมีส่วนขับเคลื่อนตามแนวคิด “ทางสายไหมใหม่” หรือที่มองได้ว่าจะเป็นช่องทางให้จีนแพร่ขยายจักรวรรดิของตน รวมทั้งโครงการของเอกชนด้วย สำหรับโครงการกรุงพนา เขาออกคำสั่งว่าห้ามต่างชาติเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น นั่นหมายความว่าชาวจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อราว 80% ของที่อยู่อาศัยในกรุงพนาจะเข้าไปอยู่ไม่ได้ส่งผลให้อาจจะต้องขายทิ้ง

ไม่เฉพาะมาเลเซียเท่านั้นที่มองว่า มีจักรวรรดินิยมใหม่ที่พยายาเข้าไปครอบงำตน หลายประเทศก็มองเช่นนั้นทั้งประเทศเพื่อนบ้านและมิใช่เพื่อนบ้านของไทย คงเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นิวซีแลนด์เป็นประเทศในย่านเอเซียแปซิฟิกที่เพิ่งห้ามชาวต่างชาติซื้อบ้าน ส่วนแคนาดาซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลกว่านิวซีแลนด์หลายเท่า ก็เริ่มจำกัดการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติโดยแต่ละจังหวัดมีอิสระที่จะดำเนินนโยบายตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม

ท่ามกลางการแพร่ขยายจองจักรวรรดินิยมใหม่อย่างแจ้งชัดนี้ เมืองไทยดูจะไม่มีความกังวลเช่นประเทศอื่นแต่อย่างใด ตรงข้ามพยายามเพิ่มแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการผ่อนผันทางภาษี ให้เช่าที่ดิน 99 ปีและให้วีซ่าเข้ามาอยู่ได้สะดวก โครงการสร้างเมืองใหม่ในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกโดยเอกชนคงคาดเดาได้ว่าจะมีต่างชาติเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญอันดับต้น ในระหว่างจุดยืนของรัฐบาลมาเลเซียกับรัฐบาลไทย รัฐบาลไหนดำเนินนโยบายอย่างชาญฉลาดที่จะมีผลดีต่อชาติมากกว่ากันอีกไม่นานคงปรากฏ