การคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยการเช่าซื้อรถยนต์ (2)

การคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยการเช่าซื้อรถยนต์ (2)

นอกจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (ประกาศฯ)

จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ซื้อรถยนต์โดยตรงแล้ว ยังมีบุคคลอีกคนหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นผู้มีแต่ ส่วนเสีย มากกว่าส่วนได้ในธุรกรรมการเช่าซื้อรถยนต์นี้ ตามสำนวนไทยที่ว่า เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ ใช่แล้วค่ะ คน ๆ นี้ก็คือ ผู้ค้ำประกันในธุรกรรมการเช่าซื้อรถยนต์นั้นเอง

ใจความสำคัญในประกาศฯ ฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้ำประกันคือ

  1. หนังสือหรือสัญญาค้ำประกันจะต้องมีคำเตือนผู้ค้ำประกัน โดยต้องมีหัวเรื่องว่า “คำเตือนสำหรับผู้ค้ำประกัน” และระบุคำเตือนตามที่ประกาศฯ กำหนดไว้ อาทิเช่นผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อตามมูลหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ (เว้นแต่ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลที่ตกลงจะร่วมรับผิดกับลูกหนี้อย่างลูกหนี้ร่วม) ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกให้ชำระหนี้ หากผู้ค้ำประกันสามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้เช่าซื้อมีทางจะชำระหนี้ได้ และการบังคับให้ผู้เช่าซื้อชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยาก เป็นต้น มีข้อสังเกตว่าอันที่จริงแล้วคำเตือนดังกล่าวเป็นการนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาระบุไว้ในสัญญาโดยตรง ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันรับทราบสิทธิของตนได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น การระบุเช่นนี้จะช่วยแก้ปัญหาในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้ออาจจะอาศัยความไม่รู้กฎหมายเพื่อเอาเปรียบผู้ค้ำประกัน
  2. ผู้ค้ำประกันมีสิทธิในทำนองเดียวกับผู้เช่าซื้อในการซื้อรถยนต์ที่เป็นทรัพย์สินในสัญญาเช่าซื้อในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม เหตุผลที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนดเงื่อนไขนี้ขึ้น ก็เพราะเล็งเห็นว่าผู้ค้ำประกันอาจตกอยู่ในสถานะเดียวกับผู้เช่าซื้อเมื่อมีเหตุบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ กล่าวคือ ผู้ค้ำประกันอาจถูกเรียกให้ชำระหนี้เช่าซื้อรถยนต์ในส่วนที่ยังขาดอยู่ คณะกรรมการจึงกำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันในการซื้อรถยนต์ก่อนที่จะดำเนินการขายทอดตลาด โดยผู้ค้ำประกันจะใช้สิทธิดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อผู้เช่าซื้อไม่ได้ใช้สิทธิของตนเท่านั้น หากผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ ผู้ให้เช่าซื้อต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามดังกล่าว
  3. นอกจากนี้ ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาดรถยนต์ โดยจะต้องระบุให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงชื่อผู้ขาย สถานที่ และเวลาในการขายทอดตลาดทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาด

ผลของการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศฯ ทั้งในส่วนที่เป็นการคุ้มครองผู้เช่าซื้อในฐานะผู้บริโภคและผู้ค้ำประกัน ในกรณีที่ประกาศฯ กำหนดให้ต้องระบุเงื่อนไขใดในสัญญาแต่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ใส่เงื่อนไขดังกล่าวลงไปในสัญญาก็ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าสัญญามีเงื่อนไขดังกล่าวโดยอัตโนมัติ แต่ในในทางตรงกันข้าม หากเป็นกรณีที่ประกาศฯ กำหนดห้ามไม่ให้มีเงื่อนไขใดในสัญญา แต่กลับปรากฏเงื่อนไขต้องห้ามนั้นในสัญญาก็ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวในสัญญา นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ส่งมอบสัญญาที่ถูกต้องตามประกาศฯ ให้แก่ผู้บริโภคภายในเวลาที่กำหนดยังต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

** บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ **

 

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]