คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติและเขตสุขภาพ

คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติและเขตสุขภาพ

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) สาธารณสุข เรื่องความก้าวหน้าของ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่กระทรวงสาธารณสุข

ที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดทำตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ มีผู้ชี้แจงนำโดยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและทีมงาน และผู้แทนจากสำนักงานกฤษฎีกา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 20 มาตรา มีหลักการและเหตุผลเพื่อให้คณะกรรมการนี้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติและตรวจสอบกำกับดูแลหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีการดำเนินการในระบบสุขภาพ เพื่อให้ระบบสุขภาพของประเทศมีความเป็นเอกภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ มีประสิทธิภาพ เสมอภาค คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สุดแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น

หลักๆใน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คือการกำหนดจำนวน คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ซึ่งยังขาดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเขตสุขภาพ และกองทุนสุขภาพ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงยังไม่มีความสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผลให้สำนักงานกฤษฎีกาก็ไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้มากนัก และเมื่อเป็นเรื่องคณะกรรมการ หัวใจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วน จำนวนกรรมการตามที่เสนอในร่างฯจึงมีจำนวนมากถึง 45 คน 

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นหลักๆ ใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีประโยชน์กับระบบสุขภาพตามที่อ้างในหลักการและเหตุผลได้แค่ไหน และจะมีศักยภาพถึงขนาดที่จะสร้างเอกภาพในระบบสุขภาพได้ขนาดไหน

หลังจากฟังผู้ชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ก็คิดว่าคณะกรรมการนี้คงทำงานด้วยความยากลำบาก เพราะระบบสุขภาพของประเทศนั้นไม่เฉพาะภาครัฐแต่รวมถึงภาคเอกชนที่มีพลังมหาศาล การที่จะควบคุมภาคเอกชนให้เหมือนหน่วยงานภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจสุขภาพของเอกชนให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมๆ กับเครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยวที่กลายเป็นเครื่องยนต์หลักของประเทศในขณะนี้ ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub เป็น Health Destination ในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมระบบสุขภาพในทุกมิติ

เช่นนี้ คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ จะเข้าไปมีบทบาทได้อย่างไร.... 

เท่าที่พิจารณาจากเนื้อหา คณะกรรมการ(คกก.)นโยบายสุขภาพแห่งชาติ ดูเหมือนจะใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเกราะกำบังมากกว่าสาระของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหมือนกับจะให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน คกก. ทำให้คกก.ตามกฎหมายฉบับอื่นๆ ในระบบสาธารณสุขจะต้องยึดเป็นแนวทางและดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด แต่โดยธรรมชาติแล้ว ทุก คกก.ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างมีลักษณะเฉพาะกิจ มีอิสระ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละองค์กร แล้วจะให้ คกก.ชุดอื่นตามกฎหมายอื่นต้องปฏิบัติตามได้อย่างไร ไปๆ มาๆ จะกลายเป็นเรื่องการขัดกันของกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการตีความกันอีก 

ในการประชุมวันนี้ มี 3 คำถามที่จะเรียกว่า คำถามก็ไม่เชิง แต่อาจถือเป็นข้อสังเกตอยากให้ผู้ยกร่างฯ ได้พิจารณาคือ ถ้าตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้ คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจสูงสุดเหนือ คกก.ตามกฎหมายอื่น ก็ต้องมีความชัดเจน เพราะมิฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ก็คงเป็นแค่กฎหมายอีกฉบับที่เพิ่มขึ้นใช้เฉพาะการบริหารจัดการองค์กรเท่านั้น เรื่องของเขตสุขภาพ ยังไม่มีความชัดเจนเพราะยังไม่ได้บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เท่าที่ฟังจากผู้ชี้แจง ต้องการให้มีจำนวนเขตสุขภาพประมาณ 12 เขต โดยยึดตามจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน เฉลี่ยประมาณเขตละ 5,000,000 คน และมีกรุงเทพมหานคร ถือเป็นเขตที่ 13 อีกหนึ่งเขตต่างหาก และเรื่องกองทุนสุขภาพ ยังเป็นคำกว้างๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเงินกองทุนจะมาจากไหนบ้าง จะมาจากงบประมาณอย่างเดียวหรือจะมีการตั้งกองทุนรวมจากหลายกองทุนที่มีอยู่แล้ว และยิ่งกองทุนสุขภาพระดับเขตพื้นที่จะมีการจัดสรรอย่างไร 

ได้เสนอความเห็นว่าถ้าต้องการให้คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติตามกฎหมายฉบับนี้ มีอำนาจอย่างแท้จริงก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะมีลักษณะเป็น Super Board เหนือทุกบอร์ดในระบบสุขภาพและสามารถล้มล้างหรือOverrule มติของ คกก.ชุดอื่นตามกฎหมายอื่นได้หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นคกก.ชุดนี้ก็คงไม่ต่างจากคกก.ชุดอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย 

ในเรื่องของเขตสุขภาพ จะมีปัญหาในเรื่องระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพราะจะต้องแก้ไขเรื่องการแบ่งส่วนราชการใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย สำนักงานเขตสุขภาพที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลก็คงเป็นแค่หน่วยงานส่วนภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุข และการดำเนินงานก็จะต้องเป็นไปตามที่ส่วนกลางกำหนด เมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเขต ซึ่งทางแก้ก็คือการให้แต่ละจังหวัดเป็นเขตสุขภาพ ด้วยเหตุที่จังหวัดมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลอยู่แล้ว แม้ว่าแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนประชากรและพื้นที่ต่างกันก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะสามารถร่วมมือระหว่างจังหวัดได้ คณะกรรมการสุขภาพจังหวัดจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลบริหารระบบสุขภาพตั้งแต่โรงพยาบาลทุกระดับ สาธารณสุขจังหวัดและทุกอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสถานพยาบาลเอกชนที่กำลังเพิ่มขึ้น มีความคล่องตัว และถือเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย 

สำหรับเรื่องกองทุนสุขภาพนั้น เท่าที่รับฟังจะเป็นการรวมกองทุนทั้งหลายที่มีอยู่แล้วในระบบสาธารณสุข ซึ่งถ้าดูตามนี้ก็น่าจะมีหลายกองทุน และยิ่งถ้ารวมกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการส่วนท้องถิ่นก็เป็นเรื่องของเงินจำนวนมหาศาล แต่ปัญหาคือแต่ละกองทุนต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่จัดตั้ง การที่จะรวมเงินกองทุนมาใช้จ่ายในการให้บริการของเขตสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่เกือบเป็นไปไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นภาคเอกชนอาจไม่สามารถตั้งกองทุน หรือเอามารวมเป็นกองทุนรวมทั้งหมดได้ ทั้งๆที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดูคร่าวๆ เหมือนจะเป็นยำใหญ่ ที่พยายามจะรวมกฎหมายต่างๆ ในระบบสุขภาพมาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แต่ในทางปฏิบัติ คงเป็นเรื่องที่เกือบเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะยุบกฎหมายฉบับอื่นๆ ทั้งหมดให้เหลือกฎหมายฉบับนี้ฉบับเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน