แค่เปลี่ยนแนวคิด ธุรกิจก็เปลี่ยน

แค่เปลี่ยนแนวคิด ธุรกิจก็เปลี่ยน

นวัตกรรมไม่ใช่แค่เพียงการทำอะไรใหม่ๆที่แตกต่างไปจากเดิม (ของแต่ละคน แต่ละองค์กร) เท่านั้น หากแต่สิ่งใหม่นั้นมันก็มีระดับของการเปลี่ยนแปลง

ตั้งแต่แนวคิดใหม่แต่ใช้เทคโนโลยีที่หาได้ทั่วไป เรียกว่า Creative based Innovation ซึ่งเหมาะกับทุกองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นมาสนใจสร้างสรรค์ผลงานเชิงนวัตกรรม แต่ไม่มีฐานความรู้และความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่มาก่อน โดยเฉพาะบริษัทผู้รับจ้างผลิต ธุรกิจบริการ หรือแม้แต่ธุรกิจการค้า (ไม่ว่าจะค้าปลีกหรือค้าส่งก็ตาม) แต่ก็ต้องทำความเข้าใจไว้ด้วยว่า ผลงานนวัตกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้มีจุดที่ต้องรักษาไว้ให้ได้คือ (1) คิดเร็ว (2) ทำเร็ว และ (3) ต้องไม่หยุดคิดและหยุดทำ เพราะว่าจุดที่ต้องระวังของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากแนวทางดังกล่าวนี้คือ ลอกเลียนได้ง่าย และทำซ้ำได้ไม่ยาก คู่แข่งหรือคนอื่นเห็นก็สามารถทำตามได้ ความสามารถการแข่งขันจึงอยู่ที่ความสามารถในการทำให้แพร่หลายไปยังกลลุ่มเป้าหมายให้แรงให้เร็วผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดและการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านแบรนด์เป็นสำคัญ

 

ในขณะที่นวัตกรรมที่เกิดจากฐานของเทคโนโลยีที่มีการวิจัยพัฒนาและประดิษฐ์คิดค้นขึ้นด้วยตัวเอง หรือร่วมคิดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเทคโนโลยีหรือวิธีการนั้นๆมีการยื่นจดสิทธิบัตรจนได้รับความคุ้มครองว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญา จึงถือได้ว่าผลงานนวัตกรรมนี้ไม่ได้พึ่งพิงหรือซื้อหาเทคโนโลยีมาจากภายนอก เรียกว่า Technology based Innovation เป็นนวัตกรรมที่เรามักเห็นได้ในองค์กรนวัตกรรมชั้นนำของโลก ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีหน่วยวิจัยและพัฒนา อีกทั้งยังทำวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านภายนอกอีกมากมายหลายแห่ง ในรูปแบบของการร่วมวิจัยหรือจ้างวิจัยก็ตาม ซึ่งจุดที่ต้องรักษาไว้ให้ได้คือ (1) ใช้เวลาให้สั่น (2) คิดค้นให้ทันกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และ (3) จัดสรรเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับผลตอบแทนในอนาคตและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่ผลงานนวัตกรรมที่เกิดขึ้นด้วยวิธีนี้ก็ลอกเลียนแบบได้ยาก อีกทั้งคู่แข่งหรือคนอื่นก็ไม่สามารถจะทำซ้ำด้วยเทคนิคและวิธีการที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตรไปแล้ว ข้อที่ต้องระวังก็คือ การกำหนดขอบแขตของงานวิจัยที่ต้องมีโฟกัส ไม่ลงทุนแบบเหวี่ยงแห นอกจากจะไม่สามารถจะได้ผลงานที่กว้างพอแล้ว ยังได้ผลงานที่ไม่ลึกพอ อันเนื่องมาจากงบลงทุนที่จำกัดอีกด้วย

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรที่เริ่มสนใจและคิดว่าจะลงทุนกับการสร้างสิ่งใหม่ โดยคาดหวังว่านวัตกรรมจะเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้มีความสามารถการแข่งขันที่สูงมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังนำพาองค์กรออกจากสนามการแข่งขันสีเลือด (red ocean) ที่เป็นสงครามราคา ไปสู่สนามการแข่งขันใหม่สีคราม (blue ocean) ที่แข่งขันกันด้วยการสร้างคุณค่า (value proposition) วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ธุรกิจจึงต้องใหม่ แตกต่าง และท้าทายไปจากเดิม บริบทและความเชื่อแบบเดิมๆต้องสลัดทิ้งออกไปให้ได้ ถ้ายังติดยึดกับรูปแบบ โครงสร้าง และวิถีการทำงานแบบเดิม ก็ยากที่จะนำพาตัวเองไปสู่ที่ใหม่ ลองมาดูตัวอย่างแนวคิดขององค์กรนวัตกรรมชั้นนำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และทำให้ตัวเองมาอยู่ในจุดใหม่ที่ได้เปรียบ และยังสามารถไปได้อีกไกลในยุคดิจิตัลนี้

 

แนวคิดทางธุรกิจแบบเดิมของ Apple Computer Inc. “ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อ” โดยมีโมเดลทางธุรกิจที่ว่า “ผลิตแพลทฟอร์มที่ทั้งฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการ Mac OS เป็นหนึ่งเดียว” เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งสองสิ่งนี้จะมีความเข้ากันได้ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเปิดให้เฉพาะซอฟท์แวร์เพื่อการประยุกต์ใช้งานเท่านั้น ที่บริษัทอื่นๆสามารถพัฒนาขึ้นและมาใช้อยู่บนตัวมัน ด้วยการออกแบบรูปลักษณ์ที่สวยงาม ระบบปฏิบัติการและซอฟท์แวร์ที่ดูดี สวยงาม ใช้งานได้ง่าย แต่บริษัทไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่ง และแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้

 

ในขณะที่คู่แข่งรายใหญ่ด้านระบบปฏิบัติการอย่าง Microsoft ใช้โมเดลแบบ “ความร่วมมือ” โดยไม่ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ แต่พร้อมให้บริการ “ระบบปฏิบัติการ Windows” แก่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ยี่ห้อใดก็ได้ในโลก สามารถนำไปใช้เป็นแพลท์ฟอร์มหลัก เพื่อให้ซอฟท์แวร์ประยุกต์ใช้งานต่างๆสามารถทำงานได้บนตัวมัน โมเดลการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความหลากหลายและเปิดกว้างเช่นนี้ ทำให้การแข่งขันไปอยู่ที่ฮาร์ดแวร์แทน ดังนั้นไม่ว่าองค์กรใดจะเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจากค่ายใดยี่ห้อใดก็ตาม แต่ก็ยังใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟท์ นี่ยังไม่นับรวมซอฟท์แวร์พื้นฐานสำหรับการทำงานทั่วไปที่เรียกว่า MS Office ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีต้องใช้ในแทบทุกสำนักงานทั่วโลก

 

แต่การกระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Apple Inc. ตัดคำว่า Computer ทิ้ง) ด้วยการฉีกกฎเกณฑ์และคำนิยามของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพกพา ประกอบกับความก้าวล้ำนำสมัยของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ iPhone ได้กลายเป็น Smart phone ที่ล้มล้างหรือปฏิวัติวงการโทรศัพท์แบบเดิม (Standard phone) และถือเป็นหนึ่งในผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ในทศวรรษที่ผ่านมา ดังเช่น การปฏิวัติกล้องฟิล์มสู่กล้องดิจิทัล การเปลี่ยนยุคพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานทดแทน การเปลี่ยนจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ไปสู่ LED และการเปลี่ยนจากยานพาหนะที่ใช้น้ำมันไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าในที่สุด

ยังมีอีกหลายสิ่งที่กำลังเข้าคิวเปลี่ยนแปลง เป็นยุคที่ช่างน่าตื่นเต้น ท้าทาย ในขณะเดียวกันก็น่าเสียใจกับอีกหลายคนที่ปรับตัวไม่ทัน แค่เราเปลี่ยนแนวคิด ธุรกิจที่ทำอยู่ก็เปลี่ยนได้