เด็กอินเตอร์ (1)

เด็กอินเตอร์ (1)

ช่วงนี้ไปไหนก็มีแต่คนพูดถึง Future Leaders ทำอย่างไรให้ผู้นำพร้อมสำหรับโลกในอนาคต

แจ็ค หม่า บอกว่า The future is already here; you just have to know where to look แปลว่าอะไรหรือ? หากอยากรู้ว่าภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร จงดูที่เด็ก เพราะอีกไม่ถึง 20 ปี พวกเขานั่นแหละคือสิ่งที่เราเรียกว่า "อนาคต"

ผลพวงหนึ่งของการย้ายมาทำงานต่างประเทศคือ ลูก ๆ พลอยต้องย้ายโรงเรียนตามมาด้วย ซึ่งแน่ล่ะ การเป็นเด็กต่างชาติย่อมหมายถึงการเรียนหนังสือในโรงเรียนนานาชาติ หรือ International School ลูกผมทั้งคู่เข้าเรียนที่ International School of Kuala Lumpur (ISKL) มาได้ปีกว่าแล้ว เพิ่งเปิดเทอมไปเมื่อเดือนก่อน ว่ากันตามจริงผมก็ไม่รู้หรอกครับว่ามันดีหรือเปล่า แต่เมื่อเลือกมาทางนี้แล้วก็ต้องลองดู

น้องพินคนโต ขึ้นชั้น ป.6 แต่ที่นี่นับเป็น Middle School หรือประมาณ ม.ต้นของบ้านเรา ส่วนเจ้าธีร์คนเล็ก ยังอยู่ชั้นประถมขึ้น ป.4 สัปดาห์ที่แล้วโรงเรียนเพิ่งมีกิจกรรม Open House เชิญผู้ปกครองไปเดินชิลดูชีวิตลูก เลยจะขอเล่าไฮไลท์สู่กันฟังตามสไตล์คนไกลบ้าน

เรื่องตื่นเต้นเรื่องแรกคือปีนี้ห้องเรียน 4NJ ของธีร์ เด็กในห้องอินเตอร์อย่างน่าอัศจรรย์มาก (เมียใช้ให้) ผมไปขอถ่ายรายชื่อนักเรียนในห้องมา ทั้งหมด 18 คน มี 14 สัญชาติ! แม่เจ้า อะไรจะหลากหลายขนาดนั้น ตั้งแต่อเมริกา แคนาดา ยุโรป เอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก แปซิฟิก แอฟริกา ครบทุกทวีป เว้นแต่หมีขาวกับเพนกวินเท่านั้นที่ไม่มี ถ่ายรูปมาฟีลลิ่งประมาณ United Nations อย่างไรอย่างนั้น

โรงเรียนนี้เน้นเรื่องการทำงานควบคู่กันระหว่างครูและครอบครัวอย่างมาก ช่องทางการสื่อสารเยอะแยะมากมายลายตาไปหมด ทั้งที่มาเป็นกระดาษและมาทางดิจิทัล ครูใหญ่เขียนวารสารประจำสัปดาห์ ครูประจำชั้นอัพรูป ครูผู้ช่วยอัพเดตปฏิทิน ครูน้อยเขียนบล็อก ครูพิเศษเขียนผลการเรียนการสอน ครูพละเขียนตารางแข่งกีฬา นี่ยังไม่นับครูจิ๊บครูจ้อยและบรรดาโค้ชทั้งหลายที่ขยันส่งอีเมลชนิดเปิดเมื่อยมือ ทั้งผมทั้งเพชรต้องคอยเตือนกันให้อ่านจะได้ไม่พลาด ลูกเรียนอินเตอร์พ่อแม่เลยพลอยได้ฝึกภาษาไปด้วย ใช้พลังผู้ปกครองเยอะกว่าสมัยก่อนแยะ

แถมเผลอเป็นไม่ได้ โรงเรียนจะมีเชิญไปร่วมงานโน่นงานนี่ตลอด ล่าสุดผมกับเพชรไปงานของเจ้าพิน ไอ้เราเข้าใจว่าจะเรียกเข้าห้องประชุมฟังอาจารย์ใหญ่กล่าวสุนทรพจน์ ที่ไหนได้เขาแจกตารางสอนให้พ่อแม่ทุกคนเดินตามชั้นที่ลูกตัวเองต้องเรียน ไต่บันไดพบครูขึ้นลงจนปวดขา ซึ้งเลยว่าชีวิตลูกสาวต้องพบกันอะไรบ้างในแต่ละวัน

ตัวเด็กเองก็ต้องเขียนบล็อกเพื่อแชร์สิ่งที่ตัวเองเรียนรู้กับพ่อแม่ (และโลกกว้าง) ทุกคนมี MacBook ของตัวเอง เข้า Google Drive เพื่ออัพโหลดเรื่องใหม่ ๆ ทุกสัปดาห์ นั่นคือสิ่งที่โรงเรียนนี้เรียกว่าการบ้าน ในนั้นยังมีเครื่องมือส่งเสริมความรู้ให้เด็กค้นหาอีกมากมายเช่น Typing Club และ Khan Academy ครูบอกว่าไม่เข้าใจอะไรให้พ่อแม่ช่วยลูกเสิร์ชหาคำตอบ เฮ้ย! สมัยผมครูห้ามลอกการบ้านเพื่อน ไหงสมัยนี้ครูให้ลอกการบ้านจากโลก?

อีกเรื่องที่น่าตะลึงตึงตึงสำหรับพ่อแม่คือกิจกรรมหลังเลิกเรียน สมัยเราเคยมีแต่เรียนพิเศษเพื่อทำการบ้าน แต่ที่ ISKL กิจกรรมมากมายลายตาไปหมด แค่ของนายธีร์ ป.4 ตัวเลือกก็ปาเข้าไปกว่า 60 รายการ 3D Printing, Robotix, Gamelan, Forensic Science, Sewing, Sign Language มีกระทั่ง Aussie Rules Football อาจต้องซ้ำชั้นสัก 2 ปีกว่าจะเก็บได้ครบทุกรายการ

เสาร์อาทิตย์ยังมีลูกต่อเนื่องอีก ทั้ง Basketball Baseball Soccer Tennis หรือเป็นพวก Green Earth ออกไปเก็บขยะก็มี ตื่นไปเล่นไปทำกันทุกสัปดาห์ คนจัดโดยมากก็พวกครูนั่นแหละ ผมคิดว่าคงเป็นเพราะต่างเมืองมาเหมือนกัน เลยหาเรื่องอะไรเล่นไม่ให้ว่างตลอดๆ อ้อ ที่นี่เน้นสนุกไม่เน้นเก่งครับ ใครอยากมาจอยมาได้หมด

ส่วนของพิน ไฮไลท์ช่วงนี้คือ Band และ Musical ละครเวที มีซ้อมทุกวันตั้งแต่ 3 โมงถึง 4 โมงกว่า กติกาคือไม่มีคัดตัว ใครอยากเล่นได้เล่นหมด ส่วนจะเป็นก้อนหินหรือนางเอกนั้นก็แล้วแต่พรสวรรค์ ความสนใจ และความตั้งใจของเด็กแต่ละคน ซ้อมเยอะก็ได้บทเยอะ ปีที่แล้วผมกับเพชรดูเรื่อง Beauty and the Beast แล้วยังอึ้งว่านี่นักเรียนแสดงจริงหรือ อารมณ์ไม่ต่างจากเวลาเราซื้อบัตรดูใบละหลาย ๆ พัน

หน้ากระดาษจะหมดแล้วยังไม่ได้คุยเรื่องเรียนเลย เดี๋ยวคุณผู้อ่านจะสงสัยว่านี่โรงเรียนหรือโรงเล่น

ต่อตอนหน้านะครับ