การค้าและการลงทุนระหว่างจีน-อาเซียน: ก่อนและหลัง BRI ***

การค้าและการลงทุนระหว่างจีน-อาเซียน: ก่อนและหลัง BRI ***

การเข้ามามีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านของสาธารณรัฐประชาชนจีน กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยเฉพาะไทย-จีน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า เพื่อมุ่งสู่ความแข็งแกร่งด้านการเมืองและความมั่นคงของประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะผลกระทบของยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนต่อประเทศอาเซียนว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง 

ผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนตั้งแต่เปิดประเทศ ส่งผลทำให้มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment: FDI) ทะลักเข้าไปในประเทศ การอาศัยหลักการผลิตที่ได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ทั้งแรงงานที่ต่ำกว่า การประหยัดจากขนาดของการผลิต และห่วงโซ่อุปทาน(supply chain) ในการผลิตสินค้า ส่งผลทำให้จีนเปลี่ยนจากประเทศที่รับจ้างผลิต มาเป็นผู้ส่งออกสินค้า จนได้เปรียบประเทศอื่นๆ ของโลกมานับแต่บัดนั้น จนนับได้ว่าสัดส่วนของการค้าและการลงทุนในประเทศมากล้น จนมีมูลค่าและสัดส่วนของการลงทุนที่มากเกินกว่าจะขยายได้ในประเทศ ทำให้ในปัจจุบันไม่เพียงแต่จีนจะกลายมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าให้กับโลกแล้ว ยังรวมไปถึงการส่งเงินทุนออกไปภายนอกประเทศ(Outward Foreign Direct Investment: OFDI) โดยมีการไหลออกของทุนเข้ามาสู่ประเทศอาเซียนมากที่สุด โดยเน้นไปที่การสร้างความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนต้องการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามการเข้ามาทำการค้าและการลงทุนของจีนในแต่ละประเทศ มีเสียงสะท้อนหลายมุมมองและBRI ไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ที่แน่นอน ปัจจุบันยังคงต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจผ่านเนื้อหาที่ยังขาดการเรียบเรียง และไม่เพียงพอที่จะอธิบายให้เกิดความเข้าใจกันแบบง่ายๆ โดยเฉพาะในระดับของประชาชน

หากย้อนไป 16 ปี สมัยที่จีน-อาเซียน เริ่มเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าซึ่งได้มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่มีข้อตกลงทางการค้าของจีนกับอาเซียน(China-ASEAN Free Trade Area: CAFTA) มูลค่าการค้าของจีนกับประเทศอาเซียน มีมูลค่าการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 39.5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2543 เป็น 450 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2559 ส่วนการลงทุนของจีนในอาเซียนนับจาก ปี 2546-2558 ในอาเซียนมีมูลค่าถึง 53.05 พันล้านดอลล่าร์ คิดเป็น 58.2% ซึ่งมากที่สุดหากเทียบกับ 64 ประเทศที่อยู่ในความร่วมมือ BRI ของจีน

จากที่กล่าวไปข้างต้น การลงทุนในต่างประเทศ (Outward FDI) ของจีนในอาเซียนในปัจจุบันถูกกล่าวถึงมากขึ้น เนื่องจากการมีนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เป็นหัวใจหลักของนโยบายต่างประเทศที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของจีน โดยประกอบไปด้วยภารกิจ 4 ระดับ คือ 1) การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(Physical Level) ในพื้นที่ต่างๆ ตามบริเวณที่เส้นทางสายไหมผ่าน 2) การเชื่อมโยงสถาบันต่างๆ (Institutional Level) ที่เกี่ยวข้องในแผนยุทธศาสตร์เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกเพื่อการพัฒนา และลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการต่างๆ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลแต่ละประเทศ 3) การลงทุนพัฒนาโครงการโดยการหาแหล่งทุน และความร่วมมือทางการเงิน(Financial Level) ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (The Asian Infrastructure Investment Bank:AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม(Silk Road Fund) และ 4) การสร้างความไว้วางใจในทุกระดับ(Mental Level) และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมและสังคมในภูมิภาค 

บทวิเคราะห์

ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า “BRI เป็นความคิดริเริ่มที่โปร่งใสและเปิดกว้าง โดยเป็นไปตามกฎของการปรึกษาหารือ การมีส่วนร่วม และผลประโยชน์ร่วมกัน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนกำลังมองหาการปรับโครงสร้าง การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และสร้างชุมชนที่ใกล้ชิดในอนาคตร่วมกับอาเซียน ตัวอย่างเช่น การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ในเดือน ม.ค.2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมกับจีน ภายใต้หัวข้อ แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเรา (Our River of Peace and Sustainable Development) โดยมีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม เป็นต้น

สิ่งที่จะได้ในอนาคตอันใกล้อีกประการหนึ่ง ที่มีการกล่าวถึง และคาดการณ์กันไปต่างๆ นาๆ ได้แก่ มูลค่าของการลงทุนของจีนกับประเทศในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัวหรือไม่ อย่างไร จากผลสืบเนื่อง ที่นับวันจะทวีความถี่ของการตอบโต้ของมาตรากีดกันทางการค้า (tariff barriers) ระหว่างจีนกับสหรัฐ

อนาคตความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนจึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด การมีทั้งปัจจัยผลักดัน (Push Factor) และปัจจัยดึงดูด (Pull Factor) ดังที่กล่าวไป ทำให้ไทยจำต้องมีการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในทุกมิติว่าการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของจีน-อาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด การศึกษาในมิติที่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งการค้า การลงทุน สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ อาเซียนจะมีบทบาทอย่างไร ในการที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มเศรษฐกิจที่มีทั้งเศรษฐกิจภายในและภายนอกกลุ่มอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับจีน จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามต่อไป

*** ชื่อเต็ม: ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีน-อาเซียน: ก่อนและหลัง BRI

โดย... 

รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร

หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา/ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นักวิจัยฝ่าย 1 สกว. โครงการ “การขยายอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนของจีนในประเทศ CLMV”