ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร: ฐานการพัฒนาเกษตรไทย (2)***

ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร: ฐานการพัฒนาเกษตรไทย (2)***

บทความตอนที่แล้วอธิบายถึงความสำคัญของการคาดการณ์และเผยแพร่ข้อมูลผลผลิตการเกษตรที่รวดเร็วแม่นยำในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบครบวงจร

ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายตรงกลุ่มเป้าหมายและติดตามประเมินผลได้ เกษตรกรมีข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจเลือกปลูกพืชและลดความเสี่ยงกรณีที่ราคาตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาด และช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรด้วยการลดส่วนต่างระหว่างราคาซื้อ-ขายที่เกิดจากการที่ตลาดไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่แท้จริง (risk premium) เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในช่วงฤดูเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2560/61 ทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิที่ให้ผลผลิตปีละครั้งเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้ราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในช่วงท้ายของฤดูเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม 2561 เร่งตัวสูงถึง 15,106 บาทต่อตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวกว่าร้อยละ 60 เก็บเกี่ยวและขายไปในเดือนพฤศจิกายน ที่ราคาเพียง 11,040 บาทต่อตัน ทั้งที่เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 แต่ราคากลับไม่ตอบสนองต่อผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากตลาดไม่สามารถประเมินระดับผลกระทบที่แท้จริงได้ ดังนั้น ถ้าตลาดมีข้อมูลผลผลิตที่ประมาณการได้แม่นยำ ก็จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาได้

บทความตอนนี้จะพูดถึงรายละเอียดของกลไกการทำงานของระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (ระบบฯ) ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังร่วมกันพัฒนา

ระบบฯ ใช้เทคโนโลยี ICT ยุค 4.0 ในการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่มีอยู่แล้วจากหลายส่วนงานเพื่อติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจการเกษตรอย่างรอบด้านและทันกาล โดยระบบจะติดตามรายได้เกษตรกรสุทธิในสินค้าเกษตร 34 ชนิด เป็นรายจังหวัด ผ่านการติดตามแนวโน้มและพัฒนาการด้านปริมาณผลผลิต ราคาผลผลิต ราคาปัจจัยการผลิต โครงสร้างต้นทุน ภาระหนี้เกษตรกร และเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ดังสมการรายได้เกษตรกรสุทธิ 

รายได้เกษตรกรสุทธิ = รายรับรวม ต้นทุนรวม มูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติ รายจ่ายหนี้เพื่อการผลิต + เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ 

ในภาพรวม ระบบฯที่กำลังพัฒนาของไทยคล้ายระบบของ U.S. DEPARTMENT OF AGRICULTURE (USDA) ที่บูรณาการข้อมูลจากหลายมิติเพื่อติดตามพัฒนาการของผลผลิต แต่ต่างกันที่การประมาณการผลผลิตขั้นสุดท้าย โดย USDA เน้นใช้การสำรวจรายแปลงเป็นหลัก ขณะที่ระบบฯ ของไทยมีแนวทางใช้การสำรวจผลผลิต ณ จุดรับซื้อ แล้วเชื่อมโยงข้อมูลกลับไปสู่ฐานข้อมูลทะเบียนผู้เพาะปลูกเพื่อคำนวณผลผลิตสุทธิของฤดูกาลผลิต วิธีนี้สอดคล้องกับลักษณะการเพาะปลูกของไทยที่มีแปลงขนาดเล็กและกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ไม่เหมือนกับของสหรัฐมีแปลงขนาดใหญ่และกระจุกตัวอยู่ในบางมลรัฐ และยังช่วยให้ได้ผลผลิตคาดการณ์จากจำนวนตัวอย่างที่มากขึ้นด้วยต้นทุนถูกลงและสามารถคำนวณผลผลิตสุทธิของฤดูกาลผลิตได้เร็วกว่าวิธีเดิมที่ผู้สำรวจต้องเดินทางไปสำรวจยังแปลงเพาะปลูกที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ได้ผลการประมาณการที่รวดเร็วแม่นยำและเป็นที่ยอมรับ

ระบบฯจะติดตามพัฒนาการของผลผลิตตั้งแต่ช่วงเริ่มเพาะปลูกไปจนถึงช่วงที่ผลผลิตในฤดูกาลหมดลง และจะรายงานพัฒนาการของผลผลิตคาดการณ์เป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงเริ่มเพาะปลูก ผลผลิตจะถูกประมาณการจากพื้นที่เพาะปลูกที่ได้จากทะเบียนผู้เพาะปลูกของกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับผลผลิตต่อไร่ที่ได้จากแบบจำลองจากสภาพภูมิอากาศ เมื่อเวลาผ่านไป ระบบจะปรับประมาณการผลผลิตตามข้อมูลที่มีมากขึ้นจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เพาะปลูกจากภาพถ่ายดาวเทียม ทะเบียนผู้รับเงินชดเชยพื้นที่เสียหาย และผลสำรวจจากพื้นที่ของสำนักงานเขต 12 แห่งของ สศก. ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ระบบฯจะคำนวณผลผลิตสุทธิของฤดูกาลผลิตจากทั้งพื้นที่ให้ผลผลิตขั้นสุดท้ายที่เกิดจากการปรับฐานข้อมูลทะเบียนผู้เพาะปลูกตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างฤดูกาลเพาะปลูก และผลการสำรวจผลผลิตต่อไร่ ณ จุดรับซื้อที่มีการชั่งตวงวัดเพื่อการซื้อ-ขายอยู่แล้ว (ในทางปฏิบัติจะต้องมีมาตรการจูงใจเพื่อให้เกษตรกรและจุดรับซื้อให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล เช่น กำหนดให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นเงื่อนไขสำหรับการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในอนาคต) 

ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร: ฐานการพัฒนาเกษตรไทย (2)***

การเผยแพร่ข้อมูลผลผลิตร่วมกับผลสำรวจและการคาดการณ์แนวโน้มราคาผลผลิต ราคาปัจจัยการผลิต โครงสร้างต้นทุน ภาระหนี้สินของเกษตร และการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นรายพื้นที่และรายโครงการ จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคเกษตรได้รับประโยชน์ดังนี้ (1) เกษตรกร นอกจากมีข้อมูลแนวโน้มอุปสงค์และอุปทานของพืชทางเลือกต่างๆ ประกอบการตัดสินใจด้านการผลิตแล้ว ยังขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้นเนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อ-ขายที่ตลาดต้องกันสำรองสำหรับความไม่แน่นอนของผลผลิตลดลง (2) หน่วยราชการผู้กำหนดนโยบายอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยมีข้อมูลที่อ้างอิงได้ครบถ้วนในระดับพื้นที่และครัวเรือนสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย การออกแบบและดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกร และการติดตามประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และ (3) เอกชนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน มีข้อมูลประกอบการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจและวางแผนธุรกิจในระดับพื้นที่ที่รวดเร็วและแม่นยำ

ในเศรษฐกิจยุค 4.0 ความมั่งคั่งไม่ได้สร้างบนฐานของทุนแบบเก่า เช่น สิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักร แต่สร้างบนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวและเชื่อมโยงถึงกัน จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราหน่วยงานภาครัฐที่ต้องร่วมมือกันหาทางเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่เพื่อให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนความมั่งคั่งยุค 4.0

หมายเหตุ: รายชื่อทีมผู้เขียนบทความ ประกอบด้วยณรงค์ศักดิ์ การันต์ [email protected], ศุภาชัย ภาวีอัครกุล [email protected], ศรายุทธ ยิ้มยวน [email protected], สุเมธ พฤกษ์ฤดี [email protected] และดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ [email protected]

 

*** ชื่อเต็ม: ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร: ฐานของการพัฒนาภาคเกษตรไทยยุค 4.0 (ตอนที่ 2)