เมื่อไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตร :ใครได้ ใครเสีย***

เมื่อไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตร :ใครได้ ใครเสีย***

เมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การอุดมศึกษา ที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปการอุดมศึกษาของประเทศ ให้มีการจัดการอย่างมีหลักธรรมาภิบาล และพัฒนาคุณภาพบุคลากรของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มีมาตรฐานและมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งเป็นหลักการที่ดี เเต่ในร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ตัดอำนาจของสภาวิชาชีพไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการรับรองหลักสูตรต่างๆ ให้สภาวิชาชีพมีหน้าที่เพียงแค่สอบประเมินบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเพื่อรับใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมาตรฐานและคุณภาพของบัณฑิตที่จะเข้าสู่วิชาชีพสาขาต่างๆ และจะส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชน และสังคม ในวงกว้างต่อไป ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกสภาวิชาชีพไม่เห็นด้วย

สภาวิชาชีพอันประกอบด้วยแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาวิศวกร สภาสถาปนิกสภาวิชาชืพบัญชี และสภาทนายความ ได้รวมตัวกันแสดงความไม่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าว ในฐานะของนายกทันตแพทยสภาจะขอให้ความเห็นถึงปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

1.เหตุใดสภาวิชาชีพจึงต้องเข้ามารับรองหลักสูตร?

สภาวิชาชีพทำตามกฏหมายของแต่ละสภาวิชาชีพที่บัญญัติไว้ให้ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชา ซึ่งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติในทางสากลที่ประเทศเจริญแล้วทำกัน การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพเป็นหลักประกันคุณภาพของการศึกษาที่จะสร้างความความมั่นใจว่า เมื่อผู้สำเร็จการศึกษาแล้วจะได้มาตรฐานตามที่วิชาชีพกำหนด และคงไม่มีใครรู้มาตรฐานการทำงานของแต่ละวิชาชีพดีเท่าสภาวิชาชีพอีกแล้ว

หลักนี้เป็นหลักสากลและจะเป็นหลักประกันให้กับประชาชนที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสาขานั้น ๆ

2.การวัดผลโดยให้สภาวิชาชีพเพียงสอบวัดผลเพื่อรับใบนุญาต (license) ก่อนทำงานยังไม่เพียงพอต่อการประเมินอีกหรือ?

การศึกษาในทุกวิชาชีพนั้นจะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ การวัดผลในภาคทฤษฎีอาจทำกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจำนวนมากได้ แต่การวัดผลภาคปฏิบัติเป็นจำนวนมากในครั้งเดียวทำได้ยาก โดยเฉพาะวิชาชีพด้านการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยนั้นมีทักษะและเทคนิคเฉพาะจำนวนมากที่จะต้องประเมิน เพื่อให้มั่นใจว่ารู้และสามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐาน จึงยากที่จะใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการประเมินผล

การประเมินต้องทำโดยอาจารย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาการศึกษาฝึกอบรม และนี่คือเหตุผลว่าทำไมวิชาชีพจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำไมจึงต้องมีการกำหนดคุณวุฒิและจำนวนอาจารย์ที่จะดูแลนักศึกษาให้เหมาะสม กำหนดจำนวนและความหลากหลายของผู้ป่วยเพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติเพื่อให้มีความรู้ มีทักษะสามารถปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้กับสังคมว่าผลผลิตจากสถานศึกษาเหล่านี้มีมาตรฐานเพียงพอให้การดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ คือให้ประชาชนมีความมั่นใจว่ามาหาหมอคนนี้แล้วรักษาได้แน่

3.กระทรวงศึกษาธิการมีเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ควบคุมกำกับในการเปิดหลักสูตรอยู่แล้วยังไม่เพียงพออีกหรือ?

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานในการเปิดหลักสูตรที่ให้มหาวิทยาลัยถือปฏิบัตินั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่กว้างใช้กับทุกหลักสูตร ซึ่งไม่สอดคล้องและไม่เหมาะสมกับสายวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายทางการแพทย์ เปรียบเสมือนการตัดเสื้อขนาดเดียวแล้วให้ทุกคนใส่ได้ (one size fit to all) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในทางปฏิบัติแต่ละวิชาชีพมีรายละเอียดในการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติที่แตกต่างกัน จึงต้องให้แต่ละวิชาชีพได้เข้ามามีส่วนกำหนดมาตรฐานการเรียนการสอนและการรับรองหลักสูตรด้วย

4.การห้ามวิชาชีพรับรองหลักสูตรจะดึงให้มาตรฐานวิชาชีพต่ำลงกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

ความเชื่อถือเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากประชาชนต่อผู้ประกอบวิชาชีพถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทุกวิชาชีพตระหนักดี จึงพยายามสร้างและธำรงไว้ หลักปฏิบัติที่ทุกวิชาชีพทำคือการช่วยสร้างผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมมีจรรยาบรรณตามที่กำหนดออกมารับใช้สังคม ดังนั้นการห้ามไม่ให้วิชาชีพเข้าไปรับรองหลักสูตร นั่นหมายถึงจะไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพพอ จะทำให้คุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง ท้ายสุดจะทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและจะเป็นปัญหาของประเทศในอนาคต

5.การที่วิชาชีพเข้ามารับรองหลักสูตรเป็นการทำลายเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้ขาดความเป็นอิสระของการจัดการศึกษาจริงหรือ?

เสรีภาพต้องมีกรอบของความรับผิดชอบกำกับ เช่นเดียวกันความอิสระในการจัดการศึกษาต้องมีกรอบของคุณภาพและมาตรฐานกำกับอยู่ด้วย ยิ่งในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สร้างบุคลากรออกมารับใช้ประเทศยิ่งต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน การที่สภาวิชาชีพเข้ามาช่วยกำหนดเรื่องของมาตรฐานต่างๆ ให้ด้วย หากมองในมุมกลับยิ่งเป็นการช่วยให้มหาวิทยาลัยได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

กรอบมาตรฐานที่สภาวิชาชีพกำหนดเป็นเพียงแนวทางที่ให้มหาวิทยาลัยนำไปใช้ประกอบในการจัดทำหลักสูตร ตัวอย่างเช่น ทันตแพทยสภากำหนดว่าหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตนั้น จะต้องสอนไม่น้อยกว่า 220 หน่วยกิต มีวิชาบังคับทางทันตแพทยศาสตร์ไม่น้อยกว่า 184 หน่วยกิต ต้องฝึกปฏิบัติงานให้การรักษาในผู้ป่วยจริงไม่น้อยกว่า 2,000 ชั่วโมง ขณะนี้มีคณะทันตแพทยศาสตร์ที่ผ่านการรับรองจากทันตแพทยสภา 13 แห่งเป็นของรัฐ 11 แห่ง ของเอกชน 2 แห่ง หลักสูตรการสอนและจำนวนหน่วยกิตการสอนของแต่ละมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกันตั้งแต่ 225 ถึง 242 หน่วยกิต จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานก็แตกต่างกัน ไม่มีหลักสูตรใดเลยที่เหมือนกันทั้งหมดแม้แต่การเรียนการสอนในรายวิชาก็ยังมีความแตกต่างกัน วิธีจัดการเรียนการสอนก็แตกต่างกัน มีทั้ง competency base  problem base และ curriculum baseทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปณิธานและวิสัยทัศน์ของของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งทันตแพทยสภาไม่ได้กำหนดเป็นรูปแบบตายตัว ยังคงให้อิสระที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะดำเนินการได้

6.ไม่ให้สภาวิชาชีพให้การรับรองหลักสูตร ใครได้ใครเสีย

เป็นที่ยอมรับว่าปัจจุบันมีนักศึกษาสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยลดลงอย่างมาก ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งโดยเฉพาะวิทยาลัยเอกชนเริ่มขาดแคลนนักศึกษา หลักสูตรที่เคยเปิดง่าย และได้รับความนิยมโดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์หรือทางด้านบริหารมีนักศึกษาลดลงอย่างมาก มหาวิทยาลัยหลายเเห่งจึงหันความสนใจมายังสายวิชาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเดิมเปิดได้ยากเนื่องจากต้องปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานและผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพ

การให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตรได้ เข้ามาดูแลมาตรฐานของหลักสูตรตั้งแต่เริ่มต้นเป็นการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นหลักประกันว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จัดการเรียนการสอนนั้นจะผลิตบัณฑิตที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี เป็นหลักประกันให้กับนักศึกษาและผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในหลักสูตรนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนในการรับการศึกษา เพื่อให้คุ้มกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในระหว่างการศึกษา

โดยเฉพาะหลักสูตรทางด้านทันตแพทย์ที่เรียน 6 ปี มีค่าใช้จ่ายในการเรียนค่อนข้างสูง มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยเก็บค่าใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนและค่าเครื่องมือสูงถึง 1 ล้านบาทต่อปี กว่าจะจบหลักสูตรมีค่าใช้จ่าย 6 ล้านบาท มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาปีละ 100 คน เมื่อ มีนักศึกษาครบ 6 ชั้นปีก็จะมีรายได้ 600 ล้านบาทต่อปี หากไม่มีการควบคุมกำกับมาตรฐานการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาที่จบมีคุณภาพดีพอ ก็จะไม่สามารถสอบผ่านการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากทันตแพทยสภาได้ จะทำให้เกิดปัญหานั่นคือเรียนจบทันตแพทย์แล้ว เสียเวลาเสียเงินเป็นจำนวนมากแต่ทำงานเป็นหมอไม่ได้ ถึงตอนนั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ มหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่? เป็นคำถามที่จะฝากให้ผู้รับผิดชอบในกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาด้วย

บทสรุป

สภาวิชาชีพทุกแห่งมีความเห็นตรงกันว่าขอให้ตัดมาตรา 64 ถึง 66 ในร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ออก

เพื่อให้สภาวิชาชีพซึ่งเป็นผู้รู้และเชี่ยวชาญในวิชาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตบัณฑิตในสายวิชาชีพต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้เข้ามาช่วยกันดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะเป็นการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เป็นการคุ้มครองนักศึกษาและผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย และเป็นการคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการที่ได้มาตรฐานจากผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นผลผลิตจากมหาวิทยาลัย เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้วิชาชีพสาขาต่างๆมีความเจริญก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับจากประชาชนและเป็นที่ยอมรับในทางสากล.

*** ชื่อเต็ม: เมื่อร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตร :ใครได้ ใครเสีย 

โดย... 

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ 

นายกทันตแพทยสภา