ภาคธุรกิจต้องนำเรื่องต้านทุจริต

ภาคธุรกิจต้องนำเรื่องต้านทุจริต

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากสำนักงานป.ป.ช. และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย เป็นวิทยากรเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริต

ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผมพูดถึงความสำคัญของภาคธุรกิจในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และความก้าวหน้าของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต วันนี้เลยอยากเขียนเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ 

คอร์รัปชันในบ้านเราเป็นปัญหาเชิงระบบ (systemic) การแก้ปัญหาจึงไม่สามารถพึ่งองค์กรใด องค์กรหนึ่งที่จะแก้ปัญหา แต่ต้องมาจากทุกส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ ภาคธุรกิจและประชาชน เพราะคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมร่วมของสังคม ทำให้ทุกคนในสังคมต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหา 

สำหรับภาคธุรกิจ ในสมการคอร์รัปชัน บริษัทเอกชนถูกมองว่าอยู่ในสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้หรือด้านอุปทาน ขณะที่ภาครัฐอยู่ในสมการในฐานะผู้รับหรือด้านอุปสงค์ การแก้คอร์รัปชัน จึงต้องทำทั้ง 2 ส่วนคือ ทั้งผู้ให้และผู้รับ คือ บริษัทเอกชนต้องปฏิเสธที่จะไม่จ่ายสินบนในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทเอกชนสามารถทำได้ แต่บริษัทเอกชนเพียงบริษัทเดียวหรือ 2 บริษัทไม่จ่ายสินบนคงแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าจะสำเร็จ บริษัทเอกชนที่ไม่จ่ายสินบนต้องมีจำนวนมาก ต้องพร้อมใจกันทำหลายๆ บริษัท เป็นพันเป็นหมื่นบริษัท เพราะเมื่อบริษัทไม่จ่ายสินบน ฝ่ายรับก็ไม่มีอะไรจะรับ คอร์รัปชันก็จะลดลง ชี้ว่าคอร์รัปชันอาจแก้ได้ถ้าบริษัทเอกชนพร้อมใจกันไม่จ่ายสินบนในการทำธุรกิจ 

  นี่คือ แนวคิดของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตหรือโครงการ CAC จัดตั้งเมื่อปลายปี 2010 โดยองค์กรธุรกิจสำคัญ 8  องค์กร ที่มีสถาบันไอโอดี เป็นผู้ขับเคลื่อน โครงการ CAC เปิดพื้นที่ให้บริษัทเอกชนที่ไม่ต้องการจ่ายสินบน คือ ต้องการทำธุรกิจสะอาด ไม่มีคอร์รัปชัน สามารถมีที่ยืนโดยสมัครใจเข้าร่วมโครงการ CAC ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมมีพันธกิจต้องปฏิบัติ 3 ข้อ 1.)บริษัทต้องมีนโยบายทำธุรกิจสะอาด ไม่รับไม่จ่ายสินบน ออกโดยคณะกรรมการของบริษัท 2.)บริษัทต้องวางระบบควบคุมภายในและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่บริษัทจ่ายหรือรับสินบนในการทำธุรกิจ  3.)บริษัทต้องปฏิบัติจริงตามนโยบายและแนวปฏิบัติโดยการปฏิบัติจริง ต้องผ่านการสอบทานโดยผู้ตรวจสอบอิสระจากภายนอก บริษัทที่สามารถปฏิบัติได้ครบถ้วน ก็จะได้การรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด 

ตอนเริ่มโครงการ CAC ปลายปี 2010 มีบริษัทสมัครใจเข้าร่วมโครงการ 27 บริษัท ถึงปัจจุบัน 8 ปีให้หลัง จำนวนบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาดกับโครงการ CAC เพิ่มเป็น 917 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 432 บริษัท บริษัทจำกัด 485 บริษัท และมี 332 บริษัทผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ถือเป็นความคืบหน้าในภาคธุรกิจที่มีบริษัทจำนวนมากแสดงเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาด เพื่อร่วมแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ 

ต่อคำถามว่าทำไมบริษัทเหล่านี้เข้าร่วมโครงการ CAC คำตอบหลักก็คือ  1.)ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน  2.)ต้องการรักษาความน่าเชื่อถือหรือ integrity ของการทำธุรกิจในประเทศไทย และ 3.)ต้องการให้การทำธุรกิจในประเทศมีการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่น่ายกย่องที่มองประโยชน์ของประเทศเหนือประโยชน์ของบริษัท และน่ายินดีว่า ปัจจุบัน โมเมนตัมของโครงการ CAC มีต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง เหมือนโครงการ CAC มีชีวิตด้วยตัวเอง เพราะมีบริษัทสมัครเข้าร่วมโครงการ CAC อยู่เสมอ ทุกไตรมาสจะมีบริษัทอย่างน้อย 30-40 บริษัทสมัครขอเข้ารับการรับรองจากโครงการ CAC บางบริษัทมาขอรับรองเป็นรอบที่ 2 ตามเกณฑ์ที่ต้องรับรองทุก 3 ปี เป็นเรื่องที่น่ายินดี 

นอกจากนี้ มีบริษัทจำนวนมากที่เริ่มชักชวนบริษัทในห่วงโซ่ธุรกิจหรือใน supply chain ของตนเข้าร่วมโครงการ CAC ทำเป็นเงื่อนไขของการทำธุรกิจร่วมกัน ถือเป็นตัวอย่างของบริษัทที่ต้องการขับเคลื่อนธุรกิจสะอาดให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานของตน แต่จากที่บริษัทในห่วงโซ่ธุรกิจส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SME และไม่สามารถมีระบบควบคุมภายในตามข้อกำหนดของโครงการ CAC ได้เหมือนบริษัทใหญ่ โครงการ CAC จึงได้จัดตั้งโครงการ CAC-SME ขึ้นเพื่อรองรับบริษัทขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการโดยยึดหลักการครบถ้วนเหมือนบริษัทใหญ่ แต่มีรายละเอียดที่เหมาะกับธุรกิจ SME ทำให้โครงการ CAC ขณะนี้สามารถรองรับความตั้งใจของทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ที่ต้องการทำธุรกิจสะอาด ต่อต้านการทุจริต 

ที่สำคัญ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC เริ่มเห็นประโยชน์ของการมีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต เช่น  1.)ได้รับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการหรือซีจีในคะแนนที่ดีในสายตานักลงทุน เพราะบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติชัดเจนในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน  2.)ได้ประโยชน์จากมาตรา 123/5 หรือมาตรา 176 ของพ.ร.บ.ใหม่ของป.ป.ช. ที่ต้องการให้บริษัทมีนโยบายและมาตรการควบคุมที่เหมาะสมในการป้องกันการจ่ายสินบน ที่จะช่วยปกป้องบริษัทกรณีที่พนักงานบริษัทเกิดทำผิดและถูกดำเนินคดีให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ 3.)ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงการคลังตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ระบุชัดเจนให้บริษัทที่จะค้าขายหรือทำธุรกิจกับภาครัฐในวงเงินที่สูงกว่า 500 ล้านบาท ต้องมีนโยบายและแนวปฏิบัติชัดเจนที่จะทำธุรกิจสะอาด ไม่จ่ายสินบน ทำให้บริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC จะสามารถเป็นคู่ค้าของรัฐได้โดยปริยาย 

ผมเองได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า อุปสรรคสำคัญของการทำธุรกิจสะอาด ไม่จ่ายสินบน อยู่ที่ใจหรือ mindset ของเจ้าของธุรกิจและผู้บริหาร ถ้าเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารยังมองว่าการจ่ายสินบนเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อซื้อความสะดวก ซื้อความได้เปรียบในการทำธุรกิจ หรือซื้อความผิด ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศก็จะไม่ลดลง เรื่องนี้ เจ้าของบริษัทต้องตระหนักว่าการจ่ายสินบนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ได้งาน ซึ่งผิดกฎหมาย แต่จะทำลายธุรกิจในระยะยาว เพราะบริษัทจะต้องจ่ายสินบนอยู่ตลอดเวลา และจะไม่พัฒนาความสามารถในการทำธุรกิจ ตรงกันข้าม ถ้าเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารปฏิเสธไม่จ่ายสินบน ธุรกิจอาจถูกกระทบในระยะสั้น แต่ในระยะยาว เมื่อหลายๆ บริษัททำพร้อมกัน ธุรกิจของบริษัทก็จะสามารถเติบโตได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญ การเลือกแต่ที่จะจ่ายสินบน จะทำให้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศมีแต่จะแย่ลง และจะทำลายบริษัทและภาคธุรกิจของประเทศในที่สุด