การไม่ออกกำลังกายมีโทษอย่างไร

การไม่ออกกำลังกายมีโทษอย่างไร

ครั้งที่แล้ว ผมนำเสนอข้อสรุปจากการวิจัยว่าการออกกำลังกาย 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์

(โดยใช้เวลาออกกำลังกาย เช่น เดินเร็วหรือวิ่ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที) นั้น จะช่วยให้หัวใจ เส้นเลือดหัวใจแข็งแรง เสมือนกับคนที่อายุน้อยกว่าเป็น 10 ปี และหากเริ่มต้นออกกำลังกายตอนที่อายุเข้าวัยกลางคนแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไป เพราะการออกกำลังกายในลักษณะที่กล่าวข้างต้น จะทำให้หัวใจหนุ่มแน่นขึ้นเป็นการ reverse aging ไม่เพียงแต่ slow down aging การที่นำเอาเรื่องของหัวใจมาวิจัยนั้น ก็เพราะ โรคหัวใจเป็นปัญหาที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยกำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็ว โดยบทวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ประเมินว่า จำนวนคนไทยอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านคนในขณะนี้ มาเป็น 34 ล้านคนใน 20ปีข้างหน้า คนกลุ่มนี้(ซึ่งรวมถึงผมด้วย) จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เพราะเรามีสมมติฐานว่า คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำงานได้ (คนไทยเริ่มออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่อายุ 45 ปี โดยเฉพาะผู้หญิง) ทำให้เศรษฐกิจมีปัจจัยการผลิต (แรงงาน)ลดลง และยังจะต้องใช้ทรัพยากรมาดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพในการขยายตัวลดลงประมาณ 0.7-1.5% ต่อปี แปลว่าหากเดิมเศรษฐกิจขยายตัวเต็มศักยภาพได้ 5% ต่อปี ก็จะลดลงเหลือเพียง 3.5% ต่อปี ถามว่าการลดลงจาก 5% ต่อปี เป็น 3.5% มีนัยสำคัญอย่างไร ก็ตอบได้ว่า หาก จีดีพี ขยายตัว 5% ต่อปี ก็จะทำให้ จีดีพี เพิ่มขึ้นเท่าตัว ภายในเวลาประมาณ 14-15 ปี แต่หากโต 3.5% ต่อปีจะต้องใช้เวลากว่า 20 ปี จีดีพี จึงจะโตอีกหนึ่งเท่าตัว

แต่หากผู้สูงอายุรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง แม้จะอายุ 65  70  75 ปีแล้ว ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยลงกว่าที่ประเมินข้างต้นอย่างมาก เพราะผู้สูงอายุจะสามารถทำงานได้ และจะลดภาระในด้านของการใช้ทรัพยากรในการรักษาพยาบาลลงไปได้อีกมาก ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของผม ดังที่เคยกล่าวมาแล้วคือ ดูแลตัวเองให้มี health span ที่ยืนยาวที่สุด และให้ die young at a very old age แปลว่าสมมุติว่าต้องตายตอนอายุ 75 ปี ก็ขอให้สุขภาพดีจนกระทั่งอายุ 74 ปี 11 เดือน กับ 29 วัน เพื่อให้เป็นภาระกับลูกหลานและเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด

ดังนั้น นอกจากการหาข้อมูลว่า การออกกำลังกายนั้นดีกับสุขภาพอย่างไรแล้ว ผมจึงหาข้อมูล การไม่ออกกำลังกายว่ามีโทษอย่างไรบ้าง จึงได้ข้อมูลจากการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetologia (เกี่ยวกับโรคเบาหวาน) ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัย Liverpool ในเดือนมิถุนายน 2018 ซึ่งขอให้ผู้ใหญ่ ชาย-หญิง 45 คน ซึ่งเคยเป็นคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (เดินวันละ 10,000 ก้าว หรือมากกว่านั้น) ลดการออกกำลังกายลงเหลือการเดินเพียงวันละ 2,000 ก้าว และให้นั่งเฉยๆ มากขึ้นกว่าเดิม 3.5 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และหลังจากนั้น ให้กลับมาออกกำลังกายเช่นที่เคยทำต่อไปอีก 2 สัปดาห์ พบว่า

1.ผู้ที่ร่วมการทดลองเกือบทุกคน ร่างกายเสื่อมสภาพลง กล่าวคือ ระดับน้ำตาล ไขมัน และ คอเลสเตอรอลสูงขึ้น ในขณะที่ กล้ามเนื้อหดตัวลงที่ขา ในขณะที่ไขมันที่ท้องเพิ่มขึ้น

2.เมื่อให้กลับไปออกกำลังกายตามปกติเหมือนเดิม ก็พบว่า ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกลับมามีสุขภาพดีเช่นเดิมทั้งหมด (not fully reversed) ดังนั้น การหยุดพักร้อนเพื่อไปนั่งๆ นอนอ่านหนังสือที่ยาวนานเป็นสัปดาห์นั้น ไม่ควรทำ เพราะไม่เป็นการฟื้นฟูร่างกาย การที่ผู้สูงอายุป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและใช้เวลาพักฟื้นเป็นเวลานานหลายสัปดาห์จะเป็นอันตรายข้างเคียงที่ค่อนข้างสูง

ในภาพใหญ่นั้น National Health Service ของอังกฤษ (18 ก.ค. 2012) ได้กล่าวถึง ผลการวิจัยที่นำเสนอในวารสาร Lancet ซึ่งสรุปว่า การไม่ได้ออกกำลังกายนั้น เป็นอันตรายต่อชีวิตเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ (inactivity is as deadly as smoking) กล่าวคือ

1.การไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต รวมทั้งสิ้น 5.3 ล้านคนในปี 2008 คิดเป็น เกือบ 10% ของการเสียชีวิตทั้งหมด 57 ล้านคนในโลกในปีเดียวกัน

2.การไม่ออกกำลังกายเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ความดันสูง โรคเบาหวาน และ มะเร็งในเต้านม (ผู้หญิง) และมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ การเสียชีวิตจากมะเร็งในลำไส้ใหญ่นั้น 18.7% เกิดจากการไม่ออกกำลังกาย (สูงกว่าโรคหัวใจที่ 10.5%)

3.ในปี 2000 นั้น มีคนเสียชีวิตเพราะการสูบบุหรี่ ทั้งสิ้น 5 ล้านคน ทำให้ สรุปว่าการไม่ออกกำลังกายนั้น ร้ายแรงกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งอาจเป็นการสรุปเกินจริง เพราะสัดส่วนของการสูบบุหรี่ในประชากรทั้งหมดนั้น ต่ำกว่าสัดส่วนของประชากรที่ไม่ออกกำลังกาย 

ดังนั้น ผมจึงสรุปเองว่า การสูบบุหรี่ก็ยังเป็นกิจกรรมที่อันตรายสูงสุดและเป็นสิ่งที่ต้องห้ามโดยไม่มีเงื่อนไขครับ