The Boring Company จิ๊กซอว์ที่เติมเต็มของอีลอน

The Boring Company จิ๊กซอว์ที่เติมเต็มของอีลอน

หากคิดถึงภาพรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็ว 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเมืองใหญ่ที่ผู้คนและยานพาหนะคราคร่ำโดยไม่ต้องลดความเร็วระหว่างทางไม่สร้างมลพิษ

แถมค่าโดยสารน้อยกว่ารถประจำทาง หลายคนคงจินตนาเห็นภาพรถยนต์ในนิยายวิทยาศาสตร์ที่ขับทะลุมิติผ่านบ้านเรือนได้โดยไม่มีใครมองเห็น ภาพในนิยายไซไฟที่ถูกจินตการขึ้นกำลังจะเกิดขึ้นโดยนักประดิษฐ์คนสำคัญแห่งยุคดิจิทัล “อีลอน มัสก์ (Elon Musk)” ซีอีโอของ SpaceX และ Tesla และผู้ก่อตั้งบริษัทเดอะบอริ่งคัมปานี (The Boring Company) ที่มีแผนจะนำรถพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งรอดอุโมงค์ใต้เมืองใหญ่อย่างชิคาโก ลอสแองเจลิส วอชิงตันดีซีและนิวยอร์ก และผลักดันให้เกิดนวัตกรรมการขุดเจาะอุโมงค์ (Tunneling) และการขนส่งมวลชน (Mass Transportation) ที่กำลังจะเปลี่ยนการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คนตลอดไป

 

จากจินตการสู่ความจริง

หลังจากต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักในนครลอสแองเจลิส อีลอนได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท The Boring Company (TBC) ขึ้นในปี 2016 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและการเดินทางในเมือง โดยมีแนวคิดว่าการเดินทางควรจะเกิดขึ้นในลักษณะสามมิติ (3-D Transportation) อาศัยการขนส่งผู้คน รถยนต์หรือสิ่งของจากบนพื้นดินลงสู่ใต้พื้นพิภพผ่านอุโมงค์ไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่ง The Boring Company จะเป็นผู้ลงมือก่อสร้างเส้นทางวิ่ง ขุดเจาะอุโมงค์และวางระบบขนส่งความเร็วสูงใต้พื้นดินที่เรียกว่า "Loop" เพื่อขนส่งผู้โดยสารมากถึง 8 หรือ 16 คนด้วยยานพาหนะไฟฟ้าไร้คนขับ (Autonomous Electric Skates) ที่วิ่งด้วยความเร็ว 200-240 กิโลเมตรต่อชั้วโมงในอุโมงค์ 

อีลอนและทีมงานได้เริ่มทำงานวิจัยด้านนวัตกรรมหัวเจาะอุโมงค์ (Tunnel Boring Machine, TBM) เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าหอยทากที่เคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 0.05 กิโลเมตรต่อชั้วโมง ซึ่งก็ยังนับว่าเร็วกว่าการเคลื่อนที่ของหัวเจาะในปัจจุบันถึง 14 เท่า และได้วางแนวคิดใหม่ในการตักขนย้ายเศษหินและดินที่ขุดได้ (Mucking) และการสร้างผนังอุโมงค์ (Reenforcement Segment) โดยคิดหาวิธีผลิตอิฐจากเศษหินและดินในบริเวณก่อสร้างเพื่อนำกลับมาใช้ในการก่อสร้างอุโมงค์ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างลงได้ถึง 10-15% โดยอิฐที่เหลือจากการผลิตสามารถนำไปขายให้ผู้ที่ต้องการได้ รวมถึงการพัฒนายานพาหนะเพื่อขนส่งสิ่งก่อสร้างภายในอุโมงค์หรือใช้ในการขนส่งผู้โดยสารให้เป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน จนช่วยลดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของอุโมงค์ลงจากขนาดปรกติที่ 8.5 เมตรให้เหลือเพียง 4.25 เมตร ทำให้เพิ่มความปลอดภัยในการทำงานและลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างลงถึง 3-4 เท่าตัว

 

The Boring Company ได้เริ่มก่อสร้างอุโมงค์ทดสอบแห่งแรกในบริเวณสถานที่ของ SpaceX เรียกว่า “Hawthorne Test Tunnel” ที่มีความยาวถึง 3.2 กิโลเมตรซึ่งจะพร้อมใช้งานในปี 2018 และล่าสุดได้เริ่มโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทดสอบแห่งใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตจากนครลอสแองเจลิสให้สามารถขุดอุโมงค์ใต้เมืองในระยะทางถึง 4.3 กิโลเมตร เพื่อใช้ในพิสูจน์การพัฒนาและทดสอบแนวคิดของนวัตกรรม (Proof-of-Process Tunnel)

 

ความจริงที่ต้องพิสูจน์

ในเดือนกรกฎาคม 2018 นครชิคาโกได้ประกาศให้ The Boring Company ได้รับเลือกให้ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนใหม่จากสนามบิน O’Hare International Airport มายัง Block 37 ในย่านใจกลางธุรกิจที่มีการจราจรหนาแน่นคิดเป็นระยะทางเกือบ 29 กิโลเมตร ซึ่งบริษัท The Boring Company จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินการให้บริการ และซ่อมบำรุง (D-BOM) ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายนี้ ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จจะใช้เวลาในการเดินทางเพียง 12 นาที โดย The Boring Company จะลงทุนในโครงการก่อสร้างเองทั้งหมด และจะได้รับรายได้จากการให้บริการและการโฆษณาในรถไฟฟ้าใต้ดิน

 

การตัดสินใจของอีลอนในการประมูลครั้งนี้ได้สร้างเสียงวิพากวิจารณ์อย่างมากถึงความคุ้มทุนและความสำเร็จในการก่อสร้าง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟใต้ดินอย่าง The Second Avenue Subway ในมหานครนิวยอร์กซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการคิดมูลค่าในการก่อสร้างถึง 1,490 ล้านดอลลาร์ต่อกิโลเมตร หรือรถไฟใต้ดินสาย Line 14 Extension ในกรุงปารีสซึ่งใช้เงินในการก่อสร้างถึง 280 ล้านดอลลาร์ต่อกิโลเมตร ความสำเร็จของโครงการนี้จึงดูจะเรื่องที่ท้าทายเกินจริง โดยอีลอนได้ตอบข้อข้องใจในเรื่องนี้ว่า “โครงการนี้เป็นสิ่งที่ยากที่เราจะทำให้สำเร็จ มันเป็นสิ่งใหม่ ผมจึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกคน เพราะหากเราทำได้สำเร็จ โครงการนี้ก็จะสร้างสิ่งที่ดีให้กับเมืองนี้ แต่ถ้าเราทำไม่สำเร็จ ทั้งผมและคนอีกกลุ่มหนึ่งก็จะสูญเสียเงินจำนวนมากไป”

 

 

สานฝันไปยังดวงดาว

ความฝันของอีลอน มัสก์ดูจะมีความเป็นไปได้ จากความสำเร็จของการลดค่าใช้จ่ายในการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศของ SpaceX จนเปิดฉากใหม่ให้กับการค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมาแล้ว เห็นได้ว่านวัตกรรมในการขุดเจาะอุโมงค์และระบบขนส่งมวลชนใหม่ของ The Boring Company เป็นการรวมเอาผลิตผลจากการประดิษฐ์รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและการพัฒนาแบตเตอรี่ของเทสล่ามาใช้ในการสร้างอุโมงค์ทำให้ช่วยลดขนาดของอุโมงค์ลงได้กว่าครึ่ง ส่วนตัวถังของรถไฟฟ้าใหม่ก็พัฒนามาจากแชสซีของ Tesla Model X อีกทั้งอีลอนยังถึงกับนำผู้บริหารและวิศวกรกลุ่มหนึ่งจาก SpaceX มาทำงานให้กับบริษัทใหม่นี้ จนเปิดฉากใหม่ให้กับนวัตกรรมการขุดเจาะอุโมงค์และการขนส่ง

 

จึงดูเหมือนว่า The Boring Company น่าจะเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยเต็มเติมฝันของอีลอนเพื่อการใช้ชีวิตในดาวอังคาร ช่วยให้สามารถขุดเจาะอุโมงค์และนำทรัพยากรบนดาวมาใช้ในการดำรงชีวิตในต่างดาว