โศกนาฏกรรมกรีกเปิดฉากใหม่

โศกนาฏกรรมกรีกเปิดฉากใหม่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรีซปิดฉากการรับความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการเงินจากสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ต้นตอของการต้องขอรับความช่วยเหลือครั้งนี้มีที่มาจากนโยบายแนวประชานิยมแบบเลวร้าย ซึ่งรัฐบาลดำเนินอย่างต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี รัฐบาลจากทุกพรรคการเมืองเพิ่มรายจ่าย เพราะหวังจะเอาใจประชาชนเพื่อเรียกคะแนนเสียง รวมทั้งการเพิ่มสวัสดิการด้านต่างๆ และจ้างพนักงานของรัฐเพิ่มขึ้น เมื่อรายได้ไม่พอจ่าย รัฐบาลก็กู้ยืมโดยเฉพาะจากสถาบันการเงินข้ามชาติขนาดใหญ่ที่พร้อมจะให้ยืมจำนวนมาก นอกจากการให้ยืมแล้ว หนึ่งในสถาบันเหล่านั้นยังให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในด้านการตกแต่งบัญชีให้ดูดีขึ้นอีกด้วย

กรีซเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งมีข้อกำหนดว่า ห้ามสมาชิกใช้จ่ายจนทำให้งบประมาณขาดดุลเกิน 3% ของรายได้ ซึ่งวัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) ก่อนที่กรีซจะประสบวิกฤติเศรษฐกิจถึงขั้นใกล้ล้มละลายจนต้องไปขอความช่วยเหลือฉุกเฉินนั้น กรีซรายงานว่ามีปัญหาเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ รัฐบาลมีรายจ่ายที่ทำให้งบประมาณขาดดุลราว 4% ของจีดีพี แต่ตัวเลขนี้มาจากการตกแต่งบัญชีเพื่อหลอกตัวเองและตบตาสมาชิกอื่นในสหภาพยุโรป หากปราศจากการตกแต่งบัญชี การขาดดุลงบประมาณจะสูงถึง 14% ของจีดีพี ความจริงนี้ปรากฏเมื่อโลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2551 ทำให้กรีซไม่สามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ มาปิดบัญชีได้ส่งผลให้ต้องไปขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน

เนื่องจากระดับการขาดดุลงบประมาณนั้นสูงมาก กรีซต้องขอความช่วยเหลือถึง 3 ครั้งติดต่อกันรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3.6 แสนล้านดอลลาร์นับว่าเป็นการช่วยเหลือทางการเงินก้อนใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่กรีซเป็นประเทศขนาดเล็กเนื่องจากมีประชากรเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น ดังเป็นที่ทราบกันดี การช่วยเหลือนี้มิใช่การให้เปล่า เมืองไทยเรารู้ดีเมื่อเกิดวิกฤติปี 2540 เพราะไทยไปขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ซึ่งบังคับให้ไทยทำหลายอย่าง รวมทั้งการขาย ปตท. การขายนี้มีเงื่อนงำซึ่งสร้างความขมขื่นใจให้แก่คนไทยจำนวนมากมาถึงปัจจุบัน

เพื่อหาเงินมาใช้หนี้จำนวนมหาศาล กรีซต้องยอมทำงบประมาณให้เกินดุลโดยการตัดรายจ่ายลงพร้อมกับขึ้นภาษีและขายสมบัติของชาติ ทั้งรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก รัฐบาลต้องปลดพนักงานของรัฐและลดสวัสดิการสังคมพร้อมกับขายสมบัติชิ้นโต ๆ เช่น ที่ดินผืนใหญ่ที่เคยใช้เป็นสนามบินของเมืองหลวง กิจการท่าเรือเล็กใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง บริษัทสื่อสารและการคมนาคม องค์การประปาและกิจการพลังงาน รวมทั้งบริษัทน้ำมัน กิจการไฟฟ้าและก๊าซ มาตรการเหล่านี้มีผลกระทบสูงมาก มันทำให้เศรษฐกิจถดถอยกว่า 25% และอัตราการว่างงานสูงถึง 28% กระนั้นก็ตาม รัฐบาลยังจะต้องทำงบประมาณเกินดุลต่อไปอีกกว่า 40 ปี กล่าวคือ เกินดุลเท่ากับ 3.5% ของจีดีพีไปถึงปี 2565 และลดลงมาอยู่ที่ 2.2% ของจีดีพีจนถึงปี 2603 การรัดเข็มขัดให้ตึงถึงขนาดนนี้ ชาวกรีกจะมีความอดทนพอหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัยของผู้สังเกตการณ์ หากชาวกรีกทนไม่ได้ จำนวนมากคงจะออกมาขับไล่รัฐบาลและก่อจลาจส่งผลให้โศกนาฏกรรมอันยาวนานเพิ่มความเลวร้ายขึ้นไปอีก

คอลัมน์นี้พูดถึงผลพวงของนโยบายแนวประชานิยมแบบเลวร้ายมากว่า 10 ปี เพราะมีตัวอย่างที่ควรทำให้คนไทยและรัฐบาลตระหนักหลังจากรัฐบาลเริ่มนำนโยบายอันเป็นยาเสพติดนี้มาใช้เมื่อ ปี 2544 ล่าสุดได้พูดถึงกรณีของเวเนซุเอลา ซึ่งกำลังประสบปัญหาสาหัสถึงขั้นล้มละลายอยู่ในปัจจุบันทั้งที่มีน้ำมันปีโตรเลียมมากที่สุดในโลก

โศกนาฏกรรมในกรีซและในเวเนซุเอลาเป็นตัวอย่างที่ตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ผลพวงของประชานิยมแบบเลวร้ายจะทำให้สังคมล้มลุกคลุกคลานเป็นเวลานาน และอาจเลวร้ายถึงขั้นล่มสลายในได้ที่สุด โศกนาฏกรรมแนวนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรีซอันเป็นต้นกำเนิดของการสร้างละครแนวโศกนาฏกรรม หากอาจเกิดขึ้นได้ทั่วไป รวมทั้งในเมืองไทยซึ่งใช้นโยบายแนวประชานิยมแบบเลวร้ายมากว่า 17 ปี หากบทเรียนจากการขายสมบัติของชาติจำพวก ปตท. ยังไม่พอสำหรับที่จะรับรู้และปรับนโยบาย ต่อไปคนไทยจะได้ดูโศกนาฏกรรมไทยที่จะเลวร้ายไม่ต่ำกว่าโศกนาฏกรรมกรีก