ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น

ชนชั้นใดร่างกฎหมาย  ก็เพื่อชนชั้นนั้น

วันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ย.ที่จะถึงนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะแถลงผลงาน หนึ่งในผลงานคือ กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสนช. 300 ฉบับ

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 294 ฉบับ อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ วาระ 2 และ 3 อีก 30 ฉบับ จึงไม่มีกฎหมายค้างท่อ

ทว่า ใน 300 ฉบับ ไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยที่มาจากการเข้าชื่อเสนอของภาคประชาชน

ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้ยึดมั่นในหลักนิติธรรม” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกเองว่า ปัจจุบันมีกฎหมายมากเกินไป ที่จะทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องของใบอนุญาตต่างๆ จนอาจกลายเป็นช่องทางทุจริตของข้าราชการ โดยถ้าไม่จัดการกระบวนการออกกฎหมายประชาชนก็จะกลายเป็นเหยื่อ

มีชัย นั้นบอกว่า ควรที่จะยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็น ซึ่งถ้าทำได้ ทั้งประชาชน และข้าราชการต่างก็จะมีความสุข

กฎหมายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ มากที่สุดในห้วงเวลานี้ คือ กรณีเพิ่มโทษกรณีไม่พกใบขับขี่ จำคุก 3 เดือน ปรับสูงสุด 50,000 บาท ในที่สุดดูเหมือนฝ่ายรัฐ ยอมถอย ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอให้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว กลับมายังกระทรวงคมนาคม และส่งต่อคืนให้กับกรมการขนส่งทางบก ในฐานะเจ้าของกฎหมายนำไปแก้ไข ทบทวน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก สนิท พรหมวงษ์ บอกว่า ประเด็นบทลงโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท กรณีไม่พกใบขับขี่ ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนอย่างกว้างขวางว่าเป็นอัตราโทษปรับที่สูงเกินไปนั้น เบื้องต้น คงจะต้องปรับลดอัตราโทษปรับลง แต่ปรับลดลงเท่าไหร่ กรมจะต้องหารือกับหน่วยงานกลางที่มีส่วนร่วมในการร่วมออกและใช้กฎหมายให้รอบคอบก่อน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

นี่คือตัวอย่างของการออกกฎหมายโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ดังนั้น จำนวนกฎหมายที่ผ่านสนช. 300 ฉบับ ก็ดี หรือภาครัฐเสนอเอง ก็ดี ควรฟังเสียงชาวบ้านก่อน

ดังคำกล่าวที่ว่า “ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ยังคงเป็นความจริง ไม่ว่ายุคใดหรือสมัยใด