แชมป์ข้าวหอมมะลิจากพะเยาที่ต้องชิม

แชมป์ข้าวหอมมะลิจากพะเยาที่ต้องชิม

นอกจากพะเยาได้ผู้ว่าฯคนใหม่เป็นคนเก่งคนดังของประเทศ ปีการผลิต ๒๕๕๙/๖๐ เป็นปีทองของจังหวัดพะเยาอย่างยิ่ง

ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลสบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทกลุ่มเกษตรกร จากคณะกรรมการตัดสินการประกวดข้าวหอมมะลิแห่งประเทศไทย โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 18 พ.ค.2560 และ ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลดงเจน อ.ภูกามยาว จ.พะเยา ยังได้รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 ในการประกวดครั้งเดียวกันอีกด้วย

นี่เป็นการรับรองมาตรฐานระดับประเทศว่าเป็นข้าวปลอดภัย คุณภาพดี สนองความต้องการทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออก ซึ่งกว่าจะตัดสินให้รางวัลได้ต้องผ่านการตรวจสอบคุณลักษณะหลายขั้นตอน ตั้งแต่ยังเป็นรวงข้าวเปลือกจนถึงขั้นสีเป็นข้าวสารหุงชิมโดยคณะกรรมการฯ

แชมป์ข้าวหอมมะลิจากพะเยาที่ต้องชิม

ภาพ: นายสิงห์คำ แก้วคำปา (ที่ 5 จากขวา) ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลสบบงเป็นตัวแทนรับมอบรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ  ข้าวหอมมะลิปีการเพาะปลูก 2559/60 จากผู้แทนกระทรวงพาณิชย์นางศุภมิตร เต็งเผ่ (ที่ 4 จากขวา) ณ ตำบลภูซาง จ.พะเยา รางวัลประกอบด้วยโล่ประกาศเกียรติคุณ แทรกเตอร์ 1 คัน รถไถเดินตาม 2 คัน เงินรางวัล 20,000 บาท  รวมมูลค่า 600,000 บาท

 ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ในการให้สัมภาษณ์เมื่อรับตำแหน่งสดๆร้อนๆเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ “ตอกย้ำ” ของดีของจังหวัดพะเยาให้ฟังกันชัดๆทั้งประเทศอีกครั้ง เอ่ยถึงข้าวหอมมะลิพะเยาในบริบทของ ข้าวหอมมะลิสามจังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่และพะเยา ซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้วมายาวนานว่าเป็น “ข้าวพรีเมียม” หวังใจว่าท่านจะสามารถร่วมมือกับหน่วยราชการอื่นและชาวนาผู้ผลิตตลอดจนผู้ค้าผู้บริโภคในท้องถิ่นพัฒนาอนาคตของข้าวหอมมะลิพะเยาให้รุ่งยิ่งขึ้นไป ผู้บริโภคได้กินข้าวดีชาวนามีรายได้สูงขึ้นทั้งขายข้าวเปลือกและข้าวสารโดยเฉพาะการขายตรงถึงผู้บริโภคที่เป็นปรากฎการณ์เพิ่งเกิดไม่นานแต่ว่าก็มาแรง

 นับเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาชาวนาบางส่วนตื่นตัวผลิตข้าวสารขายโดยตรงถึงผู้บริโภค ไม่ขายข้าวเปลือกไปจนหมดหลังการเก็บเกี่ยวเหมือนแต่ก่อนแม้ว่าชาวนาที่ผลิตข้าวสารจากข้าวเปลือกของนาตนเองจะยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนชาวนาที่ขายผลผลิตเป็นข้าวเปลือก

ปรากฎว่าชาวนาแทบทุกคนเมื่อสามารถขายข้าวสารเองโดยตรงถึงผู้บริโภค ต่างพอใจเพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งได้พบปะผู้บริโภค เกิดความผูกพันและภูมิใจ อย่างไรก็ตาม เส้นทางยังไม่สะดวกโยธินนัก

กลุ่มเกษตรกรบ้านสบบงขณะนี้รวมแล้วมีนาที่เรียกว่า แปลงใหญ่ 300 กว่าไร่ ประกอบด้วยชาวนาผู้ผลิต 50 กว่ารายซึ่งแทบจะหมายถึงคนเกือบหมดหมู่บ้าน

จากเริ่มต้นที่เป็นกลุ่มเล็กๆ 20 กว่าคนเมื่อ พ.ศ 2547 ล้มลุกคลุกคลานกันมามากทีเดียวด้วยการชักนำส่งเสริมจากเกษตรกรตำบลที่นำพันธุ์ข้าวนำปุ๋ยมาให้เริ่มตั้งกลุ่มกว่าจะจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ในอีกสองปีต่อมา

ทุกวันนี้แม้จะร่วมมือพร้อมใจกันได้ในการผลิตเป็นกลุ่ม ใช้เงินกองกลางซื้อพันธุ์ข้าวเป็นกลุ่ม ซื้อปุ๋ยเป็นกลุ่ม อาจเช่ารถเก็บเกี่ยวเป็นกลุ่มบ้าง ต่างคนต่างเก็บเกี่ยวบ้าง แต่ในการขาย ต่างคนยังต่างขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายข้าวเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยวโดยข้าวเปลือกเดินทางตรงจากนาไปโรงสี 2 โรงในพื้นที่นั้น

รองประธานกลุ่มฯ นายทนงศักดิ์ รวมสุขในวัย 50 กว่าปี เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถเก็บข้าวเปลือกของตนเองไว้ได้จำนวนหนึ่ง นำมาผลิตเป็นข้าวสารหอมมะลิสบบงบรรจุถุงและขายตรงถึงผู้บริโภคซึ่งพบว่าขายกิโลกรัมละ ประมาณ 70 บาท ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าการขายเป็นข้าวเปลือก รู้สึกพอใจมาก แต่ปัญหาคือ การขายเกิดขึ้นก็เมื่อเดินทางไปอบรมบ้าง ได้รับเชิญไปงานโอทอปบ้าง เป็นวิทยากรบ้าง

เขายอมรับว่าส่วนหนึ่งที่มาถึงตรงนี้ มีวันนี้ ก็ด้วยการส่งเสริมช่วยเหลือตั้งแต่แรกจากเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เมื่อส่งไปประกวดก็ด้วยการแนะนำจัดการของ เกษตรอำเภอภูซางขณะนั้น นายบุญส่ง เหมยคำสุข เจ้าของวาทะ "ข้าวดีก็เหมือนมวยดี ต้องมีพี่เลี้ยงพาไปขึ้นเวที"ปัจจุบันในวัย 58 ปี ได้ย้ายมาเป็นเกษตรอำเภอแม่ใจ จ.พะเยา

กระทั่งเครื่องฟิลม์ที่บรรจุข้าวสารขณะนี้ นายอำเภอภูซางเป็นคนนำมาให้

สำหรับคนชอบหาข้าวดีๆ มาชิมมากิน ขอให้สังเกตว่าในการที่ชาวนาผลิตข้าวสารจากข้าวเปลือกของตนเองบรรจุขายตรงถึงผู้บริโภค ได้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่ดีมากๆ เพราะบรรจุภัณฑ์จะบอกพันธุ์ข้าว แหล่งผลิตทางภูมิศาสตร์ อย่างชัดเจน รวมทั้งวันเดือนปีผลิต แตกต่างจากบรรดาข้าวถุงแต่ก่อนที่โดยทั่วไปไม่บอกอะไรนอกจากยี่ห้อตราบริษัทผู้บรรจุถุง การซื้อปลีกตามร้านขายข้าวทั่วไปส่วนใหญ่ก็ไร้ข้อมูลจำเพาะใดๆ

ของกินดีๆ มักต้องมีเงื่อนไขแหล่งผลิตด้วยเสมอ เช่น ทุเรียนดีๆ ไวน์ดีๆ น้ำมันมะกอกดีๆ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีการระบุแหล่งผลิตทางภูมิศาสตร์ทั้งนั้น นี่จึงเป็นสัญญานการยกระดับมาตรฐานการผลิต การจำหน่ายและการบริโภคที่กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นในระบบของเราที่ควรประคับประคองพัฒนาต่อไป เพื่อยกระดับให้มีการผลิตข้าวดีๆ กินกันทั่วหน้า ทั้งในหมู่คนไทยและชาวโลกผู้ซื้อข้าวไทยกิน

อย่างไรก็เถอะ การจะได้ชิมรสข้าวหอมมะลิที่เพิ่งจะชนะเลิศระดับแชมป์ประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทั้งในร้านค้าเอกชนใหญ่เล็กและร้านค้าในอำเภอเมือง จ.พะเยา ซึ่งบางร้านมีข้าวอย่างดีที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพะเยาสนับสนุนช่วยขายโดยเป็นข้าวสารระดับกิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป แต่ก็ไม่มีข้าวหอมมะลิสบบง ในที่สุดจึงต้องติดต่อขอซื้อไปยังกลุ่มเกษตรกรสบบงโดยตรง

คำตอบ คือ ข้าวหอมมะลิสบบงของกลุ่มขณะนี้ขายไปหมดแล้ว พอมีเหลือบ้างก็เป็นข้าวของรองประธานกลุ่มฯ นายทนงศักดิ์ จะนำออกขายครั้งต่อไปก็คือในงานที่เชียงราย เดือน ก.ย.