ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ*

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ*

ผู้เขียนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ที่ว่านี้ ว่าอาจจะเป็นพ.ร.บ.อันตราย ที่อาจจะส่งผลให้มีการยึดอำนาจบริหารสาธารณสุข ที่แอบแฝงมา

ในรูปการยกร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพ พ.ศ. ....

ซึ่งในบทบัญญัติของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ สามารถควบคุมนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินด้านสาธารณสุข (สุขภาพและการประกันสุขภาพ) ได้แทนที่รัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินทุกๆด้าน

โดยต่อไปรัฐบาลไม่ต้องคิดนโยบายด้านสุขภาพทั้งหมด เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่แทน หรือคิดนโยบายอะไรไปก็ไม่สามารถทำได้ ถ้าคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติไม่เห็นด้วย

ลองไปดูมาตรา 3 เขากำหนดไว้แล้วว่า นโยบายใดๆ ที่ไปขัดหรือแย้งกับนโยบายด้านสุขภาพที่กำหนดโดยกฎหมายด้านสุขภาพอื่นอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น (ล็อกสเปคไว้แล้ว ) และในมาตรา 6 กำหนดคณะกรรมการถึง 45 คน เป็นกรรมการตามตำแหน่งจากครม.ถึง 9 กระทรวงบวกกับนายกรัฐมนตรี และรองนายก นับว่าเป็นจำนวนถึง 1 ใน 4 ของครม.ทั้งคณะ ที่จะต้องมาประชุมถกนโยบายของสาธารณสุข

ในขณะที่มีผู้บริหารระดับสูงของสาธารณสุข เพียงรมต. ปลัด และอธิบดีอีกเพียง 2 คน และปลัดกระทรวงก็ถูกลดตำแหน่ง มาเป็นเพียงเลขานุการของคณะกรรมการเท่านั้น

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสุขภาพตามกฎหมายเฉพาะถึง 6 คน ได้แก่ สวรส. สสส. สปสช. สช. สพฉ. และสรพ. มาเต็มจากทุกองค์กร มาเป็นกรรมการ ซึ่งกรรมการจาก 2 ส่วนนี้ จะเป็นผู้ดำเนินงานวางนโยบายหลักในระยะเวลาถึง 6 เดือน (180 วัน) ก่อนที่จะสรรหากรรมการอื่นๆ มาให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ได้ วิธีการเขียนกฎหมาย ในทำนองว่า ตั้งกรรมการไว้มากๆ ตั้งรัฐมนตรีไว้มากๆ แต่รัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ก็มักส่งผู้แทนมาประชุม ซึ่งก็ปรากฎว่า ผู้แทนเหล่านี้ไม่สามารถออกความคิดเห็นอะไรได้ ยอมคล้อยตามไปกับมติของ คนที่ชักนำอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว (ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย)

และที่น่าสังเกตก็คือ มีกรรมการที่มาจากผู้บริหารกองทุน ไม่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางที่รับผิดชอบงบประมาณสวัสดิการรรักษาพยาบาลข้าราชการ จึงน่าเป็นห่วงว่า นโยบายด้านการประกันสุขภาพจะถูกรวบอำนาจในการบริหารจัดการ เรื่องการประกันสุขภาพภาครัฐไปทั้งหมดเป็นรูปแบบเดียวกัน ให้สิทธิเหมือนกัน ตามแนวคิดของกระทรวงสาธารณสุขยุคปัจจุบัน ซึ่งหลักการในการให้สิทธิในการประกันสุขภาพดังกล่าวนี้ ก็เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดโดยใช้เงินให้น้อย แต่จะหวังให้การดูแลสุขภาพดังว่านี้ มีคุณภาพมาตรฐานที่ดีได้อย่างไร? มีแต่คุณภาพต่ำสุดเท่ากับที่เงินน้อยที่สุดจะจัดการให้ได้ ใช่หรือไม่?

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ที่มาของสิทธิ์ในการได้รับการประกันสุขภาพภาครัฐของประชาชนแต่ละกลุ่มนั้นไม่เหมือนกัน กล่าวคือในระบบประกันสังคม ประชาชนผู้มีสิทธิต้องจ่ายเงินตนเองสมทบกับเงินของนายจ้าง และรัฐบาล ประชาชนผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการข้าราชการ ต้องจ่ายเงินสมทบจากการที่รัฐจ่ายค่าจ้างทำงานราคาต่ำกว่าเอกชน และยังต้องจ่ายสมทบเวลาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนประชาชนบัตรทองไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ในการได้รับสิทธิประกันสุขภาพ จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการได้รับสิทธิประกันสุขภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม ยิ่งถ้าจะมากำหนดให้ใช้สิทธิ์เหมือนๆ กัน ประชาชนในระบบประกันสุขภาพต่างๆ จึงควรนำไปคิดดูว่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นดังที่ว่าหรือไม่?

ฉะนั้น รูปแบบการคิดยกร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... นี้ ที่ต้องการรวมการบริหารในระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ซึ่งมีการเสนอรวมกองทุนมาแล้ว มีการยกร่างพ.ร.บ.รวม 3 กองทุนมาแล้ว ในสมัยรมว.รัชตะ รัชตะนาวิน แต่ไม่สำเร็จ จึงน่าเชื่อได้ว่า นี่เป็นความพยายามครั้งใหม่ ที่พยายามจะออกนโยบายรวบอำนาจในการบริหารกองทุนสุขภาพแห่งชาติ โดยการออกนโยบายสุขภาพแห่งชาติผ่านทางคณะกรรมการ

อยากจะฝากข้อสังเกตนี้ ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. โปรดทบทวนกฎหมายอันตรายฉบับนี้ อย่าให้ผ่านสนช.ออกมาใช้บังคับ เพราะนอกจากจะเป็นการทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมนโยบายด้านสาธารณสุขและการประกันสุขภาพของรัฐได้แล้ว ยังเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบริหารราชการแผ่นดิน โดยองค์กรกลุ่ม ที่มีปัญหาความไม่ชอบธรรมในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามที่เคยเกิดข้อครหาในการบริหารกองทุน สสส. และสปสช. จนหัวหน้าคสช.ได้สั่งให้แก้ไขกฎหมายสสส. และสปสช.มาแล้ว ซึ่งก็เนิ่นนานมาจนเกือบจะครบ 2 ปีแล้ว ยังมองไม่เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายก้าวหน้าไปถึงไปถึงขั้นตอนใดในปัจจุบัน

แต่กลับปรากฎว่า มีร่างกฎหมายคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่จะมายึดอำนาจบริหารระบบสุขภาพ(สาธารณสุขและการประกันสุขภาพ) ฉบับนี้ขึ้นมาแทนที่ และมีการกำหนดไม่ให้คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินี้ไปออกนโยบาย

การรุกคืบเพื่อมีอำนาจในการคุมนโยบายสุขภาพแห่งชาติของกลุ่มคนทั้งหลาย เป็นการยึดกุมความั่นคงของชาติในการดูแลคุ้มครองทรัพยากรมนุษย์ทั้งประเทศ โดยรัฐบาลและรัฐมนตรีที่ถูกกำหนดให้เป็นกรรมการต่างก็ไม่(น่าจะ)รู้เท่าทัน และกรรมการจากลุ่มอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มประชาชน(มักจะได้จากกลุ่ม NGO) เดิมๆ กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไม่ได้ถูกเลือกมาตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

แต่คงจะเห็นว่ามีคนบางกลุ่มเป็นกรรมการซ้ำซาก ซ้ำซ้อนกัน มาเป็นกรรมการตามร่างกม.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินี้

หัวหน้าคสช.น่าจะทบทวนการออกพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. .... นี้ก่อนที่จะผิดหลงไปมอบอำนาจในการกำหนดนโยบายสุขภาพ ให้คนกลุ่มเดิมๆ มาทำแทนรัฐบาล

 โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา 

ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กรรมาธิการการสาธารณสุข สนช.

* ชื่อเต็ม:  ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ....