P2P Lending และ Crowdfunding  เชื่อมการเงินฐานรากสู่ตลาดทุน

P2P Lending และ Crowdfunding  เชื่อมการเงินฐานรากสู่ตลาดทุน

ในบทความที่แล้ว “P2P Lending: นวัตกรรมทางการเงินสู่ชุมชน” ผู้เขียนได้กล่าวถึงการเงินระดับฐานรากในปัจจุบัน อันมีองค์ประกอบของ ธนาคาร เถ้าแก่

และกระทั่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือ สัจจะออมทรัพย์

แท้ที่จริงแล้ว การเงินระดับฐานราก หรือจะเรียกว่า การเงินระดับรากหญ้า ได้ถูกนิยามอย่างเป็นทางการว่า ระบบการเงินในระดับจุลภาค (Microfinance)” หมายถึงระบบการเงินที่ปล่อยสินเชื่อจำนวนไม่มาก (Microcredits) ให้กับผู้ที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ จึงต้องไปอาศัยการกู้นอกระบบ เช่นจากเถ้าแก่ และต้องเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารหลายเท่า รวมทั้งข้อผูกมัดที่คล้ายเกษตรพันธสัญญา

สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือ สัจจะออมทรัพย์ เป็นรูปแบบของ Microfinance ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้าน เพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่มีคุณสมบัติคล้ายสถาบันทางการเงินขนาดย่อม เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับชาวบ้านด้วยกันเอง ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้นอกระบบ แต่ที่เรียกแตกต่างระหว่าง สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ มีผลพวงมาจากรูปแบบของการจัดตั้งองค์กรตามกฎหมาย

การจัดตั้ง สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ ที่ประสบความสำเร็จ ในระดับชุมชน ยังคงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะการมี สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ ที่ีแข่งแกร่ง ย่อมต้องหมายถึง การมีระบบเศรษฐกิจระดับฐานรากที่แข่งแกร่งของชุมชน ที่ได้มาจาก ความแข่งแกร่งของผู้นำชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน การเคารพในกฎกติกาชุมชน และการมีเป้าหมายที่จะพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ผลกำไรจาก สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ ที่ประสบความสำเร็จ ยังเป็นเงินทุน ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาชุมชน โดยไม่ต้องอาศัยเงินสนับสนุนจากภายนอกได้อีก

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมี สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ ที่ประสบความสำเร็จนับพันแห่ง แต่ความสำเร็จของ สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ ในประเทศไทย ยังคงถูกจำกัดอยู่ในระดับชุมชนหรือระดับท้องถิ่น ในขณะที่ สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ ในต่างประเทศ แม้จะมีรากฐานมาจาก NGO ที่ไม่แสวงผลกำไร แต่กลับสามารถพัฒนาขยายผลจนกระทั่งระดมทุนจากตลาดทุนได้อย่างประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น จากตลาดหลักทรัพย์ จากการออกตราสารหนี้ ฯลฯ ซึ่งหมายความว่า สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ ในต่างประเทศ สามารถระดมทุนในระดับประเทศ หรือกระทั่งระดับโลก เพื่อนำไปขยายผลไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบที่มี ความยิ่งใหญ่ สลับซับซ้อน และ สมบูรณ์ ยิ่งขึ้นไปอีก

ในประเทศไทย การเชื่อมโยง การเงินระดับฐานราก เข้าสู่ตลาดทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ หรือตราสารหนี้ ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่นวัตกรรม Fintech เช่น P2P Lending และ Crowdfunding โดยทำผ่านโครงสร้างที่มีการจัดตั้งในชุมชนที่มีอยู่แล้ว เช่น สหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ อาจเป็นอีกทางเลือก ในการพัฒนาขยายผลการเงินระดับฐานราก

การจัดตั้งเป็น Microfinance ที่ประสบความสำเร็จ ในระดับชุมชน อาศัยการกู้หรือค้ำประกันแบบรวมกลุ่ม ซึ่งหมายความว่า ผู้อื่นในชุมชนต้องร่วมกันรับผิดชอบเงินกู้ของคนในกลุ่ม แม้ในบางครั้งจะไม่บังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องชำระหนี้แทนเมื่อมีการผิดชำระหนี้ แต่ผู้ค้ำประกันจะถูกตัดสิทธิ์ในการกู้เงินหรือค้ำประกันผู้อื่นในครั้งต่อไป จึงเป็นการอาศัยแรงกดดันจากคนในกลุ่ม ให้มีการชำระหนี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงสร้างของการจัดตั้งดังกล่าว จึงควรถู​กส่งเสริม ให้สามารถระดมทุนผ่าน Fintech เช่น P2P Lending และ Crowdfunding และอาจสัมฤทธิ์ผลได้ง่ายกว่า การที่ชาวบ้านในระดับฐานราก จะสามารถเข้ามาระดบทุนในตลาดทุนได้เองโดยลำพัง เพราะไม่เพียงแต่ลดความยากลำบากในการเข้าถึง Fintech แต่จะยังช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับนักลงทุนที่มาร่วมลงทุนสนับสนุนในกิจกรรมของชุมชน

ตอนนี้ประเทศไทย มีทั้งสหกรณ์ฯ และ สัจจะฯ ที่ประสบความสำเร็จนับพันแห่ง ที่ถูกพัฒนาโดย NGO ชั้นนำของประเทศ และก็ยังมีแรงผลักดันของภาคธุรกิจ ตลาดทุน และ สตาร์ทอัพ ที่จะร่วมพัฒนา Fintech แต่เราจะหาจุดเชื่อมโยง ที่ทำให้การเงินระดับฐานราก สามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดทุนผ่าน Fintech ในยุคปัจจุบันได้อย่างไร เพื่อเป็นหนทางหนึ่ง ในการช่วยเหลือชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ยังยื่น และยังเป็นอีกทางเลือก ในกับนักลงทุนในตลาดทุนของประเทศ