การคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยการเช่าซื้อรถยนต์ (1)

การคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยการเช่าซื้อรถยนต์ (1)

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับคำถามจากคนรู้จักว่า “จริงหรือที่กฎหมายเช่าซื้อรถยนต์ ฉบับใหม่ ไม่อนุญาตให้บริษัทลีสซิ่ง คิดดอกเบี้ยเช่าซื้อ

แบบอัตราคงที่(Flat Rate)แล้ว แต่ต้องคิดดอกเบี้ย แบบลดต้น ลดดอกเท่านั้น ทำไมยังเห็นบริษัทลีสซิ่งหลายๆ ที่ คิดอัตราดอกเบี้ย แบบคงที่อยู่เลย อย่างนี้ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่” ผู้เขียนเลยได้มีโอกาสได้ศึกษากฎหมายใหม่ที่ว่านี้ ซึ่งก็คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา เมื่ออ่านดูแล้วก็พบว่า มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการที่อยากจะหยิบยกมาเล่าให้ผู้อ่านทุกท่านฟัง

ประกาศฯ ฉบับที่กล่าวถึงนี้ เป็นประกาศที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญามีอำนาจกำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้ กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่จะต้องใช้สัญญาที่มีเงื่อนไขเป็นไปตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนด หากไม่เช่นนั้นแล้วจะถือว่าสัญญาที่แตกต่างไปจากเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด มีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมี และให้ถือว่าข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับข้อห้ามตามกฎหมายนั้นเสมือนหนึ่งไม่มีอยู่ในสัญญา

หลักการสำคัญของประกาศฉบับนี้อันดับแรกคือ ผลใช้บังคับจะใช้กับการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมนิติบุคคล ประการที่สองคือ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่เป็นสัญญาควบคุมจะต้องเป็นสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ดังนั้น การเช่าซื้อรถยนต์ที่นำไปใช้ในการประกอบธุรกิจจะไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับประกาศฯ ฉบับนี้ ประการถัดมาคือ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์จะต้องระบุสาระสำคัญและเงื่อนไขตามที่ประกาศฯ กำหนด กล่าวคือ รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่ซื้อราคาเงินสด จำนวนเงินจอง อัตราดอกเบี้ย วิธีคำนวณจำนวนเงินเช่าซื้อ ตารางแสดงภาระหนี้ตามแบบฟอร์มที่ประกาศกำหนด อัตราค่าธรรมเนียม เป็นต้น

นอกจากนี้ ประกาศฯ ฉบับนี้ยังคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น โดยการกำหนดให้กรณีที่ผู้เช่าซื้อต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดทีเดียวโดยไม่ผ่อนชำระ ผู้ให้เช่าซื้อต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ส่วนในกรณีที่มีการผิดนัด ก็ไม่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระเกินอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Rate) ตามสัญญาเช่าซื้อ บวก 3% ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 15% ต่อปี รวมถึงไม่ให้มีข้อสัญญาที่เป็นการผลักภาระให้ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากร หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกี่ยวกับรถยนต์ที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้เช่าซื้อจะเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อนั้น ประกาศฯ ฉบับดังกล่าวไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจคิดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อแบบคงที่ (Flat Rate) ตามที่หลายท่านเข้าใจแต่อย่างใด ผู้ประกอบการยังคงสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ได้อยู่ เพียงแต่ว่าในสัญญาเช่าซื้อจะต้องระบุรายละเอียดของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Rate) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนด้วย เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตนเองต้องจ่าย ตลอดระยะเวลาสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ที่ดูเหมือนจะเป็นอัตราเท่าเดิมตลอดอายุสัญญา ยกตัวอย่างเช่น เช่าซื้อรถยนต์ราคา 1 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ผ่อนรายเดือน 4 ปี ทั้งหมด 48 งวด เท่ากับต้องชำระดอกเบี้ยทั้งหมด 120,000 บาท เมื่อรวมกับเงินต้น 1 ล้านบาท จะต้องชำระค่างวดประมาณเดือนละ 23,333.33 บาท เท่ากันทุกเดือน จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ จะคิดที่เงินต้น 1 ล้านบาท แล้วนำมาเฉลี่ยเพื่อชำระตามจำนวนงวดที่ตกลงกันไว้ ทั้งที่จริงแล้วเมื่อผ่อนไปเงินต้นจะลดลงไปเรื่อยๆ หากนำอัตรา 3% ต่อปีไปคิดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือตามจริง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ 3% อีกต่อไป การกำหนดให้ผู้ประกอบการแสดงรายละเอียดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเข้าทำสัญญาด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบคอบมากขึ้น

นอกจากการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อรถยนต์เองแล้ว ประกาศฯ ฉบับนี้ยังให้ความคุ้มครองแก่ผู้ค้ำประกันของผู้ซื้อรถยนต์เพิ่มเติมด้วย รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้เขียนจะมาอธิบายในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

* บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่  *

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]