ริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำผิด

ริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำผิด

ตามประมวลกฎหมายอาญา กำหนดโทษทางอาญาไว้ดังนี้ คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน กฎหมายที่กำหนดความผิดทางอาญา

ในส่วนบทกำหนดโทษ จะกำหนดโทษประหารชีวิต จำคุก ปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษกักขังจะมีในกรณีที่ศาลเห็นสมควรลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกที่มีกำหนดไม่เกิน 3 เดือน หรือกรณีให้กักขังแทนค่าปรับ สำหรับการริบทรัพย์สิน ถ้ากระทำความผิดตามกฎหมายเฉพาะที่มีบทบัญญัติให้ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด การริบทรัพย์สินก็เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะนั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายเฉพาะที่ไม่มีบทบัญญัติให้ริบทรัพย์สิน การริบทรัพย์สินก็ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นทั่วไปตามมาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 โดยสรุปคือ บรรดาทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด กฎหมายให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษหรือไม่ สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาจากการกระทำความผิด กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจศาลของศาลที่จะให้จะริบก็ได้ จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ริบก็ได้

สำหรับรถยนต์ที่เป็นยานพาหนะที่ใช้ในการสัญจรหรือใช้ในการขนส่ง หากใช้ในการกระทำผิด ถ้าเป็นการทำผิดตามกฎหมายเฉพาะ เช่น กฎหมายศุลกากร ป่าไม้ ยาเสพติด การริบรถยนต์จะเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น การกระทำความผิดนอกจากนี้หรือไม่ เข้าข่ายที่จะริบตามกฎหมายเฉพาะได้ การริบรถยนต์จะเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลอาจสั่งริบก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ซึ่งพิจารณาพฤติการณ์ในการทำความผิดประกอบด้วย

ที่ผ่านมา มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้ริบและไม่ริบรถยนต์ของกลาง ที่อาจถือเป็นแนวบรรทัดฐานได้ คือ

* คดีที่จำเลยมีผงชูรสที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ ลักลอบศุลกากรและหลบหนีภาษีศุลกากร ไว้ในครอบครองและใช้รถยนต์ของจำเลยขนย้ายผงชูรสดังกล่าวไปซ่อนเร้นหรือจำหน่ายให้ผู้อื่น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่ารถยนต์ของกลางในคดีนี้จะริบตามมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ศุลกากร พ.ศ.2469ไม่ได้ แต่ริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่20/2510)

* คดีที่จำเลยมีไม้หวงห้าม ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ไว้ในครอบครองอันยังมิได้แปรรูป ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตราของรัฐบาลขายประทับไว้ และจำเลยได้ใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำผิดขนย้ายไม้หวงห้ามดังกล่าว เมื่อจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมสั่งริบรถยนต์ของกลางได้โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่า รถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยหรือเจ้าของได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด เพราะรถยนต์ของกลางเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำผิดอันเข้าข่ายต้องริบ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่894/2513)

คดีใช้รถยนต์ขนถ่านที่ผู้อื่นลักลอบเผา ไม่ได้เป็นผู้ลักลอบเผาเอง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่ควรริบรถยนต์ของกลาง (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2757/2517)

คดีที่จำเลยขนย้ายข้าว เกินจำนวนที่คณะกรรมการฯ กำหนดจากสถานที่อื่นโดยรถยนต์ ดังนี้จะริบรถยนต์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ไม่ได้เพราะไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง และตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ.2489 มาตรา 21 บัญญัติให้ริบเฉพาะข้าวที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดกับสิ่งบรรจุเท่านั้น ไม่ได้ให้ริบยานพาหนะที่ใช้ขนย้ายด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่3215/2525)

* คดีที่จำเลยกระทำความผิดฐานมีไม้หวงห้ามเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบ ศาลใช้ดุลพินิจไม่ริบรถยนต์ของกลางไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 204/2529)

คดีที่จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกทรายน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนด ศาลอุทธรณ์เห็นว่าริบรถยนต์ได้ แต่ยังไม่สมควรริบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1)โจทก์ขอให้สั่งริบได้ อยู่ในดุลพินิจของศาลจะริบหรือไม่ก็ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่890/2524)

* คดีที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกของกลาง มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่ทางราชการกำหนดถึง 5.800 กิโลกรัม มาเดินบนทางหลวง ทำความเสียหายแก่ทางสัญจรของประชาชน สิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมแซม เป็นการทำลายเศรษฐกิจของชาติ และอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่น ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำเลย และไม่มีเหตุที่จะไม่ริบรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1327/2533)

คำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้จะเป็นบรรทัดฐานและเป็นอุทาหรณ์แก่เจ้าของรถยนต์ หรือผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างขับรถยนต์ โดยเฉพาะรถตู้โดยสารที่ขับรถเกเร มีพฤติกรรมข่มขู่ผู้ขับรถคนอื่น ว่ารถยนต์ของท่านอาจถูกศาลสั่งริบได้ คือคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่7741/2560 คดีนี้มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ จำเลยขับรถตู้ไปตามถนนสาธารณะเมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยขับรถประมาทหรือน่าหวาดเสียว ในลักษณะกีดขวางการจราจรและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ด้วยการขับรถแซงรถอื่นทางด้านซ้ายแล้วประกบรถอื่นที่แล่นอยู่บนถนนดังกล่าวทางด้านซ้ายในลักษณะเบียดประชิด เมื่อผ่านพ้นไปได้จำเลยห้ามล้อทันทีในลักษณะประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน 

จากนั้น จำเลยเปลี่ยนช่องทางเดินรถ เดินรถเข้าไปในช่องทางเดินรถอื่น ซึ่งขับอยู่ในระยะกระชั้นชิดและห้ามล้อในทันทีในลักษณะกีดขวางการจราจร จนรถยนต์ของผู้เสียหายที่แล่นอยู่ในช่องเดินรถเดียวกันด้านหลังรถของจำเลย ไม่สามารถแล่นตรงไปข้างหน้าตามปกติได้ จำเลยกระทำดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น แล้วลงมาใช้สิ่งเทียมอาวุธปืนข่มขู่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่สร้างความวุ่นวายและตระหนกตกใจขึ้นในที่สาธารณะและอาจทำให้สุจริตชนได้รับอันตรายจากการระทำของจำเลยได้ 

รถตู้ของกลาง ที่จำเลยใช้เป็นยานพาหนะจึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ประกอบกับการกระทำของจำเลยนับว่า เป็นการกระทำที่ไม่นำพาต่อกฎหมายบ้านเมืองและก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุสมควรให้ริบรถตู้ของกลาง