จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางต้องปฏิรูปการศึกษาเด็กเล็ก

จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางต้องปฏิรูปการศึกษาเด็กเล็ก

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมีปัญหาหนักหน่วงมากในเชิงโครงสร้าง ปัญหาเหล่านี้มีการพูดถึงกันมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดความสามารถในการแข่งขัน

อันเนื่องมาจากการมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มากเกินไป หรือล้าสมัย ขาดการวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชน ปัญหาการเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสินค้าและบริการ กระบวนการผลิต วิธีการจำหน่ายและให้บริการ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการกลุ่มใหม่ๆ ตลอดจนความต้องการของผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Automation, Digitization และ Artificial Intelligence อาจทำให้การตกงานเป็นปัญหาใหญ่ นอกจากนี้การติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางยังทำให้ขาดทรัพยากรในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวข้างต้น

แต่ดิฉันอยากจะพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่การปฏิรูปเศรษฐกิจ เพราะปัญหาโครงสร้างต่างๆ หลายประเด็นเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการระบบการศึกษาที่ล้าสมัยในปัจจุบัน หากเราสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็จะลดความเสี่ยงของปัญหาการตกงานในภาคนอกเกษตร ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในภาคนอกเกษตร และเกษตร ขณะเดียวกัน ประสิทธิภาพในภาคเกษตรที่ดีขึ้นก็จะช่วยลดปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของภาคเกษตรด้วย การศึกษาไม่เพียงแต่จะเพิ่มคุณภาพของแรงงานทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังเพิ่มคุณภาพของประชากรให้เข้าใจทั้งสิทธิและหน้าที่และวิเคราะห์ได้ว่าควรมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในด้านสังคมให้ดีขึ้นอย่างไรด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่เราจะก้าวจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีรายได้ที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีมาตรฐานทางสังคม และความคาดหวังต่อการปฏิบัติตัวของประชาชนในสังคมสูงขึ้นด้วย

เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา หลายคนจะเรียกร้องให้เพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM-Science, Technology, Engineering, Mathematics) เพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 และเรียกร้องให้หันมาสนับสนุนการเรียนในสายวิชาชีพมากขึ้นเป็นต้น แต่การเปลี่ยนแปลงในโลกขณะนี้เกิดขึ้นเร็วมากและยังไม่มีใครคาดเดาได้อย่างมั่นใจว่าอะไรใหม่ อะไรจะตามมาอีก และอะไรจะล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการสร้างทักษะความเชี่ยวชาญในวิทยาการด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง นักศึกษาและประชาชนทั่วไปยังจำเป็นต้องมีความสามารถที่จะเรียนรู้ของใหม่เพื่อสร้างความรอบรู้ และทักษะที่จะติดตามและปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในอนาคตได้ นั่นคือต้องรู้ลึกและรู้กว้างด้วย

การสนับสนุนความเข้มข้นด้านวิทยาศาสตร์และสายวิชาชีพเป็น เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากการขาดแรงงานที่มีทักษะเหล่านี้ แต่การปฏิรูปการศึกษาที่ยั่งยืนจะต้องพุ่งเป้าไปที่ระดับเด็กอนุบาลและประถมศึกษา ซึ่งดิฉันคิดว่าจำเป็นต้องทำ 3 เรื่องคือ

1.สอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ตามเหตุและผล และเรียนรู้วิธีที่จะหาคำตอบ ครูต้องทำหน้าที่ในการกระตุ้นชักนำให้เด็กรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ไม่ใช่การสอนให้จำตามที่สอน ยกตัวอย่างเช่น การสอนวิชาการอ่านและเขียนไม่ใช่เพื่อฝึกให้เด็กอ่านและเขียนได้ถูกต้องหรือรู้แม้แต่คำศัพท์ยากๆ แต่เพื่อให้เกิดทักษะที่จะนำการอ่านออกเขียนได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป หลักสูตรสำหรับเด็กอนุบาลและประถมในต่างประเทศนั้น เมื่อเด็กเริ่มอ่านออกเขียนได้ก็จะให้เด็กอ่านหนังสือทุกวัน สำหรับเด็กเล็กอาจจะเป็นหนังสือภาพก็ได้ ให้เด็กมีโอกาสอ่านหนังสือหลากแนว หลายศาสตร์ เกิดจินตนาการ ลำดับถัดมาก็จะเริ่มให้เด็กเขียนสรุปใจความโดยไม่เน้นการใช้ตัวสะกดให้ถูกต้อง ขอให้สามารถสื่อความได้ตามที่ตนคิดเท่านั้น พอขึ้นชั้นประถมก็เริ่มให้วิเคราะห์วิจารณ์ว่าเรื่องที่อ่านนั้นๆ เป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ เพราะอะไร โดยครูจะทยอยชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างของการเขียนหลากหลายรูปแบบ การเขียนให้เข้าใจง่ายและดึงดูดความสนใจของผู้อ่านเป็นต้น แต่ทักษะจริงๆ ของเด็กเกิดจากการอ่านเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กจับประเด็นเก่ง สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ และจัดความคิดของตนอย่างเป็นระบบ นั่นคือ "การอ่านและเขียน" เป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนาความคิดและหาความรู้ต่อไป แต่ระบบของเรากลับกลายเป็นว่า การอ่านและเขียนเป็นเป้าหมายสุดท้ายโดยตัวมันเอง เด็กที่อ่านฉะฉาน รู้ศัพท์ยากๆ ก็จะถือว่าเก่ง ธนาคารโลกเคยมีการศึกษาเมื่อปี 2015 ชี้ว่า ประมาณเศษ 1/3 ของเด็กไทย อายุ 15 ปีถือว่า Functionally illiterate นั่นคือแม้จะอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ ซึ่งดิฉันวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเด็กไทยขาดประสบการณ์ในการอ่านเขียนอย่างหลายหลาย ทำให้ไม่มีพื้นฐานที่จะอ่านและเขียน แม้แต่เรื่องไม่ซับซ้อนทางเทคนิค แต่ขาดความคุ้นเคย

ไม่เฉพาะแต่การสอนเกี่ยวกับการอ่านการเขียนเท่านั้น แต่วิชาอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่สอนแก่เด็กเล็กก็มีแนวคิดเช่นเดียวกันคือ ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาความคิดและหาความรู้ต่อไป

2.สอนให้เด็กมีจริยธรรม มีวินัยละอายที่จะเอาเปรียบคนอื่นขณะเดียวกันก็ปกป้องสิทธิของตนไม่ให้คนอื่นเอาเปรียบ เช่นไม่ใช้สิทธิพิเศษเหนือคนอื่น ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้คนอื่นมีสิทธิพิเศษเหนือตน และละอายที่จะทำผิดทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้คน ที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในอินเดีย ได้ยกเลิกการมีคนเฝ้าร้านขายอุปกรณ์การเรียนของโรงเรียน โดยใช้ระบบเชื่อใจกัน ให้เด็กใส่เงินลงในกล่องเองตามราคาที่ติดไว้ ช่วงแรกๆ ก็มีการโกงโดยไม่ใส่เงินบ้าง ระหว่างนั้นครูก็พูดชื่นชมให้กำลังใจว่าเด็กๆ มีความซื่อสัตย์สุจริตมากขึ้นตามลำดับ หลังจากนั้นประมาณ1 เดือน ปรากฏว่าไม่มีการโกงเกิดขึ้นอีกเลย แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความมีศักดิ์ศรีของตัวเองและไม่กระทำผิดทั้งที่ไม่มีคนกำกับดูแล นี่คือพื้นฐานของการสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ในกติกาและกฏหมาย ด้วยศักดิ์ศรีและวินัยของตัวเอง ไม่ใช่คอยจะฝ่าฝืนเอาประโยชน์เมื่อโอกาสอำนวย หรือเมื่อคิดว่าจะไม่ถูกจับได้หรือถูกลงโทษ 

3.สอนให้เด็กรู้ภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง"ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน" เป็น 2 ภาษาที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด ทั้งในโลกอนาล็อกและดิจิตอล ดังนั้น จึงไม่เพียงแต่จะเป็นทักษะที่สำคัญต่อไปในการสื่อสารกับประชากรกลุ่มใหญ่ของโลก แต่ยังเป็นเครื่องมือในการติดตามหาความรู้ใหม่ๆ จากโลกของอินเตอร์เน็ตซึ่งมีข้อมูลและความรู้มหาศาลใน 2 ภาษานี้

การปฏิรูปการศึกษาในระดับอนุบาลและประถม แม้จะต้องใช้เวลานานกว่าเด็กจะโตขึ้นมาและเห็นการเปลี่ยนแปลงในคุณภาพของประชากร แต่ก็ไม่มีทางลัดอื่นที่จะสร้างความยั่งยืนให้อนุชนของเราเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง มีจินตนาการ สามารถคิดนอกกรอบใฝ่รู้ มีทักษะที่จะรับมือกับโลกใหม่ได้อย่างแท้จริง และเมื่อนั้นประเทศไทยจึงจะสามารถก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปได้

โดย... 

ดร.ธาริษา วัฒนเกส

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย