ตุรกีกับแผนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ตุรกีกับแผนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนเรื่องตุรกี ก็มีคำถามจากผู้อ่านว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกีจะกระทบเศรษฐกิจโลกและการทำนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)

หรือไม่จากนี้ไป โดยเฉพาะแผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย วันนี้ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องนี้ เพราะมีหลายอย่างที่คล้ายกับกรณีวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 1997

ธนาคารกลางสหรัฐ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการลดทอนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่ใช้มาเกือบ 10 ปี เพื่อฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก จากความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 ที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเกือบเป็นศูนย์ และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจโลกกว่า 4.8 ล้านล้านดอลล่าร์ โดยเข้าซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ต่างๆ 

แต่ตั้งแต่ปลายปี 2015 ธนาคารกลางสหรัฐได้เริ่มลดทอนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย หลังเศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัว โดยขายสินทรัพย์ที่ซื้อมาเพื่อดูดสภาพคล่องเงินดอลล่าร์ออกจากระบบ เฉลี่ยประมาณ 600 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 7 ครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2015 เฉพาะปีนี้ ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน มี.ค.และมิ.ย. แต่ไม่ได้ปรับขึ้นในการประชุมเดือน ส.ค. ตลาดการเงินประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ จากที่เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่อง

ผลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ตั้งแต่ปลายปี 2015 ส่งผลกระทบกว้างขวางต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก็คือสัญญาณของการเปลี่ยนวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกจากขาลงเป็นขาขึ้น ทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ค่าเงินของประเทศที่เงินทุนไหลออกอ่อนค่าลง บางประเทศต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศเพื่อดูแลการอ่อนตัวของค่าเงิน หลายประเทศเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง ที่สำคัญ สำหรับประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศมาก การอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่นและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยได้ทำให้ภาระในการชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวลงและเกิดการผิดนัดชำระหนี้อย่างกว้างขวาง

ตุรกีขณะนี้กำลังเกิดแรงกดดันดังกล่าว ประเทศได้ก่อหนี้มากในช่วงที่ผ่านมา คือ ภาคเอกชนตุรกีมีหนี้กว่า 300 พันล้านดอลล่าร์ เป็นหนี้ต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติ การก่อหนี้ทำให้เศรษฐกิจตุรกีใช้จ่ายอย่างเกินตัว เกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอัตราเงินเฟ้อที่สูง ปัญหาดังกล่าวได้ทำให้ความเข้มแข็งด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจของตุรกีอ่อนแอลง ค่าเงินอ่อนลง และในที่สุดก็ประทุขึ้นเป็นวิกฤติค่าเงิน เมื่อตุรกีเกิดข้อพิพาทกับสหรัฐ และสหรัฐประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากตุรกี ทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในความสามารถในการชำระหนี้ของตุรกี นำไปสู่วิกฤติค่าเงิน ที่เงิน Lira ของตุรกีอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วกว่า 45% ขณะนี้ 

ภาวะดังกล่าวได้สร้างผลกระทบข้างเคียงต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และค่าเงินของประเทศเหล่านี้ก็อ่อนค่าลงตาม เช่น รัสเซีย อาร์เจนตินา บราซิล อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ จนมีการเปรียบเทียบว่าเหตุการณ์ในตุรกีเหมือนกรณีวิกฤติเอเชียปี 1997 ที่การลดค่าเงินได้ส่งผลกระทบไปทั่ว จนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐในตอนนั้นได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปี 1998 ถึง 2 ครั้ง เพื่อป้องกันผลกระทบของวิกฤติที่อาจมีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ 

จากสิ่งที่เกิดขึ้น คำถามขณะนี้ก็คือ แผนของธนาคารกลางสหรัฐที่อยู่ในช่วงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกกระทบหรือไม่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตุรกี โดยเฉพาะจากประเด็นความเสี่ยงที่กรณีตุรกีอาจมีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์ล่าสุดที่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจยุโรปกลับมาอ่อนแอลง เป็นภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ธนาคารกลางสหรัฐเคยประเมินไว้คือ เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น เทียบกับที่ประเมินไว้ช่วงครึ่งแรกของปี 

ดังนั้น ประเด็นขณะนี้ก็คือ ถ้าธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.และธ.ค.ตามที่ตลาดคาด การปรับขึ้นดังกล่าวอาจซ้ำเติมให้ปัญหาในตุรกีและในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเผชิญกับการไหลออกของเงินทุน และความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจจะชะลอตัว สร้างความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นวิกฤติที่สามารถแพร่กระจายในวงกว้าง แต่ถ้าธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างที่มีแผนไว้และเลือกที่จะรอเพื่อติดตามสถานการณ์ไปก่อน การไม่ทำอะไรก็จะไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐขณะนี้ที่มีการขยายตัวอย่างเข้มแข็งคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตปีนี้ประมาณ 4.1% อัตราการว่างงานตอนนี้ต่ำที่ 3.9% และแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศเร่งสูงขึ้น อีกความเป็นไปได้คือ เฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงครึ่งปีหลัง เหมือนที่ได้เคยทำตอนเกิดวิกฤตbเศรษฐกิจเอเชียปี 1997-8 เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ในกรณีที่สถานการณ์ในตุรกีรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบกว้างขวางต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยก็จะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐที่กำลังขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้น นี่คือความเป็นไปได้ 3 ทางของนโยบายการเงินของสหรัฐจากนี้ไป คือ ขึ้น ตรึง หรือลดอัตราดอกเบี้ย 

ตลาดการเงินขณะนี้กำลังรอดูสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐว่า จะดำเนินการอย่างไรในแง่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องที่นักลงทุนกำลังติดตามใกล้ชิด ในประเด็นนี้ ข้อคิดที่อยากจะฝากไว้ก็คือ โดยทั่วไป การดำเนินนโยบายการเงินจะให้ความสำคัญกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจัยหลักที่จะใช้พิจารณากำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศ ก็คือ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มเศรษฐกิจ และในกรณีสหรัฐรวมถึงอัตราการว่างงาน สำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตุรกีและประเทศตลาดเกิดใหม่ขณะนี้ ธนาคารกลางสหรัฐคงจะนำข้อมูลล่าสุดในตุรกีและประเทศตลาดเกิดใหม่มาพิจารณาประกอบในการกำหนดนโยบายการเงิน แต่คงจำกัดอยู่เฉพาะผลที่จะมีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐจากความเสี่ยงดังกล่าว 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในเดือน ก.ย.นี้ จะออกมาอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่ง โดยเฉพาะเหตุผลที่ธนาคารกลางสหรัฐจะใช้อธิบายการตัดสินใจที่ออกมา