ความไว้วางใจ เครื่องมือตลาดยั่งยืน

ความไว้วางใจ เครื่องมือตลาดยั่งยืน

จากเหตุการณ์กรณีทีมหมูป่าติดถ้ำที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตจากแวดวงวิชาการ เทคโนโลยี ธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ

ในมุมมองที่แตกต่างอย่างกว้างขวางและหลากหลาย ไม่ว่าข้อสังเกตที่ได้จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่อัศจรรย์ใจ คือ ความช่วยเหลือที่หลั่งไหลมาจากทั่วทิศทั้งในและต่างประเทศ ยังไม่รวมถึงแรงใจจากคนที่ติดตามและนำเสนอข่าวนี้ไปทั่วโลก ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเป็นที่ตื่นตาและตรึงความสนใจของคนทั่วโลกได้ขนาดนั้น?

หากลองย้อนคิดไปว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอื่นๆ ทีมหมูป่าจะเป็นอย่างไร? คำถามแรกที่คนส่วนใหญ่จะถาม คือ “เราจะช่วยเหลือเขากันอย่างไร?” แต่ไม่ใช่ “เราจะช่วยเขาหรือไม่?” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบสำหรับคำถามสองข้อข้างต้น คือ พลังของความเป็นชุมชน (Power of Communities) แม้ว่ามนุษย์จะพัฒนาสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้เราแข่งขันและแยกตัวออกจากกัน แต่เรายังกระหายที่จะอยู่ร่วมกันและทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกันอยู่ 

ในปัจจุบันมีการนำพลังของความเป็นชุมชนไปประยุกต์ใช้และสะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้วยการดำเนินธุรกิจบนเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล ในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ความเห็นของลูกค้า การสร้างคอนเทนท์จากลูกค้าเอง (User-generated Content) ในการพูดถึงสินค้าและบริการจากประสบการณ์ของเขาเองซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์ทางตรง และการสร้างช่องทางและโอกาสให้แลกเปลี่ยนคุณค่าระหว่างกันและกัน ทั้งระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

พลังของชุมชนนั้นเกิดขึ้นจากการมีเป้าหมายร่วมกันและความไว้วางใจ (Trust) ซึ่งกันและกัน และความไว้วางใจนั้นเกิดจากปัจจัย 2 ประการ ปัจจัยแรก คือ ความรู้สึกที่ดีและความเมตตาที่มีให้แก่กัน (Humane) อันเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกและความสัมพันธ์ ปัจจัยที่สอง คือ ความสามารถในการทำตามคำสัญญา(Competence)เป็นส่วนตอกย้ำความสัมพันธ์ให้แน่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรับผิดชอบต่อสัญญาหรือหลักการที่ได้สัญญาไว้ อย่างเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่เริ่มต้น 

ความไว้วางใจในกันและกันนี้เองเป็นจุดผลักดันให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้แม้จะไม่ได้รู้จักกันโดยตรง และความเชื่อใจที่ผู้ผลิตสร้างผ่านความรับผิดชอบต่อสัญญาและหลักการที่ได้สัญญาไว้จะเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสินค้าต่อหน่วยสูงและมีภาระผูกพันที่ยาวนาน การสร้างความไว้วางใจจากความรับผิดชอบ สามารถเริ่มได้ง่ายๆ จากการคำนึงถึงความต้องการและความรู้สึกของผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการ การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ปิดบังซ่อนเร้นไม่โจมตีคู่แข่งหรือฉวยประโยชน์จากคู่แข่ง การดูแลคำสัญญาด้วยการส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีและมีคุณภาพ รวมถึงคำสัญญาในการรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการดำเนินการในกระบวนการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 

หากในโลกนี้มี Green Building (อาคารเขียว) ที่คำนึงถึงผลกระทบของสังคมและสิ่งแวดล้อม การสร้างความเชื่อใจผ่านความรับผิดชอบต่อสัญญาและหลักการในการดำเนินธุรกิจ ทั้งเชิงการสื่อสารและการส่งมอบสินค้าและบริการดังแนวทางข้างต้นนั้น ควรเรียกว่า Green Marketing (การตลาดสีเขียว) ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญในแพลทฟอร์มการพัฒนาโครงการอสังหาฯอย่างยั่งยืน 

แพลทฟอร์มการพัฒนาโครงการอสังหาฯ เพื่อความยั่งยืนเป็นอย่างไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง มาช่วยกันคิดและติดตามกันในครั้งต่อไปครับ