“Healthcare 4.0” เคล็ดลับที่ไม่ลับ”

“Healthcare 4.0” เคล็ดลับที่ไม่ลับ”

ในยุคปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่โมเดล“ประเทศไทย4.0 (Thailand 4.0)” จะพบว่า หนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness and Biomedical) 

ดังนั้น คำว่า “Healthcare 4.0” จึงเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ต้องตอบสนองต่อความรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้นต่อผู้รับบริการ โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต่างปรับตัวขนานใหญ่ ผู้บริหารโรงพยาบาลต่างต้องงัดกลยุทธ์ต่างๆ เข้ามาใช้ในการบริหารโรงพยาบาลเพื่อตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเข้าสู่ยุค “Healthcare 4.0” อย่างไม่ตกขอบ

การบริหารโรงพยาบาลในยุค “Healthcare 4.0” จึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เด่นๆ ดังนี้

  • การใช้ทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์คลุกคลีคร่ำหวอดกับวงการแพทย์มาเป็นระยะเวลานาน ผนวกกับการมีทีมแพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้ผู้รับบริการหรือคนไข้ รวมไปถึงญาติของคนไข้ เกิดความมั่นใจ และพร้อมเข้ามารับบริการในโรงพยาบาลนั้นๆ
  • เมื่อทีมแพทย์และพยาบาลมีความพร้อมในการให้บริการ แน่นอนว่าสิ่งที่จะต้องตามมาคือการมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน จะพบว่าโรงพยาบาลหลายๆ แห่งทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้กับเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ อย่างไม่ลังเล ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ เที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น ทำให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น รักษาได้ถูกจุดนั่นเอง
  • การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารงานโรงพยาบาลทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ผู้บริหารโรงพยาบาลยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีเป็นอย่างมากเพราะเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งต่อคุณภาพชีวิตของผู้ให้บริการคือทีมแพทย์และพยาบาล และผู้รับบริการคือคนไข้และญาติ เทคโนโลยีเด่นๆ

สำหรับโรงพยาบาล เช่น HIS (Hospital Information System), NHM (Network Hospital Management) ประกอบกับเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาแรง ไม่ว่าจะเป็น CloudComputing, Big Data and Health Analytics, Internet of Things, Artificial Intelligencesและ Robotics และการพัฒนา Mobile Application ต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีการพัฒนาต่อยอดให้รองรับกับการบริหารจัดการงานโรงพยาบาล รวมถึงรูปแบบการรับบริการทางการแพทย์ การเข้าถึงข้อมูลการเข้ารับการรักษาจากทุกที่ทุกเวลา ช่วยสร้างให้เกิดการรักษาที่แม่นยำ ตรงต่อตัวบุคคล และรวดเร็วทันต่อเวลา

  • สำหรับการบริหารโรงพยาบาลในรูปแบบของเครือ การนำรูปแบบการบริหารแบบ Share Services มาใช้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้การบริหารแบบ share services จะใช้ได้ผลดีกับงาน back office ต่างๆ เช่น งานบัญชี/การเงิน งานบริหารทรัพยากรบุคคล งานจัดซื้อ/จัดจ้าง และงานด้านไอทีต่างๆ โดยสามารถควบคุมงานเหล่านี้จากส่วนกลาง หรือใช้ทรัพยากรจากส่วนกลางเพื่อดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้เพื่อโรงพยาบาลในเครือทั้งหมดได้ ผลที่ได้รับคือต้นทุนบริหารงานที่ต่ำลง แต่เพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น

กลยุทธ์ต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นมีความสำคัญในทุกข้อ แต่ยังมีอีกข้อหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ “การบริการ ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นที่จะรักษาคนไข้ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งนี้สำคัญยิ่งยวดที่ผู้บริหารโรงพยาบาลจะต้องสร้างให้เกิดการตระหนัก การรับรู้ และการปฏิบัติจริงจากผู้ให้บริการทุกคนในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกส่วน ที่มุ่งให้บริการโดยการรักษาคนไข้ให้หายป่วย กลับบ้านได้ด้วยรอยยิ้มและสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งถ้าทำได้เช่นนี้ บอกได้เลยว่าการบริหารโรงพยาบาลประสบความสำเร็จไปมากกว่าครึ่ง และเส้นชัยเห็นอยู่ใกล้แค่เอื้อมนั่นเอง

ตอนต่อไปเราจะมาเจาะลึกในแต่ละกลยุทธ์กันครับ