ยุโรป จะเป็น ‘หลุมหลบภัย’ จาก Trade War

ยุโรป จะเป็น ‘หลุมหลบภัย’ จาก Trade War

ในงานสัมมนา Jackson Hole ที่จัดขึ้นในวันนี้ ของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด สาขาแคนซัส ตัวแทนที่กล่าว สุนทรพจน์จากฟากอเมริกา ถือว่า

ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ คือผู้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน แต่ทางฟากยุโรป ถือว่ามีเซอร์ไพร์สนิดๆ โดยผู้ที่ทำหน้าที่กล่าวสุนทรพจน์ในช่วงอาหารกลางวัน ไม่ใช่นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป ทว่าคือ นายเจนส์ วีดส์แมน ประธานธนาคารกลางเยอรมัน ซึ่งจะว่าไปเหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณในเชิงสัญลักษณ์ว่า ประธานธนาคารกลางยุโรปท่านถัดไปในปีหน้ามีโอกาสสูงว่าจะเป็นนายวีดส์แมน ที่จะมาแทนนายดรากิที่ตำแหน่งของเขาจะหมดวาระลงในเดือนกันยายนปีหน้า

โดยหากพิจารณาถึงสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักๆ ในโลกนั้น ต่างก็เผชิญอุปสรรคที่เหมือนๆ กันแทบทุกแห่ง ได้แก่ การที่ค่าจ้างในตลาดแรงงานเกือบทั่วโลกไม่สามารถขยับขึ้นได้แบบมีนัยยะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นที่ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐเองก็ตาม ก็ยังไม่ได้ขยับสูงขึ้นมาอย่างที่ควรจะเป็น หากพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของชื่องานสัมมนา Jackson Hole ปี 2018 ที่ว่า “Changing Market Structure and Implications for Monetary Policy” โดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก ต่างมานำเสนอว่า ด้วยเหตุผลใดที่ค่าจ้างยังไม่ขยับขึ้นสักที แม้เศรษฐกิจจะโตดีพอควร และควรจะใช้นโยบายการเงินแบบไหนที่จะแก้ปัญหานี้

อย่างไรก็ดี ในจุดนี้ มีภูมิภาคหนึ่งเดียวที่เพิ่งได้รับข่าวดีที่ค่าจ้างในตลาดแรงงานว่าเริ่มจะขึ้นมาแบบเป็นระบบ หลังจากที่อัตราค่าจ้างซบเซามากว่า 7 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ ภูมิภาคยุโรป จึงทำให้ นายดรากิ สามารถที่จะเล่นเกมของนโยบายการเงินได้ทั้ง2 หน้าคือ ทั้งคงนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายเข้าไว้เหมือนในตอนนี้ เพื่อที่จะรอหวยของ Trade War ว่าจะออกมาหน้าไหน หรือจะเล่นแบบขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อที่จะสกัดเงินเฟ้อที่คาดว่าจะขึ้นมาในอนาคต ตามค่าจ้างที่ค่อยๆ ขยับขึ้นอย่างเป็นระบบในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ก็ดูแล้วมีเหตุผลเช่นกัน

โดยหาก Trade War ในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ เกิดรุนแรงแบบเผ็ดร้อน จากการวิเคราะห์ของ BEA ดังรูปที่ 1 คาดว่ากระทบราว 1.5-3% ของ GDP ทว่าหากรวมผลกระทบจากการตอบโต้จากจีนด้วย จะกระทบสูงสุดถึง 4% ดังรูปที่ 2 ซึ่งถือว่ายังเบากว่าวิกฤตซับไพร์มที่กระทบต่อสหรัฐกว่า 5% ของจีดีพี แน่นอนว่า นายดรากิจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปจนถึงกลางปีหน้า แม้น่าจะประกาศหยุดการทำ QE ไปก่อน รอให้คลื่นลมจาก Trade War สงบเสียก่อน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ถือว่าเศรษฐกิจยุโรปถือว่าได้เปรียบกว่าภูมิภาคหลักอื่น เนื่องจากนโยบายการเงินยังอยู่ในโหมดผ่อนคลายแม้เศรษฐกิจตนเองจะนิ่งแล้ว ผิดกับของสหรัฐที่เฟดออกตัวขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วจะยูเทิร์นกระตุ้นเศรษฐกิจก็คงจะไม่ได้ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทว่าจะผ่อนคลายเพิ่มอีกก็คงจะไม่ได้เพราะมาจนสุดทางเสียแล้ว

ในทางกลับกัน หาก Trade War จบเร็ว นายดรากิอาจเลือกที่จะขึ้นดอกเบี้ยในต้นปีหน้า ก็ยังถือว่าไม่ช้าเกินไปที่จะไปส่งผลต่อการเก็งกำไรต่อตลาดหุ้นยุโรปแต่อย่างใด

โดยไม่ว่าไพ่จะออกมาหน้าไหน จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นยุโรปก็ถือว่ารอดจากผลกระทบของ Trade War รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยแบบอ่อนๆ ในปีหน้า ผมจึงมองว่า ในปีหน้าด้วยความได้เปรียบเชิงนโยบาย น่าจะส่งผลให้ค่าเงินยุโรปในปีหน้าแข็งค่ากว่าในตอนนี้

นอกจากนี้ ในปีหน้า ผมมองว่าตลาดหุ้นยุโรปในส่วนของภูมิภาคยุโรปใต้หรือ Periphery Market มีความน่าสนใจกว่าตลาดหุ้นยุโรปในกลุ่ม Core หรือ เยอรมันและฝรั่งเศส เนื่องจากผมประเมินว่าเกณฑ์ที่เรียกกันว่า Capital Key Rule กำลังจะถูกปรับโดยธนาคารกลางยุโรปให้มีการซื้อพันธบัตรในประเทศเล็กหรือ Periphery มากขึ้นตามสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้นยุโรปในส่วนของยุโรปใต้หรือ Periphery Market มากกว่า

โดยสรุป ผมมองว่า ยุโรป น่าจะเป็น หลุมหลบภัยที่ดี จากผลของ Trade War ในรอบนี้ครับ